เสือตัวที่ 6
การดับไฟใต้ในพื้นที่ปลายด้ามขวานนั้น มีกระบวนการสำคัญประการหนึ่งคือการพูดคุยสันติสุขเพื่อมุ่งไปสู่การแก้ปัญหาความขัดแย้งคับข้องใจของคนในพื้นที่โดยเฉพาะบรรดาแกนนำขบวนการแบ่งแยกผู้คนในพื้นที่ด้วยการปรึกษาหารือพูดคุยกันด้วยสันติวิธีระหว่างคณะผู้แทนของรัฐ กับผู้แทนกลุ่มแบ่งแยกการปกครองในนามกลุ่ม BRN โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือเพื่อยุติหรืออย่างน้อยก็บรรเทาความรุนแรงจากการใช้อาวุธเข้าห้ำหั่นกันโดยเฉพาะการกระทำจากฝ่าย BRN โดยความเห็นชอบร่วมกันของกลุ่มเห็นต่างในพื้นที่ผ่านการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือผสมผสานความต้องการของทุกฝ่ายบนโต๊ะเจรจา อันจะนำไปสู่การตอบสนองความต้องการของพี่น้องประชาชนในพื้นที่โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงเฉกเช่นที่ผ่านมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และนี่คือเป้าหมายปลายทางของกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐที่คาดหวังว่าจะเป็นหนทางไปสู่การนำสันติสุขกลับคืนมาสู่พื้นที่แห่งนี้อันเป็นเป้าหมายปลายทางสุดท้ายได้อย่างแท้จริง
หากแต่ว่าการดำเนินการตามแนวทางของกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐกับกลุ่มเห็นต่างกับรัฐนั้น หาได้ง่ายดายตามมโนภาพที่สร้างขึ้นหรือไม่ เพราะแท้ที่จริงแล้วกระบวนการพูดคุยเพื่อนำสันติสุขมาสู่พื้นที่นั้น ต้องได้รับการยอมรับจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่แตกตัวออกไปเป็นกลุ่มต่างๆ ในการต่อสู้กับรัฐ และกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นต้องมีพื้นที่ในเวทีของกระบวนการพูดคุยกับรัฐตั้งแต่ต้น ซึ่งกลุ่มตนจะต้องเป็นกลุ่มหนึ่งในการพูดคุยกับรัฐอย่างเป็นทางการเฉกเช่นเดียวกับกลุ่ม BRN ที่ได้รับการยอมรับจากรัฐทั้งที่ผ่านมาและในห้วงหลังๆ มานี้ ปฏิกิริยาของการก่อเหตุร้ายในห้วงนี้ จึงเป็นการส่งสัญญาณให้รัฐเห็นว่า กลุ่ม BRN ไม่ใช่ตัวแทนของขบวนการต่อสู้กับรัฐอย่างเบ็ดเสร็จแต่เพียงผู้เดียว และรัฐต้องรับรู้ว่า ขบวนการต่อสู้กับรัฐไทยตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น กลุ่มคนที่มีความเห็นต่างจากรัฐ มีอุดมการณ์หรือแนวคิดที่ไม่ได้เป็นเอกภาพหนึ่งเดียว การต่อสู้กับรัฐอันยาวนาน ได้ทำให้คนในขบวนการแตกตัวออกไปตั้งกลุ่มใหม่หลากหลายกลุ่ม และต่างฝ่ายต่างมีศักยภาพในการต่อสู้กับรัฐในหลายมิติอย่างเป็นระบบ เหล่านี้คือความสลับซับซ้อนของกระบวนการพูดคุยสันติสุขของรัฐกับกลุ่มเห็นต่างจากรัฐที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด
กลุ่มเห็นต่างที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ที่มีทั้งการแสดงตัวตนและที่ยังไม่แสดงตัวตน ต่างมีศักยภาพในการต่อสู้ตามที่ตนถนัดและนิยมชมชอบ และเมื่อใดที่การพูดคุยดำเนินไปจนมีแนวโน้มว่าผลการพูดคุยอาจจะไม่เป็นไปตามที่กลุ่มตนคิดหรือคาดหวัง คนเหล่านี้ก็พร้อมที่จะปลีกตัวออกมาจัดตั้งกลุ่มใหม่ และมีอิสระในการแสดงออกซึ่งความมีตัวตนของกลุ่มตนได้ทุกรูปแบบตามแต่โอกาสและจังหวะจะอำนวย การก่อเหตุรุนแรงให้เห็นเป็นระยะๆ หนักบ้าง เบาบ้างตามแต่โอกาสและจังหวะจะอำนวย เพื่อต้องการแสดงตัวตนของกลุ่มตนที่กำลังถูกละเลยหรือมองข้ามจากรัฐ คนกลุ่มนี้พร้อมก่อเหตุใดๆ ได้ตลอดเวลา แม้ว่าท่าทีของรัฐและกลุ่ม BRN จะมีแนวโน้มของการยุติความรุนแรงชั่วคราวระหว่างความพยายามในการพูดคุยที่กำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดบรรยากาศการพูดคุยของทั้งสองฝ่ายให้เป็นไปตามแนวทางรอมฎอนสันติสุขที่ทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน หากแต่ว่ากลุ่มเห็นต่างจากรัฐนั้นหาใช่มีเพียงกลุ่ม BRN ไม่ และกลุ่ม BRN ก็ไม่ได้เป็นผู้นำกลุ่มเห็นต่างในพื้นที่ รวมทั้งกลุ่มเห็นต่างอื่นๆ ต่างก็มีศักยภาพในการต่อสู้กับรัฐอย่างเป็นอิสระอย่างเต็มที่
ปรากฏการณ์ที่นายกัสตูรี มาห์โกตา ผู้นำกลุ่มเห็นต่างที่ชื่อ องค์การปลดปล่อยสหปาตานี (PULO-MKP) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ อ้างว่าเหตุวางระเบิดที่สายบุรีและในอีกหลายจุดที่ผ่านมานั้น เป็นฝีมือจากการกระทำของกลุ่มพูโล ที่ทำไปเพื่อเรียกร้องให้คณะพูดคุยของรัฐไทยนั้น ต้องเจรจากับฝ่าย ผู้เห็นต่างทุกกลุ่ม ไม่ใช่พูดคุยเจรจากับกลุ่ม BRN เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น และนาย นายกัสตูรี ยังกล่าวอีกว่า การก่อเหตุรุนแรงในแต่ละครั้งที่ผ่านมา เป็นฝีมือของปีกหนึ่งของพูโลที่วางระเบิด โดยกลุ่มพูโล มีเครือข่ายกองกำลัง 5 ปีก ในสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยแต่ละปีกจะมีอิสระในการต่อสู้ในเขตรับผิดชอบของตน และกลุ่มพูโลนี้ มีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยมที่พร้อมจะต่อสู้กับรัฐในทุกรูปแบบหากกลุ่มตนถูกละเลยหรือถูกมองข้ามจากรัฐ จากปฏิกิริยาที่ผ่านมานี้ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าไม่อาจคาดหวังในผลสัมฤทธิ์อันสวยงามของรัฐได้ว่า เมื่อกระบวนการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่ม BRN สำเร็จลง ที่รัฐกำลังคาดหวังปลายทางสุดท้ายของยุทธศาสตร์นี้ไว้อย่างสวยหรูว่าจะสมารถยุติความขัดแย้งด้วยอาวุธหรือนำความสงบสุขมาสู่พื้นที่แห่งนี้ได้หรืออย่างน้อยก็น่าจะลดศักยภาพการต่อสู้ด้วยวิธีรุนแรงจากผู้เห็นต่างของกลุ่มอื่นๆ ได้ หากแต่แท้ที่จริงแล้วปฏิกิริยาการแสดงศักยภาพของกลุ่มต่างๆ เช่นที่เกิดขึ้นโดยกลุ่มพูโลนี้ กำลังแสดงให้เห็นว่า กลุ่มพูโลเป็นอีกกลุ่มหนึ่งในหลายๆ กลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐตามอุดมการณ์และความต้องการจุดหมายปลายทางของการต่อสู้ ที่ส่งสัญญาณแรงๆ ให้รัฐเห็นชัดเจนว่า พวกเขามีตัวตนอยู่จริงในพื้นที่แห่งนี้ ทั้งยังสื่อให้รัฐได้รับรู้ว่าอย่าได้ละเลยพวกเขาในเวทีการพูดคุยไม่ว่าจะเป็นหนไหนเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นปลายทางสุดท้ายที่รัฐคาดหวังก็จะไม่มีวันเกิดขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุดกลุ่ม BRN ได้ออกมาประกาศท่าทีที่แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขของกลุ่มขบวนการนี้กับรัฐ ที่ดูจะมีเป้าหมายเดียวกันกล่าวคือ คืนสันติสุขสู่พี่น้องในพื้นที่แห่งนี้ หากแต่ว่าแท้ที่จริงแล้วเป้าหมายปลายทางสุดท้ายของรัฐนั้นมุ่งหวังความสันติสุขท่ามกลางความแตกต่างบนความเป็นรัฐเดียวกัน ในขณะที่กลุ่มขบวนการทั้งหลาย มุ่งหมายที่จะมีสันติสุขบนความเป็นรัฐปกครองตนเองในแบบของตนเอง โดย เจ๊ะมูดอ บินเจ๊ะเตะ ผู้อาวุโสสูงสุดในคณะเจรจาของขบวนการฯ พูดในงานเสวนาออนไลน์ “ภาพอนาคตปาตานี/ชายแดนใต้” (SCENARIO PATANI) เมื่อ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา มีสาระสำคัญว่า การปกครองตนเองอย่างอิสระของคนปาตานีในอนาคต ต้องมีกฎหมายของตนเองทุกด้าน มีศาลของตัวเองและผู้แทนรัฐสภาจากการเลือกตั้งของตัวเอง รวมทั้งและภาษีของตนเอง และย้ำว่า จะต้องได้เขตดินแดนภายใต้สนธิสัญญาแองโกล-สยาม ที่ระบุไว้ในปี 1909 นับตั้งแต่สยามทำสัญญากับอังกฤษ นั่นคือบางพื้นที่ของสตูล และบางส่วนของสงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เป็นดินแดนที่เรียกร้องในอนาคต นั่นคือการยอมรับประชาชนตามแบบของตนเชื้อสายมลายู ที่มีการเมืองชัดเจนในการเป็นประเทศที่เป็นเอกราชในที่สุด ความหลากหลายของกลุ่มเห็นต่างและเป้าหมายปลายทางของกระบวนการพูดคุยที่แตกต่างระหว่างกันอย่างสุดโต่ง คือความสำเร็จในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขที่ยากเกินกว่าที่คิด