ปัญหาราคาสินค้า ที่ถีบตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อปัญหาค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน ประเด็นที่หลายฝ่ายจับจ้องก็คือ “ค่าการกลั่น” ที่วิจารณ์กันว่า แพงเกินจริง
เรื่องนี้ เราเห็นว่าต้องฟังจากปากของนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงได้นำความที่พูดผ่านรายการ คุยเรื่องบ้าน คุยเรื่องเมือง คุยทุกเรื่องกับรัฐมนตรี หัวข้อ ทำไมน้ำมันแพงขึ้น รัฐช่วยอะไรอยู่บ้าง? จากรายการวิทยุ FM92.5 MHz วันที่ 18 มิ.ย.65 ตอนหนึ่งถึงประเด็นการเก็บเงินจากโรงกลั่นน้ำมันเผยแพร่ดังนี้
“ก่อนอื่นต้องเข้าใจว่าค่าการกลั่นคือส่วนต่างของราคาน้ำมันดิบกับค่าเฉลี่ยของราคาผลิตภัณฑ์ที่โรงกลั่นขายได้ ซึ่งเมื่อนำเข้าน้ำมันดิบมาในประเทศเพื่อใช้ประโยชน์ตรงๆจะทำไม่ได้เพราะคุณภาพจะแตกต่างกันไป ดังนั้นต้องแยกเป็นส่วนๆ แต่ละประเภทของน้ำมัน ทั้ง ดีเซล เบนซิน น้ำมันเตา เป็นต้น ที่คุณภาพบางอันสูงบางอันต่ำ เมื่อเฉลี่ยและหักลบกับน้ำมันดิบ จะเป็นค่าการกลั่นพื้นฐานที่ยังไม่สุทธิ เพราะยังไม่หักค่าใช้จ่าย อาทิ ค่าแรง ค่าเสื่อมราคา ค่าบำรุงรักษา ค่าดอกเบี้ย หรือแม้แต่ค่าเงิน เป็นต้น
นายสุพัฒนพงษ์ ระบุว่า ตัวเลขของกระทรวงพลังงานที่มีเผยแพร่เป็นตัวเลขประมาณการของแต่ละโรงกลั่นที่มีค่ากันกลั่นที่แตกต่างกันไป ซึ่งหากคำนวณเป็นค่ากลางๆไว้ย้อนหลัง 10 ปี ช่วงก่อนโควิดค่ากันกลั่นอยู่ประมาณ 2 บาทต่อลิตร แต่เมื่อเกิดโควิด ลดลงเหลือไม่ถึง 1 บาท โรงกลั่นก็ไม่ได้กำไร เพราะยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ไปช่วยเหลือ เพราะเป็นธุรกิจเสรี ถือเป็นภาระของโรงกลั่นที่ต้องดูแลเอง อย่างไรก็ตาม เมื่อกำลังการผลิตสูงขึ้น ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ราคาน้ำมันสูงขึ้น สิ่งที่เป็นประเด็นคือคนบางกลุ่มมีการคำนวณตัวเลขระดับ 8-9 บาทต่อลิตรไม่ทราบว่าใช้วิธีการคำนวณแบบไหน ซึ่งกระทรวงพลังงานได้คำนวณค่าเฉลี่ย 6 เดือนของปี 2565 อยู่ที่ 3 บาทต่อลิตร จึงอยากให้ประชาชนเข้าใจว่าสถานการณ์ไม่ได้เป็นลักษณะที่โรงกลั่นมาปล้นหรือรัฐบาลไม่ได้กำกับดูแล
ซึ่งโรงงานกลั่นมีส่วนช่วยเสริมความมั่นคงให้กับประเทศไทยนั้น เช่น น้ำมันดิบที่นำเข้ามาใช้ประโยชน์โดยตรงไม่ ดังนั้น หากไม่มีการกลั่นน้ำมันจะต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปทั้งหมดเชื่อว่าราคาจะแพงกว่าปัจจุบันที่ซื้อจากโรงกลั่น เพราะต้องแย่งกันซื้อบวกค่าขนส่ง ค่าปรับคุณภาพ รวมถึงปริมาณสำรองน้ำมันจะอยู่แค่หลัก 10 วัน ไม่ถึงระดับกว่า 60 กว่าวันในปัจจุบัน หากมีปัญหาระหว่างประเทศเกิดขึ้น ประเทศไทยจะขาดน้ำมันทันที
ทั้งนี้ ตลอดระยะ 2 ปีที่เกิดโควิด รัฐบาลได้เข้าไปดูแลด้านราคาพลังงานให้กับประชาชน 206,903 ล้านบาท อาทิ ตรึงราคาดีเซลจากลิตรละ 30 บาท มาถึงลิตรละ 35 บาทปัจจุบันราคาจริงอยู่ที่ลิตรละ 45 บาท ใช้เงินเดือนละ 20,000 ล้านบาท ส่งผลให้สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าสิ้นเดือนมิ.ย. 2565 จะติดลบที่ 100,000 ล้านบาท รวมถึงพยุงราคาก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้าที่ล้วนแล้วแต่มีราคาสูงขึ้น แต่รัฐบาลได้ประคับประคองค่อยๆ ปรับขึ้น และการคงราคาก๊าซ NGV เพื่อให้กระทบกับประชาชนน้อยที่สุด”