“ที่คนในโลกนี้นับถือลัทธิกันมากก็เพราะคนในโลกนี้ยังขาดความเข้าใจธรรมะอันเป็นเครื่องปลดปล่อยละวาง คือธรรมะของพระพุทธเจ้า ลัทธิทุกลัทธิในโลกนอกเหนือไปจากธรรมะของพระพุทธเจ้านั้นสอนให้รู้เพียงส่วนเดียว มิใช่รู้หมด เมื่อคนรู้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ ก็ย่อมยึดถือลัทธินั้น ๆ อย่างหนาแน่นเพราะยังรู้ไม่ตลอด เหมือนวานรบริโภคผลมะม่วง หากยังไม่หมดเนื้อก็ไม่ยอมละวางผลมะม่วงนั้นฉันใด คนที่ยังรู้ธรรมไม่ตลอดจากลัทธิใดก็ย่อมไม่ละวางลัทธินั้น แต่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นสอนให้คนเกิดปัญญา อันแทงทะลุความจริงทั้งปวงโดยตลอด เมื่อบังเกิดความรู้ในทางพุทธแล้ว ผลคือความละวาง คือการปลดปล่อย ไม่ยึดถือลัทธิ หรือสิ่งใด” (คึกฤทธิ์ ปราโมชคอลัมน์ปัญหาประจำวัน วันที่ 19 กันยายน 2500) “กระผมก็อยากจะขอกราบเรียนว่า สังเกตการปฏิบัติพระพุทธศาสนาในเมืองไทยในทุกวันนี้ ด้วยความวิตกเป็นอย่างยิ่ง คนที่ปฏิบัติแบบนี้ พูดไปก็เหมือนนินทา แต่จำเป็นจะต้องพูด คนที่ปฏิบัติแบบนี้ ไม่ใช่คนที่ไร้การศึกษาเท่านั้น คนที่นับถือพระเครื่องรางหรือของขลังที่คุ้มภัยอันตรายได้มีอยู่มาก บางคนก็อาจจะมีไว้ประจำตังด้วยเหตุสุจริต เป็นเครื่องเตือนใจ ให้ระลึกถึงธรรมะเพื่อทำความดี ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีอันตราย คนบางคนแม้เป็นโจร ก็เอารูปพระพุทธเจ้าไปห้อยคอเป็นพวง ๆ นึกว่าจะป้องกันกระสุน กันดาบ กันปืนได้ แต่คนเช่นนั้นก็พอจะยกให้ได้เพราะไร้การศึกษา แม้แต่คนที่มีการศึกษาแล้วมีตำแหน่งฐานะเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ก็ยังเชื่อถือลัทธิเหล่านี้อยู่มาก ถึงปีได้ฤกษ์งามยามดี บางทีก็ครั้ง บางทีก็ หลายครั้ง ทำพิธีปลุกเสก ปลุกพระพุทธเจ้าให้ตื่น อย่างนี้ก็เป็นเรื่องชอบกล น่าจะสังเกตเอาไว้สำหรับท่านที่จะออกไปประกาศธรรมะ ผมรู้สึกว่าการที่จะปฏิบัติเช่นนี้ ลัทธิเหล่านี้อาจจะเป็นที่หนักใจได้มาก แล้วก็มีเป็นจำนวนมากเสียด้วย” (คึกฤทธิ์ ปราโมช คำบรรยายเรื่อง “ถวายความเห็นแด่พระภิกษุนักศึกษา” ณ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย วันที่ 25 เมษายน พ.ศ 2502 ) การนับถือพระพุทธศาสนา ของคนส่วนมากในขณะนี้กระผมเห็นว่าอยู่ที่ภูมิปัญญาของแต่ละคนเป็นรากฐาน ผู้ใดที่มีภูมิปัญญาเพียงแต่จะยึดถือคุณพระรัตนตรัยเป็นเครื่องคุ้มกันตนมิให้ต้องคมอาวุธยิงไม่ออกฟันไม่เข้า ก็เชื่อแต่เพียงเท่านั้นหมกมุ่นไปในทางพระเครื่องรางของขลัง ที่เป็นใหญ่โตมีบุญกิริยาด้วยวิธีพุทธาภิเศก เรียกว่า “ปลุกพระ” เป็นทีว่าปลุกพระพุทธเจ้าผู้ทรงปลุกคนให้ตื่นอยู่เป็นนิจนั้นให้ตื่นขึ้นเอง บางคนมีภูมิปัญญาไปถึงชาติภพอื่น ๆ ก็เชื่อนรกเชื่อสวรรค์ ทำบุญเหมือนเสียเบี้ยประกัน ชาติหน้าจะได้อยู่วิมาน หรือจะได้เกิดเป็นรับประหารอยู่ตึกใหญ่ ๆ บางคนก็เขยิบภูมิปัญญาขึ้นไปถึงพระอภิธรรม บังเกิดความคิดว่าฌานสมาบัติเป็นของง่าย เพียงนั่งนิ่ง ๆ กำหนดลมหายใจโดยไม่ต้องศึกษาความจริงในชีวิตอะไรอีก ก็ถึงซึ่งอริยมรรค พอเกิดอะไรวูบ ๆ วาบ ๆ ตัวแข็งเกร็งขึ้นมา ซึ่งฝรั่งเขาเรียกว่า Self-hypnotism ก็ร้องว่าสำเร็จแล้วหนอ สำเร็จแล้วหนอ ลุถึงความนับถือซึ่งพม่า(พูดกันตามสำนวนบาลีครับ) ภูมิปัญญาทั้งหลายทั้งปวงนี้ สรุปรวมแล้วเรียกว่ายังติดอยู่ในสักกายะทิษฐิ คิดยังผลให้เกิดแก่ตนทั้งที่ยอมรับว่าอยู่ทั่วไปว่าตนนั้นไม่มี พูดดังนี้มิได้หมายความว่า กระผมเองนั้นปราศจากสักกายะทิษฐิ คิดดูแล้วก็ยังหนา ๆ อยู่เหมือนกัน แต่ทุกวันนี้กระผมนับถือศาสนาพุทธอยู่ด้วยคาถาที่ว่า สงฺฆสฺสาหสฺมิ ทาโส ว สงฺโฆ เม สามิกิสฺสโร (ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระสงฆ์ พระสงฆ์เป็นนายมีอิสระเหนือข้าพเจ้า) พระใช้ให้ทำอะไรก็วิ่งแจ้นไปทำเอาอย่างง่าย ๆ แค่นี้ไปก่อน ถึงไม่สำเร็จมรรคผลอะไร ก็สบายใจดี เพราะเป็นขี้ข้าพระนั้น คิดดูแล้วก็ดีกว่าเป็นขี้ข้าตัวเองหรือเป็นขี้ข้านายเงินเป็นไหน ๆ” (คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบปัญหาประจำวัน ๑๒ กันยายน ๒๕๐๐)