สมบัติ ภู่กาญจน์
ข้อเขียนชิ้นนี้ ปรากฏในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2515 ด้วยข้อความ ดังนี้ ใครที่เคยอ่านเรื่องรามเกียรต์ ก็จะต้องรู้จักทรพี ทรพา ควายขนาดใหญ่มหึมาสองตัวทรพีเป็นควายหนุ่ม ลูกทรพา ทรพาเป็นพ่อของทรพี และเป็นควายแก่ เมื่อทรพีเป็นหนุ่มขึ้นมา ก็เกิดเหตุที่ทำให้ทรพีต้องสู้กับทรพาผู้เป็นพ่อหรือเป็นควายแก่ เข้าไปสู้กันอยู่ในถ้ำ จนเลือดนองไหลออกมาเป็นแม่น้ำ
ฟังดูเผินๆก็อาจเห็นว่าเป็นเรื่องเละเทะของคนโบราณ ผู้ซึ่งชอบเชื่อถือในสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ ( นี่คือสไตล์คึกฤทธิ์ - ที่ใช้ความสามารถในการเขียนหนังสือ ให้คนทุกคนอ่านเข้าใจได้โดยไม่ยาก และทำให้อยากติดตามต่อไปอีก ว่าผู้เขียนจะนำเสนออะไร? ในยุคนั้นคือเมืองไทยเมื่อกลางปี พ.ศ. 2515 ซึ่งอาจารย์คึกฤทธิ์ได้สร้าง ‘โขนธรรมศาสตร์’ขึ้นมาแล้วห้าปี ทำให้ศิลปการแสดงชั้นสูงของไทยที่ราชการหยุดทำไปพักหนึ่ง เพราะไม่มีงบฯและไม่มีใครสนใจที่จะทำ กลายเป็นกิจกรรมของนักศึกษาที่สร้างความสนใจในสังคมขึ้นมา ในการกระทำดังกล่าว อาจารย์คึกฤทธิ์พยายามตีความเรื่องรามเกียรต์ให้สอดคล้องกับสังคมไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงมาตลอด และสร้างบรรยากาศให้คนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่เกิดความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคนั้น ที่แนวคิดของคนบางกลุ่ม เริ่มการโจมตีของเก่าว่าไร้สาระกำลังก่อหวอดขึ้นมา หลังจากที่ได้พูดคุยกับอาจารย์มหาวิทยาลัยบางท่านให้รู้จักมองโลกในแง่มุมที่กว้างขึ้นในสิ่งเหล่านี้ไปบ้างแล้ว เขียนบทความชิ้นนี้จึงได้ปรากฏขึ้น )
แต่ความจริงนั้นเปล่าหรอกเรื่องรามเกียรต์ตอนนี้ แสดงให้เห็นพลังของสัตว์หนุ่ม ที่ต้องการจะช่วงชิงอำนาจหัวหน้าฝูง จากสัตว์แก่ชนิดเดียวกัน ซึ่งเป็นธรรมดาของโลกที่มีอยู่ในสัตว์ทั่วไป รวมทั้งในมนุษย์ด้วยขอเรียกพลังนี้ว่า “พลังทรพี” ในฝูงสัตว์ที่มีจ่าฝูงนั้น เมื่อปรากฏว่ามีสัตว์ที่เป็นหนุ่มเติบโตขึ้นมา สัตว์หนุ่มนั้นก็จะต้องหาทางประลองกำลังกับจ่าฝูง ซึ่งมีอายุมากกว่า เพื่อแย่งความเป็นจ่าฝูงกัน
หากจ่าฝูงที่มีอายุมากกว่า สู้กำลังสัตว์หนุ่มไม่ได้ สัตว์หนุ่มตัวนั้นก็จะเป็นจ่าฝูงต่อไป แต่ถ้าหากว่าจ่าฝูงเอาชนะสัตว์หนุ่มได้ จ่าฝูงก็จะคงอยู่ในตำแหน่งนั้นต่อไปอีก ส่วนสัตว์หนุ่มที่พ่ายแพ้นั้นถ้าไม่หนีไป ก็จะต้องคงอยู่ในฝูง ยอมเป็นส่วนหนึ่งของฝูงนั้นต่อไป
ทั้งหมดนี้เป็นสัญชาติญาณของสัตว์โลกทุกชนิด
.............................................................................
สัญชาติญาณและพลังธรรมชาติเหล่านี้ ถ้ายังมีอยู่ ก็แปลว่าสัตว์ฝูงนั้นยังแข็งแรง เป็นพันธุ์ที่ดี และมีโอกาสที่จะสืบพันธุ์ต่อไปได้อีกนาน พูดง่ายๆว่าเป็นอาการที่ดีของฝูงสัตว์ มนุษย์เราเอง ก็มีสัญชาติญาณเหล่านี้แอบแฝงอยู่คนหนุ่มๆของมนุษย์ ก็มีพลังทรพีอย่างนี้ พอเติบโตเป็นหนุ่มขึ้นมา บางคนก็อยากลองดีกับผู้ใหญ่ หรือคนที่แก่กว่าบางคนมีความมักใหญ่ใฝ่สูง ก็อยากจะเป็นผู้นำในสังคม คอยหาโอกาสขวิดผู้ใหญ่อยู่เสมอ ถ้าทำได้จะเป็นเพราะสัญชาติญาณหรืออะไรก็ตามที สังคมมนุษย์ก็ตระหนักรู้ถึงพลังทรพีนี้ และได้หาทางจำกัด หรือควบคุมด้วยวิธีต่างๆตลอดมา ในสังคมมนุษย์ในทวีปเอเซียเรานี้ ทรพาทั้งหลายได้ช่วยกันอบรมทรพีมาเป็นเวลาช้านานแล้ว ว่าผู้ใหญ่นั้นเป็นผู้ที่ควรเคารพนับถือ พ่อแม่เป็นผู้ที่มีพระคุณล้นเหลือ ของลูก ความเห็นของผู้ใหญ่ เป็นความเห็นที่รอบคอบ เพราะได้ผ่านการพิจารณาแล้วทั้งด้วยความรู้และด้วยประสบการณ์ ย่อมจะผิดพลาดได้ยาก พูดกันเป็นสุภาษิตว่า เดินตามหลังผู้ใหญ่หมาไม่กัด ฯลฯ
ด้วยการอบรมเช่นนี้ การต่อสู้ระหว่างทรพีกับทรพาจึงไม่เกิดขึ้นบ่อยนักในสังคมมนุษย์ มนุษย์จึงอยู่กันมาได้ด้วยความเรียบร้อยเป็นเวลาช้านาน ( ขอนุญาตหยุดอีกนิดครับ เพื่อเสริมว่า ‘งานเขียน’อย่างนี้ไม่ได้ด่าใครหรือวิจารณ์ใครเลย เพราะฉะนั้นคนทุกฝ่ายย่อมอ่านได้ เป็นการนำความรู้บางอย่างมาให้คนทุกคนได้อ่าน ซึ่งอ่านแล้วจะได้เกิดความคิด เพื่อที่จะตัดสินใจหรือทำอย่างไรกันต่อไป ซึ่งการให้ความรู้อย่างนี้ แม้จะเป็นวิธีการเก่าที่ทำมานานสี่สิบปีแล้ว แต่ถ้าจะนำมาปฏิบัติในวันนี้ ก็ยังไม่พ้นสมัย เพราะทุกวันนี้การนำเสนอความเห็นเช่นนี้ ค่อนข้างจะหาอ่านได้ไม่ง่ายเต็มที เพราะฉะนั้นผมจึงอยากย้ำเป็นข้อสังเกต ก่อนที่จะชวนเชิญให้ติดตามกันต่อไป)
ตามความจริงนั้น ถึงแม้ว่ามนุษย์จะมีสัญชาติญาณและพลังเช่นเดียวกับสัตว์โลกอื่นๆโดยทั่วไป แต่ด้วยความเป็นมนุษย์ สัญชาติญาณและพลังเหล่านั้น จึงอยู่ลึกซึ้งและมีความละเอียดอ่อนในตัวมนุษย์ ในสภาพที่พอจะควบคุมได้
เพราะมนุษย์ยังมีอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งสัตว์อื่นไม่มี นั่นคือ เหตุผล
.................... ....................
นำเสนอมาถึงตรงนี้ “เหตุผล” เรื่องพื้นที่คอลัมน์ของแต่ละคนมีอยู่จำกัด จึงทำให้ผมต้องขอพักข้อเขียนนี้ไว้ก่อนแค่นี้ เพื่อให้ข้อความส่วนที่เหลือ เหมาะสมกับสาระที่จะเป็นการเน้นย้ำความเห็นกันในตอนต่อไป ซึ่งคำเตือนสำคัญจะอยู่ในข้อเขียนช่วงท้ายนี่ละ
สังคมไทยทุกวันนี้ มีข้อเขียนที่ ‘สร้างอารมณ์’กันมากมายเกินพอ แต่ข้อเขียนที่พอจะใช้เป็นเครื่อง ‘เตือนสติ’ให้คนรู้จักใช้เหตุผลให้มากกว่าอารมณ์ ยังขาดแคลนอยู่มาก ผมจึงอยากเชิญชวนให้ท่านติดตามข้อเขียนนี้กันต่อในสัปดาห์หน้าครับ