ทีมข่าวคิดลึก
หลังศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยประเด็นคำถามพ่วงที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)ได้ปรับแก้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีความชัดเจนออกมาล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะกลายเป็นประเด็นที่สร้างความหวั่นไหวต่อ "นักการเมือง"อย่างยิ่ง โดยเฉพาะต่อ "พรรคเพื่อไทย"พรรคใหญ่อันดับหนึ่ง ว่าศึกใหญ่ในสนามเลือกตั้งรอบหน้า พวกเขายังจะสามารถมองเห็น"ชัยชนะ" ในยกสุดท้ายได้อีกหรือไม่?
เสียงสะท้อนและการวิเคราะห์จากแกนนำพรรคเพื่อไทย หรือแม้แต่คนนอก จากหลายต่อหลายฝ่าย ต่างชี้ออกมาในทิศทางเดียวกันว่าการที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยออกมาว่า กรณีที่สภาผู้แทนราษฎร ไม่สามารถหาบุคคลที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบได้ ต้องใช้กลไกของมาตรา 272 ให้รัฐสภาของดเว้นบุคคลตามบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอได้ ทั้งนี้จากเดิม รัฐสภากำหนดไว้ที่ "2 ใน 3" แต่ศาลรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยเปลี่ยนแปลงเหลือเพียง "กึ่งหนึ่ง" ของรัฐสภา เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้ "คนนอก"เข้ามาเป็น"นายกรัฐมนตรี"ได้สูงและดูเหมือนว่า "คนนอก" ที่ถูกพูดถึง ถูกจับตามากกว่าใครเพื่อน คงไม่พ้น "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั่นเองเพราะแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ได้ตอบรับ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ตัดเยื่อใยอย่างเด็ดขาดเสียทีเดียว
"ชัยเกษม นิติสิริ" แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้ออกมาชี้ชัดเป็นรายแรกๆถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากนี้ คือกรณีที่ประตูสำหรับ "คนนอก" หรือ "นายกฯนอกบัญชี" จะเข้ามาได้ง่ายมากขึ้นแล้วยังน่าสนใจนายกฯคนใหม่ตามรัฐธรรมนูญนั้นมีแนวโน้มที่จะอยู่ยาวไปถึง 10 ปีด้วยซ้ำ !
จากความหวังที่เคยฝากเอาไว้ที่สนามเลือกตั้ง 2560 ของพรรคเพื่อไทยยิ่งดูจะริบหรี่เต็มที ยิ่งที่ผ่านมาการขยับหรือเคลื่อนไหวใดๆ ภายในพรรคก็ดูจะทำได้ยากเย็น ทั้งด้วยคำสั่ง คสช.ที่ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมใดๆ ทางการเมือง ไปจนถึงการบล็อกตัวแกนนำในระดับพื้นที่ เพื่อรักษาความเรียบร้อย ไม่ให้ คสช.และรัฐบาลเกิดอาการสะดุด
สถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยวันนี้ มีคำถามว่าที่สุดแล้วการต่อสู้ครั้งนี้จะดำเนินไปเพื่อเป้าหมายใดเพราะหลายคนในพรรคเองต่างพากันประเมินแล้วว่า พรรคเพื่อไทยจะต้องถูกกันเอาไว้ให้เป็น "พรรคฝ่ายค้าน"โดยไม่ต้องสงสัย เพราะสูตรพิสดารที่จะให้ "ประชาธิปัตย์" มาจับมือกับเพื่อไทย เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล หวังต่อกรกับ คสช. นั้นเห็นทีจะเป็นไปได้ยาก !
เมื่อสูตรสองพรรคการเมืองใหญ่ไม่จับมือกันตั้งรัฐบาล ยิ่งทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็ก พรรคขนาดกลางไปจนถึงพรรคใหม่ที่หวังแจ้งเกิดในสนามเลือกตั้งปี 2560 ดูจะมีโอกาสมากขึ้น
แต่ทั้งนี้การที่พรรคเพื่อไทยจะเลือก ประกาศตัวเป็น "ฝ่ายค้าน" เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลผสมที่มีแนวโน้มจะมีการรวมตัวกันแทบทั้งหมดยกเว้นพรรคเพื่อไทย อีกทั้งบรรดาแกนนำพรรคต่างติดคดีความ รอการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้นอีกหลายราย ทั้งการถอดถอน ไปจนถึงการถูกยึดทรัพย์
อย่างไรก็ดีเมื่อหันมองกลับมาที่โอกาสและความเป็นไปได้การมาของนายกฯคนนอกในการเลือกตั้งรอบหน้าราวปลายปี 2560 ตามโรดแมป ที่คสช.ได้วางเอาไว้นั้น น่าจะมีความชัดเจนว่าสิ่งที่นักการเมืองกำลังพากันหวั่นไหวนั้นอาจไม่ใช่แค่เพียงการแพ้เลือกตั้งตั้งแต่ยังไม่ทันได้ลงสนามเท่านั้น หากแต่ยังมีสิทธิถูกดองกันเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี เลยทีเดียว !