แสงไทย เค้าภูไทย

จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อค่าบาทอ่อนยวบจนธปท.ต้องถอนเงินสำรองออกมาพยุง เหตุจากธนาคารกลางสหรัฐฯขึ้นดอกเบี้ยพรวดพราด ทำดอลลาร์แข็งผกผันกับค่าเงินทั่วโลก

กูรูการเงินบางคนออกมาเตือน อย่าหนุนค่าบาทมากเกินไปจะซ้ำรอยกับต้มยำกุ้งเมื่อมีการโจมตีค่าบาท จนพังพินาศไปทั้งระบบ

แต่ก็มีอีกด้านที่มองมุมกลับว่า ไทยมีสำรองเงินตราต่างประเทศที่เป็นดอลลาร์เหลือเฟือกว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ เอามาดูแลค่าบาทให้มีเสถียรภาพครั้งละ 8 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ขนหน้าแข้งไม่ร่วง

อีกด้าน กลุ่มผู้ส่งออกและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ชอบใจที่ค่าบาทอ่อน สินค้าและบริการไทยจะขายดี เพราะราคาถูกลง

นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาก็ชอบใจที่สินค้าและบริการของไทยราคาถูก อย่างฝรั่งมาเที่ยวเอา  1 ดอลลาร์แลกบาทได้ถึง 35-36 บาทจากปีก่อนที่ 31-32 บาท

ที่น่ายินดีก็คือนักท่องเที่ยวจากจีนที่เป็นกลุ่มที่มาเที่ยวไทยมากที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติ หยวนแลกบาทได้ล่าสุด 5.20 บาท จากที่เคยต่ำกว่า 5 บาท

ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว เป็น 2 เครื่องยนต์ที่ทำรายได้และเพิ่มจีดีพีให้ไทยมากที่สุด

อย่างไรก็ดี ในมุมกลับการนำเข้าจะแพงขึ้น โดยเฉพาะด้านพลังงานและเคมีภัณฑ์มีสัดส่วนถึง 40% ของสินค้านำเข้าทั้งหมด

อีกด้านหนึ่ง เงินบาทอ่อนค่ายอมจะไม่ดีสำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจที่อัตราเงินเฟ้อยังลอยเฟื่องอยู่ระดับสูง ขณะนี้ราวๆ 6% แนวโน้มครึ่งหลังของปีจะขยับเป็น 7%

พลังงานนำเข้าราคาแพงขึ้น ทั้งแพงจกการขึ้นราคาน้ำมันดิบและแพงเพราะบาทอ่อน ย่อมกระทบกระเทือนต่อผู้บริโภค เพราะพลังงานเป็นเลือดหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรมผลิตและการขนส่ง

ไม่มีใครตอบได้ว่าเมื่อไรเงินเฟ้อจะลดลง ตราบใดที่สงครามยูเครนยังไม่ยุติ เหตุจากน้ำมันดิบและก๊าซจากรัสเซียหายไปจากตลาดโลกตะวันตก ทำให้ขาดแคลนน้ำมันจนราคาขยับขึ้น

มองอีกด้าน ราคาน้ำมันดิบและก๊าซที่แพงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจากพิษโควิด-19 เร็วขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯเป็นชาติผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในโลก

สหรัฐฯกับจีนเปรียบเสมือนแม่หมู เมื่อแม่หมูอ้วน ลูกหมูกินนมแม่ก็อ้วนตาม สหรัฐฯเป็นตลาดที่ไทยส่งออกมากที่สุด โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนยานยนต์ผลิตภัณฑ์ยาง ส่วนจีนเป็นสินค้าเกษตร

มีข่าวดีมาว่า สหรัฐฯกับจีนที่ทำสครามการค้าและสงครามค่าเงิน (Trade War and  Currency War) ตอนนี้หันมาจูบปากกันแล้ว

โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศ จะลดอัตราภาษีขาเข้าจากจีนลงมา เพื่อให้ราคาสินค้าถูกลง เป็นการลดอัตราเงินเฟ้อทางอ้อมอีกทาง

ไทยโดนลูกหลงสงครามการค้าและสงครามค่าเงินอย่างจัง เพราะเจอภาษีขาเข้าของอเมริกาแรงพอๆกับจีน

ช่วงเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อเมื่อ 15 มิ ย ที่ผ่านมา โลกการเงินปั่นป่วนกันไปหมด  ค่าดอลลาร์แข็งโป้ก ผกผันค่าเงินสกุลอื่นๆจนอ่อนค่ากันไปหมด ตลาดหุ้นตกกันระนาว ลามมาถึงไทยด้วย

ฟันด์โฟล์วเงินไหลออกตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรไทยแค่สัปดาห์เดียวเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เงินคริปโตดิ่งเหว

แต่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ มีข่าวดีทำหุ้นเด้ง เมื่อประธานเฟด เจอโรม เพาเวล แย้มออกมาว่า ประชุมเฟด(ธนาคารกลาง)เดือนหน้า อาจจะชะลออัตราดอกเบี้ยลง ที่เคยตั้งเป้าจะเพิ่มอีก 0.75% ก็อาจจะเพิ่มแค่ 0.50% ก็ได้

เท่านั้นแหละ ดัชนีดาวโจนส์และกระดานอื่นๆพุ่งพรวดพราด เช่นเดียวกับหุ้นไทย หุ้นเอเชีย หุ้นยุโรป ที่ได้อารมณ์เดียวกัน

ทำให้คาดการณ์กันว่า ค่าดอลลาร์จะไม่แข็งมาก ค่าเงินสกุลอื่นๆที่ผูกพันก็ไม่อ่อนจนเกินไป

ค่าบาทที่อ่อนที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่ง ก็จะค่อยๆรีบาวนด์ ในครึ่งหลังของปี โดยจะอยู่ราว 35 บาทปลายๆใน ไตรมาสที่ 3 และจะเสถียรขึ้นในไตรมาสสุดท้ายอยู่ราว 34-34.5 บาทดอลลาร์

อย่างไรก็ดี ยังกังวลกันอยู่ว่า เศรษฐกิจสามเส้า สหรัฐ-จีน-ยุโรป ยังเป็นขาลง จีนยังเปิดๆปิดๆด้วยมาตรการ Zero COVID

ส่วนสหรัฐ หากสกัดเงินเฟ้อไม่อยู่จนกลายเป็น hyper inflation  ซ้ำเจอกับดักสภาพคล่อง อัตราว่างงานสูง ก็อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย

ไทยเราพลอยฟ้าพลอยฝน วิกฤตตามไปด้วยแน่ ถ้าไม่เตรียมป้องกันตัวไว้แต่เนิ่นๆ

ปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคุมให้อยู่ก็คือ เงินเฟ้อ เสถียรภาพเงินบาทและที่น่ากังวลที่สุดคือโควิด-19 ระลอกใหม่จากการกลายพันธุ์ใหม่ๆ