สถาพร ศรีสัจจัง                

ต้องตราไว้ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ คือต้นเค้าสำคัญที่สุดในการนำประเทศไทยเข้าไปผูกพันกับสิ่งที่เรียกว่า “สหรัฐอเมริกา” จนทำให้ยากที่จะ “ถอนตัวถอนใจ” ได้สิ้นแม้จนถึงห้วงเวลาปัจจุบัน!                    

นั่นคือเรื่องราวจากห้วงปีพ.ศ.2501 จนถึงปี พ.ศ.2519 รวมเวลาถึง 18 ปีเต็มเป็นอย่างน้อย!                 

แม้จอมพลสฤษดิ์ จะสิ้นชีวิต (ดูเหมือนเขาต้องให้ใช้คำ “อสัญกรรม”?) ไปแล้วท่ามกลางการถูกเปิดโปงเรื่องการคอร์รัปชัน การมีอนุภรรยา(ลับ)ทั้งที่เป็นบรรดา “นางงาม” และ “ดารา” เก็บเข้ากรุไว้เป็นจำนวนมาก โดยใช้ค่ายทหารนั่นแหละเป็นแหล่ง “ฮาเร็ม” เริงรัก…                 

 ตายไปท่ามเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของบรรดาสื่อมวลชนและผู้คนส่วนใหญ่ของสังคมไทยในช่วงยามนั้น โดยเฉพาะที่ปรากฏชัดก็คือ ในบทกวีขนาดยาวหลายชุดของ จิตร ภูมิศักดิ์ กวี นักคิด และนักปฏิวัติร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย!                 

 นักวรรณกรรมศึกษาและผู้สนใจเรื่องบทกวีร่วมสมัย “ตัวจริง” ทั้งหลายย่อมต้องทราบว่า งานกวีนิพนธ์ของ “กวีการเมือง” (นามปากกาหนึ่งของจิตร ภูมิศักดิ์) ตั้งแต่ชุด “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานคร”/ “วิญญาณสยาม”/ “คาวกลางคืน”/ “เนื้อนมไข่” จนถึง “คำเตือนถึงเพื่อนเก่า” ทั้งสิ้นทั้งปวงล้วนเกี่ยวข้องทั้งโดยตรงและโดยอ้อมกับสังคมไทยยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์เรืองอำนาจ (2501-2506)ทั้งสิ้น! 

เป็นผลงานยิ่งใหญ่ที่จิตร ภูมิศักดิ์ สร้างสรรค์ขึ้นในยุคสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เผด็จการผู้ทรงอำนาจที่เป็นผู้เปิดประตูเมืองของประเทศไทยอย่าง “อ้าซ่า” เชื้อเชิญให้สหรัฐอเมริกาเข้ามาแผ่อำนาจแผ่บารมีครอบคลุมผู้คนและสังคมไทยทั้งด้าน “กายภาพ” และ “จิตภาพ” อย่างเต็มกำลัง                 

 จนผู้คนในสังคมไทย(อาจจะส่วนใหญ่?)กลายเป็น “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” อยู่จนกระทั่งยุคปัจจุบัน(หรือเปล่า?)!                    

เรียกได้ว่า โดยปฐมเหตุดังกล่าวนั้นเองที่ทำให้ “อเมริกา” กลายเป็น “ผู้ทรงอิทธิทางรสนิยมและความคิด”(Influenser?) ต่อสังคมไทยอย่างแท้จริงมาจนบัดนี้เชียวแหละ!                 

จิตร ภูมิศักดิ์ เปิดเรื่อง “โคลงสรรเสริญเกียรติกรุงเทพมหานคร” ถึง “สฤษดิ์ ธนะรัชต์” เมื่อครั้งกระนั้นด้วย “ร่ายพรรณนา” ตอนหนึ่งว่า :

  “…อา…ยุคพัฒนาการ/จอมอันธพาลคลั่งอำนาจ/ปวงประชาราษฎร์อาเพศ/เปรตกู่ก้องร้องตระเมิม/กระหายเหิมแลบลิ้นอยู่วะวาบวะวาบ/แสยะเขี้ยวเขียวปราบอยู่วะวับวะวับ/จับชนเชือดเลือดสดๆ/ซดอิ่มเอมเปรมแประท้อง/ร้องโฮกฮือมือถือสาก/ปากถือศีลตีนกระทืบ/คืบก็หอกศอกก็ปืน/หืนโหดโฉดชาติ…ฯ                 

 แล้วตามด้วย “โคลง 4 สุภาพ” ว่า :

๐ เมืองไทยยุคคลั่งเพ้อ  พัฒนา  นี้นอ

บังเกิดผู้นำมหา   บุรุษแท้

บุรุษเหล็กทุกยุคบา  เผยอทาบ  เขาฤา

เหล็กเท่าเหล็กล้วนแพ้  พ่ายสิ้นทุกสมัยฯ

๐ อำนาจบาตรใหญ่เหี้ยม  โหดหืน

ย่ำระบบยุติธรรมยืน  เหยียบเย้ย

ปืนคือกฎหมาย…ปืน  ประกาศิต

“ผิดชอบอั้วเองเว้ย”    “ชาตินั้นคือกู”ฯ

ฯลฯ                     

แต่บทที่นับว่าโดดเด่นและสำคัญมาก ทั้งในแง่ความเป็นกวีนิพนธ์ที่มีวรรณศิลป์งดงามหนักแน่น การบันทึกประวัติศาสตร์การเมือง สังคมของชาติ และมีความบาดคมกินใจล้ำลึกในลีลากวีและสำนวนภาษา ก็คือบทกวีชุดที่ชื่อ “คำเตือนถึงเพื่อนเก่า” ซึ่ง จิตร ภูมิศักดิ์ เขียนขึ้นหลังสฤษดิ์ ตาย แล้วถูกสื่อมวลชน(โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์)ในขณะนั้นเปิดโปงการคอร์รัปชัน และ “การใช้อำนาจเป็นธรรม” ของ “ผู้นำ” ท่านนี้อย่างไม่ไว้หน้า แต่มีหนังสือพิมพ์บางฉบับยังกลับออกข่าวปกป้องและยกย่องโดยไม่สนใจข้อเท็จจริง นัยว่าบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว รู้จักสนิทสนมกับผู้เขียน จิตร ภูมิศักดิ์จึงเขียนขึ้นเพื่อ “เตือนสติ” ให้รู้ว่าสื่อของประชาชนที่ดีงามแท้จริงนั้นควรเป็นอย่างไร!                        

และ “กาพย์ยานี 11” ว่าด้วยการเทิดทูนคุณค่าของชาวนา ที่กลายมาเป็นเนื้อเพลง “เปิบข้าว” อันโด่งดังของวงดนตรีเพื่อชีวิต “คาราวาน” ในภายหลัง ก็เป็นท่อนหนึ่งจากงานกวีนิพนธ์ขนาดยาวชุดนี้เอง!                   

ก็คือบทที่มีเนื้อหาเต็มๆว่า “เปิบข้าวทุกคราวคำ/จงสูจำเป็นอาจิณ/เหงื่อกูที่สูกิน/จึงก่อเกิดมาเป็นคน/ข้าวนี้นะมีรส/ให้ชนชิมทุกชั้นชน/เบื้องหลังสิทุกข์ทน/และขมขื่นจนเขียวคาว/จากแรงมาเป็นรวง/ระยะทางนั้นเหยียดยาว/จากรวงเป็นเม็ดพราว/ล้วนทุกข์ยากลำบากเข็ญ/เหงื่อหยดสักกี่หยาด/ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น/ปูดโปนกี่เส้นเอ็น/จึงแปรรวงมาเป็นกิน…”                     

 ออกไปจากเรื่อง “สหรัฐอเมริกากับเมืองไทย” เสียไกล เดี๋ยวจะเลี้ยวกลับมาเล่ากันใหม่ ให้เห็นว่า ตั้งแต่พ.ศ 2501 เมื่อปีมะโว้โน่นแล้วที่ “อเมริกัน” เริ่ม “ก่ออันตราย” ขึ้นในเมืองไทย!!!!