ทวี สุรฤทธิกุล
“มวลชน” แปลตามตัวว่า “กลุ่มคน” และ “ปัจเจกชน” ก็คือ “คนแต่ละคน”
เมื่อตอนที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐตั้งขึ้นมาใน พ.ศ. 2493 วงการสื่อมวลชนดูจะไม่ตื่นเต้นอะไรนัก เพราะพอเห็นว่าเจ้าของและผู้ก่อตั้งนั้นคือ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็คิดเหมือน ๆ กันว่า คงตั้งขึ้นมาเพื่อสู้กับจอมพล ป. พิบูลสงคราม เท่านั้น เพราะท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เพิ่งลาออกมาจาก ส.ส.ได้ไม่ถึงปี การลาออกก็เกิดจากความขัดแย้งกับจอมพล ป. ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คงจะตั้งหนังสือพิมพ์เพื่อ “แก้แค้น” จอมพล ป. ก็คงแค่นั้น หรือถ้าจะพูดให้เป็นวิชาการ หนังสือพิมพ์สยามรัฐนี่ก็แค่ “สื่อปัจเจกชน” คือเป็นสื่อของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เพีนงคนเดียว ที่ตั้งขึ้นเพื่อต่อสู้กับคน ๆ เดียว คือจอมพล ป. ถึงขนาดที่พวกสื่อบางคนในยุคนั้นบอกว่า “หนังสือพิมพ์สยามรัฐคงจะอยู่ได้เดี๋ยวเดียว”
แต่สยามรัฐก็ได้สร้างปรากฎการณ์ที่ใคร ๆ ก็ไม่คาดคิด แต่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์คงคิดไว้แล้ว อย่างที่ท่านเคยบอกกับใครต่อใครว่า “การทำหนังสือพิมพ์ต้องเข้าใจอารมณ์ของสังคม” (โดยท่านได้พูดถึงหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ตั้งขึ้นหลังหนังสือพิมพ์สยามรัฐในอีก 2 ปีต่อมา จนดูเหมือนจะตั้งขึ้นมาเพื่อแข่งกับสยามรัฐด้วยนั้นว่า ไทยรัฐจับอารมณ์ของคนไทยในระดับชาวบ้านร้านตลาด จึงขายได้มากกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น ๆ แต่สยามรัฐยังยึดมั่นอยู่กับคนที่ชอบการเมือง และตอนที่ตั้งสยามรัฐขึ้นมา คนที่อ่านหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่นั้นไม่ชอบทหาร “ใครจะหาว่าตั้งขึ้นมาเล่นงานท่านจอมพลก็ตามที แต่ผมเอาใจผู้อ่านของผม”) อย่างที่ได้เล่าไว้ในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า “ปรากฏการณ์สี่แผ่นดิน” ได้ทำให้สยามรัฐขายดีเป็นเทน้ำเทท่านั้น
“ปรากฏการณ์สี่แผ่นดิน” คือการสะท้อนอารมณ์ของคนไทยที่รักและหวงแหนสถาบันพระมหากษัตริย์ ปรากฏการณ์นี้ไม่เพียงแต่ปลุกเร้าความรู้สึกของคนไทยให้ออกมาปกป้องและเชิดชูพระมหากษัตริย์เพิ่มมากยิ่งขึ้น แต่ยังได้ทำให้เสถียรภาพของจอมพล ป. ง่อนแง่นขึ้นในทันที เพราะจอมพล ป.ก็คือดีตผู้นำของคณะราษฎร ซึ่งคนไทยยุคนั้นเชื่อว่าเป็นพวกโค่นล้มพระมหากษัตริย์ และจอมพล ป.ก็คงจับอารมณ์เช่นนี้ของคนไทยได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้จากความพยายามที่จะกระชับอำนาจให้ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ให้มากยิ่งขึ้น รวมถึงปรับปรุงความสัมพันธ์กับพระบรมวงศานุวงศ์ให้ดียิ่งขึ้น แต่กระนั้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดความไว้วางใจมากขึ้นในหมู่ประชาชนเท่าใดนัก จนกระทั่งเกิดกรณีการขึ้นสู่อำนาจของนายทหารคนหนึ่ง ที่ต่อมาได้โค่นล้มจอมพล ป.จนต้องหนีออกไปตายที่ต่างประเทศ นั่นก็คือ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ว่ากันว่าหนังสือพิมพ์สยามรัฐในยุคนั้นไม่ได้แตะต้องจอมพลสฤษดิ์อะไรเลย ซึ่งก็ได้มีการวิเคราะห์จากนักวิชาการบางท่านบอกว่า เป็นเพราะจอมพลสฤษดิ์เทิดทูนและปกป้องพระมหากษัตริย์ ที่เป็นอุดมการณ์ที่ตรงกันกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แต่พอถึงยุคจอมพลถนอม กิตติขจร หนังสือพิมพ์สยามรัฐโดยเฉพาะคอลัมน์หน้า 5 ของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เอง กลับเขียนบทความโจมตีและเสียดสีจอมพลคนใหม่นี้อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งก็มีนักวิชาการบางท่านให้ข้อสังเกตว่า ไม่น่าจะเป็นการโจมตีด้วยเหตุผลเดียวกันกับจอมพล ป. เพราะถ้าสังเกตข้อเขียนของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ให้ดี จะออกไปในแนวที่ล้อเลียนบริวารและนักการเมืองรอบ ๆ ตัวจอมพลถนอมนั้นด้วยมากกว่า รวมถึงที่ไม่เคยเขียนว่ารัฐบาลของจอมพลถนอมนั้น “ไม่จงรักภักดี” แต่อย่างใด
แน่นอนว่า เมื่อคนไทยนึกถึงหนังสือพิมพ์สยามรัฐก็ต้องนึกถึงท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ร่วมด้วยเสมอ ไม่ใช่เป็นด้วยเหตุที่ว่าท่านเป็นเจ้าของและมีบทความประจำที่ทรงอิทธิพลอยู่ในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ แต่น่าจะเป็นเพราะท่าน “เข้าใจ” อารมณ์ของสังคมเป็นอย่างดีมาโดยตลอด ยกตัวอย่างอีกในยุคหนึ่งก็คือสมัยคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่ท่านได้ “ลดโทน” การโจมตีทหารและรัฐบาลของอาจารย์ธานินทร์ กรัยวิเชียร แค่พอหอมปากหอมคอ แม้แต่ชื่อคอลัมน์ก็ให้ดู “เบา ๆ” อย่างชื่อแรกคือ “ข้าวไกลนา” ตามมาด้วย “ข้าวนอกนา” จนถึง “ข้างสังเวียน” ก็ดูเหมือนว่าเพื่อสื่อถึง “ความเป็นคนนอก” หรืออยู่นอกเวทีการเมืองนั้นแล้ว อย่างไรก็ตามพอรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ คอลัมน์ในหน้า 5 นี้ก็ได้เปลี่ยนมาเป็น “ซอยสวนพลู” เหมือนจะบอกเป็นนัย ๆ ว่า ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์จะขอ “ปักหลัก” ยึดที่อยู่ที่ตรงนี้ต่อสู้กับทุกสิ่งทุกอย่างให้ถึงที่สุดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต อย่างที่ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกกับคนใกล้ชิดว่า “ก็จะนั่งเขียนนั่งสู้อยู่ตรงนี้แหละ ใครอยากมาหาก็มา อยากทำอะไรก็มาที่บ้านซอยสวนพลูนี้”
ภายหลังอสัญกรรมของท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ มีหลายคนบอกว่าหนังสือพิมพ์สยามรัฐ “กำลังจะตาย” ไปกับท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ แต่นี่ก็ผ่านมาเกือบ 27 ปีแล้ว หนังสือพิมพ์สยามรัฐก็ยังคงอยู่ โดยผู้เขียนมีคามเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า น่าจะเป็นด้วยสยามรัฐนี้ “เข้าใจ” อารมณ์ของสังคมนี่เอง อย่างที่ได้เห็นหนังสือพิมพ์สยามรัฐมีการปรับตัวไปตามเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ ที่ไม่ได้เน้นการขายแผ่นกระดาษเช่นแต่ก่อน โดยได้ใช้ช่องทางการสื่อสารสมัยที่หลากหลาย ถ่ายทอดและเชื่อมโยงอารมณ์ของสังคม ซึ่งในยุคดิจิตอลนี้ก็มีการเชื่อมโยงกันอย่างกว้างขวางมากกว่าที่เคยถ่ายทอดผ่านแผ่นกระดาษนั้นมากมายนัก และที่สำคัญก็คือการจับอารมณ์ทางสังคมก็ทำได้ยากกว่าผู้อ่านในสมัยก่อน กระนั่นหนังสือพิมพ์สยามรัฐก็พยายาม “เข้าใจ” และจับอารมณ์ของสังคมนั้นให้ได้ ทว่าปัญหาสำคัญในการจับอารมณ์ของสังคมในโลกดิจิตอลก็คือ อาจจะมีความยุ่งยากที่จะแยกแยะอารมณ์เหล่านั้นว่า อารมณ์ไหนที่เป็น “มวลชน” หรือ “ปัจเจกชน” เพราะเท่าที่ผู้เขียนสังเกตด้วยตนเอง ก็มักจะเป็นเรื่องที่เป็น “ปัจเจกชน” เสียมากกว่า เพราะมีหลายเรื่องที่สื่อต่าง ๆ พยายามเสนอข่าวผ่านสื่อออนไลน์แล้วสัมผัสได้ว่า น่าจะเป็นเรื่องของปัจเจกชน คือเป็นเรื่องส่วนบุคคลหรือเรื่องเฉพาะกลุ่ม รวมทั้งที่หลาย ๆ กลุ่มก็ปิดกั้นไม่ให้คนทั่วไปเข้ามาร่วม หรือมีการเปิดให้ทำกิจกรรมแต่ในหมู่สมาชิกของกลุ่มเท่านั้น
การอธิบายเรื่อง “มวลชน” กับ “ปัจเจกชน” เป็นเรื่องที่ต้องยกตัวอย่างและต้องใช้เนื้อที่อีกพอสมควร จึงจะขอยกไปอธิบายในสัปดาห์หน้า โดยจะอธิบายด้วยว่าบทบาทของสื่อสมัยใหม่ที่รวมถึงหนังสือพิมพ์สยามรัฐด้วยนี้ จะต้องแสดงบทบาทอย่างไรในการสื่อสารของโลกยุคใหม่ นั่นก็คือไม่เพียงแต่จะสามารถ “จับกระแส” หรือเข้าใจอารมณ์ของสังคมได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังจะต้องสามารถ “สร้างกระแส” หรือปรับเปลี่ยนอารมณ์ทางสังคมให้เป็นไปอย่างที่ควรเป็นนั้นด้วย
อย่างที่สยามรัฐก็ได้ทั้ง “ชม” และ “ข่ม” ใครต่อใครมาโดยตลอด 72 ปีนั้น