ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

ก่อนถึงวันคล้ายเกิดของอาจินต์  ปัญจพรรค์คือวันที่  11  ตุลาคม 2549 ผมไปเยี่ยมที่บ้าน “พี่อาจินต์” มีสีหน้าแจ่มใสมาก เมื่อถามถึงสุขภาพ ก็ได้รับคำตอบว่าสุขภาพดี เดินเหินได้สบาย  แม้ปีนั้นจะมีอายุถึง 79  ปีแล้ว แต่ทันสมัยมาก  พิมพ์งานด้วยคอมพิวเตอร์ ส่งงานทางอีเมลและเล่นเน็ตด้วย  คนที่อยากพูดคุยด้วยไปที่ “PenCyber อาจินต์ ปัญจพรรค์”  วันนั้นผมเอาสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ฉบับที่เขียนถึง “ครูทางการเขียน” ไปฝากด้วย “พี่อาจินต์” พูดขึ้นว่า

“หนังสือพิมพ์สยามรัฐของอาจารย์คึกฤทธิ์  ชัช  เตาปูน เขามาช่วยกู้ไว้ ผมเคยพูดประโยคนี้กับชัช และกับหลายคน ผมยกย่องเขามาก เพราะเขามีความกตัญญูต่ออาจารย์คึกฤทธิ์เหมือนบิดา ชัช  เตาปูนคือ ชัช  โรบินฮู้ด โรบินฮู้ดช่วยคนจนไง “แล้วอวยพรให้ผมว่า“ขอให้เจริญก้าวหน้า คนกตัญญูต้องเจริญก้าวหน้า คุณจะเจริญก้าวหน้าไปเรื่อย ๆ ไม่มีวันตกต่ำ”

ผมยกมือไหว้พร้อมกับพึมพำว่าสาธุ  ตอนหนึ่งของการสนทนา อาจินต์ ปัญจพรรค์ให้ข้อคิดกับผมในเรื่องการอ่านว่า ...

“นักประพันธ์ หนังสือแพงเท่าไหร่ต้องเสพย์ แม้จะพิมพ์คัมภีร์ทองซ่อนไว้ ยังต้องขโมยอ่าน เมื่อได้เสพย์แล้ว สมองเราดีขึ้น ถ้าไม่ท่องคาถา จะเหาะเหินเดินอากาศได้อย่างไร”

ประโยคดังกล่าวแฝงความหมายที่ชวนคิด หนังสือที่มีคุณค่าแก่การอ่าน อย่างงานวรรณกรรมที่ให้สาระ แม้จะมีราคาแพง  ก็ควรมีไว้ในครอบครอง  นับเป็นการอุปมาที่คมคาย โดยเฉพาะประโยคสุดท้ายที่ว่า “ไม่ท่องคาถา จะเหาะเหินเดินอากาศได้อย่างไร”  ผมชอบประโยคนี้มาก การอ่านเปรียบได้กับคาถาบทสำคัญ  เพราะการอ่านเป็นรากฐานสำคัญในการเขียน

“นักเขียนสองคนนี้ถือว่า เป็นคลาสสิก แมน “อาจินต์  ปัญจพรรค์ เอ่ยขึ้นพลางเพ่งมองผม”    ส. ธรรมยศ(นักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของเมืองไทย สมญานาม “ราชสีห์แห่งการเขียน” ผลงานได้แก่ เสาชิงช้า,ศิลปะแห่งวรรณคดี,พระเจ้ากรุงสยาม Rex  Siamen Sium ฯลฯ) กล่าวไว้ในหนังสือ  “งานและชีวิตของส.ธรรมยศ” เขียนโดยอสิธารา(อ. ไชยวรศิลป์ ผู้เขียน ริมฝั่งแม่ระมิงค์ฯลฯ) ว่า

“งานเขียนเป็นงานที่ตัดสินกันอย่างเข้มงวด ระหว่างเทพเจ้า”

พอผมได้ฟัง อึ้งไปเลย ได้แต่มองตา “พี่อาจินต์” เป็นประโยคที่ต้องตีความลึกมากและต้องคิดอีกหลายชั้น เพราะเป็นประโยคคำพูดของนักปรัชญา  งานเขียนที่เข้าข่ายประโยคดังกล่าว  เท่าที่นึกออก  เห็นจะเป็นวรรณกรรมโนเบลนั่นแหละ.... 

“งานของส. ธรรมยศ ควรหามาอ่าน  อีกคนที่ควรอ่านคืองานเขียนของต้อย ชุมสาย ณ อยุธยา  หรือน้อย อภิรุม  จดหมายถึงขุนอารีกับทุ่งพลายงาม อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นผู้ใช้ปรัชญาในนวนิยาย ส. ธรรมยศ ต้อย ชุมสาย ณ อยุธยา  คิดปรัชญา”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ไม่เพียงแต่มีความสามารถในการเขียนหนังสือ  โดยเฉพาะเรื่องสั้นที่จับใจจับอารมณ์เท่านั้น ยังมีความสามารถในการแต่งเพลงอีกด้วย  บางคนยังไม่รู้ความสามารถในเรื่องนี้หรือรู้ ก็เพียงผิวเผิน

ดังที่เคยกล่าวไว้ครั้งที่เขียนถึงทวีสุข ทองถาวรว่า  สมัยโน้นสังคมนักเขียนกว้างมาก  นักเขียน นักกลอน นักหนังสือพิมพ์และนักแต่งเพลงต่างก็มีความสัมพันธ์กัน นักเขียนและนักกลอนได้รับการชักชวนให้ไปแต่งเพลงหลายคน หนึ่งในนั้นคือ อาจินต์ ปัญจพรรค์  โดยได้ฝากฝีมือในการแต่งเพลงไว้ถึง 34 เพลง

เพลงที่คุ้นหูได้แก่ “สวัสดีบางกอก”  ผมได้ยินเพลงนี้ตั้งแต่รุ่น ๆ แต่ไม่รู้หรอกว่าใครแต่ง  พอวิทยุขึ้นเพลงนี้ ร้องตามได้เลย...

“อย่าไปเลยบางกอกจะบอกให้

พี่เคยไปมาแล้วน้องแก้วเอ๋ย

จะบอกเจ้าเอาบุญคนคุ้นเคย

อย่าไปเลยบางกอกชอกช้ำใจ....”

เพลง “สวัสดีบางกอก” ขับร้องโดย อ้อย อัจฉรา  ต่อมาแต่งเพลงแก้ให้ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ เป็นผู้ขับร้อง ชื่อเพลง “อย่างเกลียดบางกอก”...

“แม่คุณเอ๋ยบางกอกหรือหลอกเจ้า

ส่วนที่เขาคนดีก็มีถม

เจ้าไปคุ้นคนพาลมารสังคม

ไม่อบรมในหมู่ของผู้ดี”

อีกเพลงหนึ่งที่คุ้นหูและรู้จักกันแพร่หลาย ขับร้องโดย ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ คือเพลง “สาวตางาม” เพลงนี้มีนักร้องรุ่นหลังเอามาร้อง ที่ขึ้นวรรคแรกว่า

“รักน้องมานานโอ้ แม่ตาหวานฉ่ำชื้น....”

เพลงที่ถือว่าเป็นเพลงที่มีความหมายดีเพลงหนึ่งคือ เพลง “ปริญญาชาวนา” แต่งให้นักร้องชื่อดังในยุคนั้นที่ให้ความเคารพนับถือ อาจินต์ ปัญจพรรค์มาก นั่นก็คือ ธานินทร์ อินทรเทพ  ในงานวันเกิด 79 ปี เมื่อปี 2549 จัดเป็นประจำทุกปีที่ร้านโอลด์เล้ง ย่านRCA ของวรพจน์  ประพนธ์พันธ์และทิวา  สาระจูฑะ ผู้ก่อตั้งสีสัน นิตยสารให้สาระด้านดนตรีที่น่าอ่าน  ปีนั้นสุรพล  จินดาอินทร์เจ้าของร้านหนังสือพิคเอ็นเพย์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นเจ้าภาพร่วม

ปีก่อน(ปี 2548) มีหนังสือแจกชื่อ “อาจินต์ 78” ที่ลงรูปปกหนังสือในตอนที่แล้ว  ปีนี้(ปี 2549)เจ้าภาพทำเสื้อยืดคอกลมแจก มีรูปอาจินต์  ปัญจพรรค์และลายเซ็นกำกับใต้รูปด้วย กระนั้นพวกเราก็ยังเอาเสื้อไปให้นักเขียนผู้นี้สลักลายเซ็นลงในเสื้อด้วย เพราะได้ลายเซ็นจากมือสดกว่า  ช่วงหนึ่งธานินทร์  อินทรเทพได้ขึ้นไปบนเวทีกล่าวถึงนักเขียนผู้ยิ่งยง  ผู้เขียนเรื่องชุด เหมืองแร่ว่า

“พี่อาจินต์รักผม พี่อาจินต์จึงแต่งเพลง “ปริญญาชาวนา” ให้ผม เพราะผมร้องเพลงชัด ผมร้องชัดเพราะผมได้ภาษาไทยจากพี่อาจินต์”

อาจินต์ ปัญจพรรค์ไม่ได้แต่งเพลง “ปริญญาชาวนา” ให้ธานินทร์  อินทรเทพ เพลงเดียว แต่แต่งให้ถึง  9 เพลงได้แก่ ปริญญาชาวนา ผู้ชนะคือควาย แผ่นดินหอม แม่โพสพสังสรรค์ เป็นอาทิ

เพลงที่ดังระเบิดทั่วบ้านทั่วเมือง  สถานีวิทยุเปิดบ่อย จนคุ้นหู  ผมได้ยินตอนอยู่ชั้นม.ศ.3 ชอบมาก แปลกดี พอเสียงเพลงดังขึ้น ผมรีบจดตามแทบไม่ทัน ตก ๆ หล่น ๆ ต้องรอจดครั้งต่อๆ ไป จนได้เนื้อเพลงครบ ยุคนั้นไม่มีเพลงแบบนี้  จึงถือว่าเป็นความคิดแปลกใหม่ เพลงที่กล่าวถึงก็คือเพลง “จดหมายรักจากเมียเช่า” ทำนองเพลงSad Movies ส่งให้นักร้องคนนี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปด้วย นั่นก็คือ มานี มณีวรรณ แม้แต่ผมเป็นเด็ก ยังรู้จักชื่อนักร้องคนนี้  ผมชอบเพลงนี้จนร้องตามได้  “พี่วาณิช”-วาณิช จรุงกิจอนันต์ นักเขียนซีไรต์จากรวมเรื่องสั้น “ซอยเดียวกัน” ขึ้นไปร้องเพลง “จดหมายจากเมียเช่า” บนเวทีในงานวันเกิดปีนั้นด้วย...

“ไอเขียนแล็ตเต้อรืถึงเธอเดียร์จอห์น

เขียนในแฟลตที่ยูเคยนอนจังหวัดอุดรประเทศไทยแลนด์

ไอโบร๊กเก้นฮาร์ด ยูมัสต์อันเด้อร์สแตนด์

จอห์นจ๋าจอห์นดอลลาร์ขาดแคลน

เมียเซ็กกั้นแฮนด์ของยูยังคอย....”

ในตอนที่แล้วที่ผมเขียนตรงที่ว่า ผมถามพี่อาจินต์ ปัญจพรรค์ว่า ถ้าไม่ได้เป็นกรรมกรเหมืองแร่ คิดว่าจะได้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงไหม “พี่อาจินต์”ตอบว่าจะสมัครงานหนังสือพิมพ์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ให้ได้ เพื่อเอาภาษาไทยออกมาเผยแพร่  สำหรับหนังสือ “เพลงของอาจินต์”ที่แจกในงานวันเกิดเมื่อปี 2547 พร้อมซีดี  มีข้อความโปรยที่ปกนั้น คงเป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่นักเขียนรุ่นลายครามผู้นี้เลือกทำสิ่งที่ตนเองรักในชีวิต....

“ในชีวิต ถ้าไม่ได้เป็นนักเขียน ผมก็คงจะได้เป็นนักร้องนักดนตรีนี่แหละ คงจะหมกมุ่นไขว่คว้าที่จะเป็นนักดนตรีให้จงได้....แต่ถึงจะเป็นนักเขียน ก็ถือเอาดนตรีเป็นสิ่งประเทืองอารมณ์ตลอดเวลา”

(อ่านต่อตอนจบฉบับหน้า)