รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

ประเทศไทยเป็นชาติแรกในเอเชีย...ที่ให้ใช้กัญชาอย่างเสรีถูกต้องตามกฎหมาย...ซึ่งรัฐบาลหวังว่าจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรม 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะเดียวกันก็มีข่าวสารออกมามากมายเกี่ยวกับการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ (Recreational usage) รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการใช้กัญชาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงอันตราย...

ด้าน สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์ของประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,390 ตัวอย่าง เรื่อง "คนไทยกับกัญชาเสรี" หลังจากมีการปลดล็อกกัญชาตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อ ยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ส่วนต่าง ๆ ของพืชกัญชา ได้แก่ ช่อดอก เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบ ไม่ว่าสดหรือแห้ง กากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชาและยางกัญชา ไม่มีสถานะเป็นยาเสพติดอีกต่อไป

...ผลสำรวจพบว่า...

1. หลังการปลดล็อกกัญชาประชาชน ‘รู้สึกค่อนข้างวิตกกังวล’ ร้อยละ 37.78 (อันดับ 1) ‘วิตกกังวลมาก’ ร้อยละ 32.85 (อันดับ 2) และ ‘ไม่ค่อยวิตกกังวล’ ร้อยละ 16.27 (อันดับ 3)

2. การปลดล็อกกัญชามี ‘ผลเสียมากกว่าผลดี’ ร้อยละ 57.76 (อันดับ 1)  ‘ผลดีและผลเสียพอ ๆ กัน’ ร้อยละ 30.17 (อันดับ 2) และ ‘ผลดีมากกว่าผลเสีย’ ร้อยละ 17.07 (อันดับ 3)

3. ‘ผลดี’ ของการปลดล็อกกัญชา คือมีประโยชน์ในการรักษาทางการแพทย์ ร้อยละ 74.96 (อันดับ 1) สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ร้อยละ 46.46 (อันดับ 2) และช่วยลดรายจ่ายด้านยารักษาโรคบางประเภท ร้อยละ 45.38 (อันดับ 3)

4. หลังการปลดล็อกกัญชาประชาชนรู้สึก ‘กังวล’ เกี่ยวกับความไม่รู้และไม่เข้าใจเกี่ยวกับการใช้ที่เหมาะสม ร้อยละ 84.58 (อันดับ 1) เด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ง่าย อยากรู้อยากลอง ร้อยละ 82.16 (อันดับ 2) และยังไม่มีแนวทางปฏิบัติ/กฎหมายลูกรองรับที่ชัดเจน ร้อยละ 73.73 (อันดับ 3)

5. แนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับ “กัญชาเสรี” คือจำกัดการใช้โดยเฉพาะเยาวชน สถานศึกษาควรเป็นแหล่งปลอดกัญชา ร้อยละ 88.38 (อันดับ 1) มีมาตรการเฝ้าระวัง ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง โดยเฉพาะการใช้ในอาหาร ร้อยละ 82.26 (อันดับ 2) และควบคุมการโฆษณาเกินจริง มีเครื่องหมายหรือข้อความเตือนอย่างชัดเจน ร้อยละ 81.67 (อันดับ 3)

6. การปลดล็อกกัญชาเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่ ‘เกี่ยวข้องแน่นอน’ ร้อยละ 60.54 (อันดับ 1) ‘น่าจะเกี่ยวข้อง’
ร้อยละ 27.99 (อันดับ 2) และ ‘ไม่น่าจะเกี่ยวข้อง’ ร้อยละ 9.53 (อันดับ 3)

ข้อมูล & ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้กัญชา (อ่านเพิ่มเติม - https://www.cdc.gov/marijuana/data-statistics.htm) เช่น

1. สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC - United Nations Office on Drugs and Crime) ระบุในรายงานประจำปี World Drug Report ว่า กัญชาเป็นยา/สารเสพติด (Drug) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายมากที่สุดในโลกมานานแล้ว และมีการใช้เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการใช้สาร tetrahydrocannabinol (THC)

2. ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการโดยถูกต้องตามกฎหมายสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป ใน 19 รัฐและวอชิงตัน ดี.ซี. และให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องกฎหมาย ใน 38 รัฐและวอชิงตัน ดี.ซี.

3. ผลสำรวจปี 2562 พบว่ากัญชาเป็นยาเสพติดที่ผิดกฎหมายที่นิยมใช้กันมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา พลเมืองอเมริกัน 48.2 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 18 เคยทดลองใช้กัญชาอย่างน้อย 1 ครั้ง

4. การใช้กัญชาที่ไม่เหมาะสมทำให้การทำงานของระบบสมองผิดปกติ โดยเฉพาะสมองในส่วนที่เกี่ยวกับการจดจำ
การเรียนรู้ ความสนใจ การตัดสินใจ การประสานงาน อารมณ์ และเวลาที่ใช้ในการตอบสนอง

5. 3 ใน 10 คนของพลเมืองที่ใช้กัญชามีความผิดปกติเกิดขึ้นจากการใช้กัญชา บุคคลที่เริ่มใช้กัญชาก่อนอายุ
18 ปี เกิดความผิดปกติที่มีสาเหตุมาจากกัญชามากขึ้น โดเฉพาะอย่างยิ่งทารก เด็ก และวัยรุ่น ที่สมองยังอยู่ระหว่างการเติบโตหรือพัฒนา

6. การใช้กัญชาระหว่างการตั้งครรภ์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ หญิงมีครรภ์และให้นมบุตรจึงไม่ควรใช้กัญชา

7. การใช้กัญชาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ หรือถี่ ๆ มีผลโดยตรงกับการเพิ่มความเสี่ยงที่จะเป็นโรคจิตเภท ภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

การปลดล็อกให้คนไทยรู้สึกสบายใจ ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ได้ใช้กัญชาอย่างเปิดเผยไม่ผิดกฏหมาย ก็เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และเศรษฐกิจเป็นสำคัญ (แน่นอนเพื่อคะแนนนิยมด้วย)...แต่เอาจริง ๆ ผมก็อดห่วงใยไม่ได้ถึงผลเชิงลบที่จะตามมา...มันจะคุ้มหรือเปล่ากับกับคำว่า ‘ชาติแรกในเอเชีย’ ที่ฟังแล้วดูดีไม่เบาทีเดียว...คงต้องติดตามกันต่อไปครับ...