ในลิ้นชักความทรงจำ /ยูร  กมลเสรีรัตน์

“ทุกคนเกิดมา Born to be”

อาจินต์  ปัญจพรรค์พูดเสียงดังทุ้มที่บ้านย่านสุทธิสาร อันเป็นบุคลิกประจำตัว แล้วเอ่ยต่อว่า

“คนเราจะเป็นอะไร มันต้องได้เป็น ถ้าเกิดมาเพื่อจะเป็นสิ่งนั้น Born to be ดูอย่างคำพูน บุญทวี เป็นลูกชาวนา ถีบสามล้อ เป็นผู้คุม เป็นสารพัดอาชีพ เขียน“ลูกอีสาน”ลงในฟ้าเมืองไทย ดังเลย ต๊ะ ท่าอิฐ เป็นไกด์ เขียนเรื่องไกด์ จนขายดิบขายดี อั้น สัตหีบ เขียนเรื่องสั้นชุด เซลล์แมน เปรียวมาก คนติดกัน เอาประสบการณ์ของตัวเองมาเขียนให้น่าอ่าน ไม่ได้จินตนาการ เรื่องจริงคือเสน่ห์ของความจริง”           

อาจินต์  ปัญจพรรค์ ที่ผมเคารพรักและเรียกว่า “พี่อาจินต์”ได้อย่างเต็มปาก ก็เกิดมาเพื่อจะเป็นนักเขียนเช่นเดียวกัน ถ้าไม่หาประสบการณ์นอกห้องเรียนบ่อย ๆ ก็ไม่ถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ตอนอยู่ปี 2 ดังที่สะท้อนไว้ในเรื่องสั้น “จุฬาฯปฏิเสธข้าพเจ้า” และถ้าไม่เป็นกรรมกรเหมืองแร่ที่พังงา ทั้งที่พ่อเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด จะฝากงานสบายให้ก็ได้ แต่ไม่ฝาก ต้องการดัดนิสัย นั่นเพราะชะตาชีวิตได้กำหนดให้เป็นนักเขียน

4 ปีในเหมืองแร่ ค่าแรงวันละ 6 บาทคือ ขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ เพราะมันคือวัตถุดิบอันมากมายที่อัดเต็มแน่นในสมอง  ด้วยวิญญาณของความเป็นนักเขียน จึงขุดเหมืองบนแผ่นกระดาษออกมาเรื่องแล้วเรื่องเล่า จนกลายเป็นผลงานชุด เหมืองแร่ ที่ยืนยงและอยู่เหนือกาลเวลา “พี่อาจินต์”เล่าความหลังให้ผมฟังว่า           

“ชีวิตในเหมืองแร่มันให้วัตถุดิบกับผมมากมายเหลือเกิน ผมก็เลยลองเขียนส่งไปสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์เล่มแรกเรื่อง “สัญญาต่อหน้าเหล้า” จำได้แม่นยำว่าเป็นฉบับวันที่ 27 มิถุนายน 2497 เพราะเป็นฉบับปฐมฤกษ์ ใช้นามปากกา ‘จินตเทพ’ แต่เรื่องสั้นเรื่องที่สามในชีวิตที่ได้ลง ผมยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนนะ(สนทนาเมื่อปี 2540 เปิดเผยในภายหลังอีกหลายปีต่อมา)”           

เรื่องสั้นเรื่องที่ 3 แต่เป็นเรื่องสั้นเกี่ยวกับเหมืองแร่เรื่องที่ 2 ชื่อ “ผู้กล้าหาญ” (ไม่ใช่ “คนกล้าหาญ” ดังที่มีข้อมูลบางแห่งอ้างอิง) เรื่องสั้นเรื่องที่ 2 และเรื่องที่ 3 เขียนขึ้นขณะทำงานเหมืองแร่ ส่วนเรื่องสั้นเรื่องแรก “เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก”ที่นักอ่านรู้จักกันดี  เป็นเรื่องสั้นที่เขียนทิ้งไว้ก่อนไปทำงานเหมืองแร่ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ส่งไปให้ “อิงอร” จึงเปลี่ยนชื่อให้ เดิมชื่อ “ในทะเลมี

เศรษฐศาสตร์” แล้วส่งไปให้ประหยัด ศ. นาคะนาท บรรณาธิการพิมพ์ไทย วันจันทร์ เป็น 1 ใน 15เรื่องสั้นดีเด่นในรอบ 100 ปีเรื่องสั้นไทย จากการคัดสรรของสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย            

“เรื่องสั้น‘ผู้กล้าหาญ’ ก็เป็นเหตุการณ์ในเหมืองแร่ ลงในพิมพ์ไทยรายเดือน พ.ศ.2495 คุณ

ประมูล อุณหธุป เป็นบ.ก. ได้ค่าเรื่อง 80 บาท บ.ก.ขออีก ผมกำลังมือขึ้น เขียนส่งอีก จำชื่อเรื่องไม่ได้ แต่ไม่มีเสียงสะท้อนจากคนอ่านเหมือนเรื่องแรก ผมโยนปากกาเข้าถังแร่เลย”           

กว่าอาจินต์  ปัญจพรรค์จะก้าวบนถนนสายน้ำหมึกได้อย่างทระนง ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แสนเค็ญเช่นเดียวกับทำงานเหมืองแร่ เพียงแต่เป็นคนละแบบ ทำงานเหมืองแร่ ใช้แรงกาย ส่วนเขียนหนังสือ ใช้แรงงานสมองในการขับเคลื่อน  แม้จะมีเรื่องสั้นเกี่ยวกับเหมืองแร่ตีพิมพ์ จนเป็นที่ชื่นชอบของคนอ่าน หากเมื่อนำไปเสนอสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เพื่อพิมพ์รวมเล่ม กลับไม่มีสำนักพิมพ์ไหนต้อนรับ

“เถ้าแก่สำนักพิมพ์บอกว่า เรื่องสั้นขายไม่ได้เหมือนนวนิยาย  นวนิยายขายดี ยุคนั้นนวนิยายของนักเขียนหญิงขายดิบขายดี  นวนิยายของพี่อุ่ม(ชอุ่ม ปัญจพรรค์-พี่สาว)ขายดีมาก ผมตัดสินใจลงทุนพิมพ์เอง 2 พันเล่ม ตอนนั้นยังไม่มีชื่อสำนักพิมพ์โอเลี้ยงห้าแก้วนะ ไก่อ่อน แห่งเดลินิวส์เขียนเชียร์ ขายหมดเกลี้ยงภายใน 2 สัปดาห์”           

ไม่ขอสาธยายประวัติ  เพราะไม่ได้เขียนชีวประวัติ ซี่งป็นข้อมูลดิบ  นักอ่านส่วนใหญ่รู้ ถ้าไม่รู้ สมัยนี้หาอ่านได้ในเน็ตที่มีอยู่มากมาย นักเขียนเก่าลายครามระดับอาจินต์ ปัญจพรรค์ น่าจะมีเยอะ           

สมัยโบราณ ขอใช้คำนี้ หรือแม้แต่ยุคหลังที่ยังมีนิตยสารน้อย  ยังไม่มีนิตยสารมากมายดาษดื่นหลายร้อยหัว(กว่า 20 ปีก่อนมีราว ๆ 600 หัว) กว่าจะได้ลงเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งและกว่าจะได้เป็นนักเขียน แสนลำบากยากเย็น  ผมเคยถาม “พี่อาจินต์”ว่า สมมุติว่าถ้าไม่ได้เป็นกรรมกรเหมืองแร่ คิดว่าจะได้เป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงไหม ก็ได้รับคำตอบว่า           

“ผมก็จะสมัครงานหนังสือพิมพ์ เป็นนักหนังสือพิมพ์ให้ได้ เพื่อเอาภาษาไทยออกมาเผยแพร่ ไม่ต้องแต่งเรื่องก็ได้ เพราะผมรักการอ่าน  ผมอ่านหนังสือแตกตั้งแต่อยู่ประถม 3 ผมอ่านหนังสือวัดเกาะที่พี่อุ่ม(ชอุ่ม ปัญจพรรค์  ผู้เขียน “ทัดดาว บุษยาฯลฯ)ไปเช่ามา เป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ ปลาบู่ทอง นางสิบสอง โสนน้อยเรือนงาม แก้วหน้าม้า พระรถเมรี เล่มละสลึง เนื้อที่ครึ่งปกล่างพิมพ์ว่า           

“เล่มสลึงพึงซื้อท่านผู้รู้

ร้านหนังสือหน้าวัดเกาะเพราะหนักหนา

ราษฎร์เจริญโรงพิมพ์ริมมรรคา

เชิญท่านมาซื้อดูคงรู้ดี...”

พ่อของผมรับหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ด้วย ในเล่มมีนิทาน การ์ตูนให้เด็กอ่าน หนังสือ

อีกเล่มที่พ่อรับคือ ลูกเสือสยาม มีเรื่องเกี่ยวกับลูกเสือ ลูกเสือผจญภัย ลูกเสือจับผู้ร้าย ผมอ่าน

แม้กระทั่งโฆษณาในหนังสือพิมพ์ ป้ายติดตามเสาไฟฟ้า สมัยนั้นวิทยุมีของทางราชการสถานีเดียว ยังไม่มีการโฆษณา  อย่างยาสีฟันเด็นตอล จะพูดกันว่า ‘ยิ้มเด็นตอล’ แล้วมีคู่แข่งชื่อ ‘แปะ-แป๊ะ’ ภาษาจีนแปลว่า ‘ขาว- ขาว’ มีคำพูดกันว่า ‘ยิ้มแปะแป๊ะ’ เลยมีคำสำหรับคนเลี่ยมฟันทองว่า ‘ยิ้มโต๊ะกัง’ เพราะตั้งโต๊ะกังเป็นร้านทองที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ”ดวงตาของ “พี่อาจินต์”มีประกายอิ่มสุขที่ได้เล่าถึงอดีตครั้งวัยเยาว์           

หลายคนคงจำได้ว่า ช่วงแรกอาจินต์  ปัญจพรรค์ยังไม่มีชื่อเสียงขจร ความที่มีความรักในภาษาไทย ได้เอาภาษาไทยออกมาเผยแพร่คือ เป็นบรรณาธิการไทยโทรทัศน์ รายเดือน ของจำนง รังสิกุล ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทไทยโทรทัศน์ทางช่อง 4 บางขุนพรม มีคอลัมน์สำหรับนักเขียนใหม่ชื่อ “คนสวยของฉัน” นิมิต ภูมิถาวรประเดิมการเขียนที่เวทีแห่งนี้           

จากการเป็นบรรณาธิการหนังสือฉบับแรก ได้ก้าวไปสู่การเป็นบรรณาธิการฟ้าเมืองไทยที่ดังก้องทั่วฟ้าเมืองไทยสมชื่อ ตามมาด้วย ฟ้าเมืองทอง,ฟ้าอาชีพ,ฟ้านารีและฟ้า รายเดือน ในช่วงที่รับหน้าที่บรรณาธิการอันหนักอึ้งหลายฉบับ โดยเฉพาะฟ้าเมืองไทย ก็ยังเขียนเรื่องสั้นและนวนิยายลงในบางโอกาส นับว่าเป็นการทำงานที่หนักมาก  แต่จากการผ่านเบ้าหลอมชีวิตในเหมืองแร่ ได้หล่อหลอมผู้ชายคนหนึ่งจนมีจิตใจแข็งแกร่งและทรหด พร้อมที่จะเผชิญอุปสรรคที่ขวางหน้า           

ตอนที่พ่อแม่ของผมยังพอช่วยเหลือตัวเองได้ ผมไปเยี่ยม“พี่อาจินต์”บ่อยครั้ง เรานั่งสนทนากันที่หน้าบ้าน ซึ่งเป็นบ้านที่อยู่สุดซอย มีต้นไม้พอให้ความร่มรื่นบ้าง คุยกันไปพลาง ดื่มน้ำเปล่าไปพลางตั้งแต่บ่ายจนถึง 6 โมงเย็นก็มี           

 “พี่อาจินต์”เลิกเหล้ามาหลายสิบปีแล้ว ครั้งที่ทำงานเหมืองแร่ ทั้งเหล้า ทั้งบุหรี่ ทั้งผงแร่ที่ฟุ้งกระจาย เพราะต้องถือฆ้อนเหล็กหนักอึ้งถึง  16  ปอนด์ ทุบถ่านหิน จนร่างกายสุดต้านทาน ไอเป็นเลือด           

“คนเราคุยกันสนุก ถูกคอ มันก็ลืมเวลา”           

“พี่อาจินต์”พูดปนยิ้ม ผมยิ้มตอบ มันเป็นเช่นนั้นจริงๆ เวลาแห่งความสุขผ่านไปเร็ว เวลา

แห่งความทุกข์คืบคลานไปช้า ครั้งต่อ ๆ มาที่ไปเยี่ยม นับจากครั้งแรกที่ไปสัมภาษณ์  พอรู้ว่าผมเลี้ยงพ่อแม่ที่แก่ชรา “พี่อาจินต์”เพ่งมองผมพลางพูดขึ้นเสียงดังฉะฉาน           

“ผมชอบคนกตัญญู คนกตัญญูดีกว่าคนเขียนหนังสือเก่ง แต่ไม่กตัญญูต่อพ่อแม่ คนกตัญญูตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ เชื่อผม ผมแก่แล้ว ใครกตัญญูต่อพ่อแม่ ผมยกย่อง ใครไม่สนใจพ่อแม่ ก็ช่างเขา เขาแก่แล้ว เขาจะรู้เองว่าเป็นยังไง”           

วาทะที่คมคายประโยคหนึ่งที่ผมจดไว้ในสมุดโน้ต เหมือนประโยคอื่น ๆ ผมใส่วงเล็บต่อท้ายไว้ด้วยว่า(อาจินต์ ปัญจพรรค์ 3 พ.ค. 40))....           

“กว่าเดินทางของน้ำนมแม่สู่ปากลูก ยิ่งใหญ่กว่าการเดินทางของมหาราชกรีฑาทัพ”      

(อ่านต่อตอนหน้า)