น่าสนใจในการประชุมวุฒิสภา วาระพิจารณาผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2564 พร้อมรายงานของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 4 ฉบับ
ในประเด็นที่ นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา หรือส.ว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงแผนการปฏิรูปด้านการเมือง โดยเสนอว่า เมื่อพ้นจากวาระของส.ว. ชุดปัจจุบัน ให้ทบทวนและพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม หรือ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เหตุผลที่ต้องรอเวลาให้ครบ 5 ปี หรือพ้นสมัยของส.ว.ปัจจุบัน เพราะสถานการณ์พอสมควรแก่เหตุ แต่หากยังไม่ครบ 5 ปี ตนมองว่าส.ว.ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมือง สถานการณ์วิกฤตในประเทศ
“ช่วงเวลา 5 ปี รัฐธรรมนูญบัญญัติให้มีสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ทำหน้าที่สำคัญหลายเรื่อง ทั้งตั้งรัฐบาล แต่ในช่วงระยะเวลา 5 ปีนั้น ต้องมีคนไม่พอใจ และนี่คือความขัดแย้ง ทั้งนี้ในทางการเมืองไม่ควรไปกังวลว่าใครจะติฉินนินทาว่ากล่าวให้ร้ายอย่างไร แต่มันเป็นหน้าที่ของ ส.ว.ชุดนี้ และในคณะกรรมาธิการของตนก็พยายามติดตามเรื่องนี้ และก็พยายามมองว่ามันน่าจะถึงเวลาที่จะมีการทบทวนดูรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายที่จะทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น”
โดยนายเสรี ยังเสนอด้วยว่า ในส่วนของการปฏิรูปโครงสร้างและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูป ถึงเวลาที่จะต้องหันหน้ามาคุยกันทุกฝ่าย ว่าในสภาพปัญหาของประเทศในปัจจุบันที่เกิดความแตกแยก ไม่ปรองดองสามัคคีที่เกิดจากปัญหาทางการเมืองเป็นหลัก เพราะนักการเมืองพยายามแบ่งฝ่ายประชาชน แล้วให้ประชาชนเผชิญหน้าต่อสู้กันเองขณะเดียวกันยอมรับในกติกาสูงสุดของประเทศคือรัฐธรรมนูญ ดังนั้นความไม่ต้องการให้มีแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจกลายเป็นปัญหาการเมืองได้
ทั้งนี้ เราเห็นว่า แนวคิดดังกล่าว อาจเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาทางหนึ่ง ซึ่งการตั้งส.ส.ร.ขึ้นมาเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่แท้จริงนั้น อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้จะต้องมีแนวร่วมที่สำคัญ ก็คือ ประชาชน ต้องฟังว่าประชาชนต้องการอย่างไร เพื่อให้เกิดความชอบธรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และที่สำคัญคือไม่มีการเปิดช่องให้บางฝ่ายถือโอกาส บั่นทอนต่อสถาบัน