รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาของการระบาดของโควิด-19 องค์กรเกิดการเรียนรู้ใหม่ ตามรายงานของ Glassdoor เว็บไซต์หางานระบุว่า ร้อยละ 70 ของบุคลากรต้องการให้แบ่งสัปดาห์การทำงานเป็นการทำงานที่บ้านกับการทำงานในที่ทำงาน ส่วนร้อยละ 26 ต้องการทำงานที่บ้านอย่างเดียว และร้อยละ 4 ต้องการทำงานในที่ทำงานเท่านั้น ดังนั้นองค์กรในวันนี้และในอนาคตจะแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมานับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป องค์กรจะต้องมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ลำดับชั้นลดลง และมีความหลากหลายยิ่งขึ้น (อ่านเพิ่มเติม - https://www.mckinsey.com/business-functions/strategy-and-corporate-finan... https://ideas.darden.virginia.edu/new-normal-future-of-work)

...ความคิดเห็นของนักวิชาการและนักบริหาร...

Professor Lynn Isabella กล่าวไว้ในบทความ “The Hybrid Workforce” ว่า การที่บุคลากรชอบทำงานแบบระยะไกล (Remote working) เพราะต้องการลดการเดินทาง ซึ่งจะทำให้ชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัวลงตัวได้ง่ายขึ้น

Professor Sean Martin อาจารย์ที่ University of Virginia's Darden School of Business ชี้ให้เห็นจากผลการวิจัยว่าปัจจัยด้านวัฒนธรรมองค์กร (Organizational culture) และด้านบริบททางสังคม (Societal contexts) มีผลต่อผู้นำ (Leader) และผู้ตาม (Follower) บุคลากรเริ่มตั้งคำถามกับตนเอง เช่น ต้องการใช้เวลาที่ไหน? เวลาที่ใช้ไปคุ้มค่าหรือไม่? และหากองค์กรต้องการรักษาบุคลากรเอาไว้ก็ต้องรับฟังความต้องการของบุคลากรและมีความยืดหยุ่น

Mr.Desmond Dickerson ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดงานในอนาคต (Future of Work Marketing) บริษัทไมโครซอฟต์ เชื่อว่าสถานที่ทำงานในอนาคตจะเป็น ‘สถานที่ทดลอง’ (Experimentation) บุคลากรของไมโครซอฟต์ชอบทำงานจากที่บ้านเพราะคิดว่ามีประสิทธิผลมากกว่า แต่ขณะเดียวกันบุคลากรก็เผชิญกับสภาวะหมดไฟในการทำงานสูงขึ้น ทำให้บริษัทต้องทดลองหาวิธีทำให้บุคลากรกลับมามีชีวิตชีวาในการทำงาน หันมาดูแลเรื่องสุขภาพจิต (Mental health) และพัฒนาแนวคิดเรื่องการฟื้นฟูประสิทธิภาพการทำงาน (Regenerative Performance)

แม้ว่าภาวะผู้นำในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ก็เป็นโอกาสของการแสวงหาวิธีทำงานใหม่ ๆ ที่ครอบคลุม (Inclusive) และยั่งยืน (Sustainable) ยิ่งขึ้นสำหรับอนาคต เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหลังยุคโควิด-19 ผู้นำต้องทำมากกว่าการปรับเปลี่ยนการทำงานประจำ ผู้นำต้องคิดใหม่ว่าจะทำงานอย่างไร เหตุผลเพื่อการคงอยู่ขององค์กรเพื่ออะไร ผู้นำต้องมองย้อนกลับและพิจารณาไตร่ตรองในมุมมองที่กว้างกว่าเก่า  (อ่านเพิ่มเติม - https://atos.net/en/blog/fast-forward-to-the-future-of-work-leadership-i...)

...หลังโควิด-19 ผู้นำต้องเป็นผู้กำหนดทิศทางและผู้ขับเคลื่อนองค์กร...

แน่นอนว่าการระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่งก่อให้เกิดแนวโน้มหลายอย่างที่จะมีบทบาทต่อเศรษฐกิจโลก (Global economy) ในอนาคต แต่ผู้นำต้องสามารถลำดับความสำคัญให้ได้ว่าจะทำสิ่งใดก่อนหลัง ซึ่งผู้บริหารระดับโลกมองว่า สิ่งสำคัญ 5 ประการที่ผู้นำควรคำนึงถึงในยุคหลังโควิด-19 ประกอบด้วย

1. ความยั่งยืนคือจุดเน้นยุทธศาสตร์ (Center strategy on sustainability) – การดำเนินกิจกรรมใด ๆ หลังโควิด-19 ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 

2. การปรับเปลี่ยนมาทำงานบนคลาวด์ (Transform in the cloud) – การเปลี่ยนแปลงมาทำงานบนระบบคลาวด์จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับองค์กร คลาวด์มีความสำคัญต่อนวัตกรรม เพราะปัจจุบันระบบคลาวด์มีความสามารถสูงขึ้นกว่าเดิมทั้งในด้านความเร็วและขนาด (speed & scale)

3. การบ่มเพาะความสามารถพิเศษ (Cultivate your talent) – ความสามารถพิเศษเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กร องค์กรชั้นนำต่างให้ความสำคัญกับวิธีพัฒนาความสามารถพิเศษ เช่น โค้ชและสนับสนุนทีมงานขนาดเล็ก นำมาปรับใช้ตามทักษะ ไม่แบ่งลำดับชั้นการทำงาน จัดฝึกอบรมและพัฒนาในเรื่องที่อ่อนหรือไม่รู้ และส่งมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับบุคลากร

4. ความเร็วเป็นความกดดันแต่ก็จำเป็น (Press the need for speed) - โควิด-19 ทำให้องค์กรต้องคิดเร็วและทำเร็ว สิ่งสำคัญแรกสุดในขณะนี้คือ การรักษาความเร็วนั้นไว้โดยการออกแบบให้องค์กรสามารถทำงานได้ด้วยความรวดเร็ว ให้มองว่าความเร็วเป็นสิ่งที่ต้องพัฒนา ยอมลงทุนในเทคโนโลยีที่สนับบสนุนการทำงานร่วมกัน ต้องคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลง และเน้นที่ผลลัพธ์

5. การดำเนินการอย่างมีวัตถุประสงค์ (Operate with purpose) – บุคลากรต้องการรู้และเข้าใจว่าตนเองทำงานไปเพื่ออะไร และอาจจะลาออกถ้าทำงานโดยไม่เข้าใจถึงวัตถุประสงค์นั้น ๆ องค์กรที่ดำเนินงานอย่างมีวัตถุประสงค์จะช่วยสร้างมูลค่าได้ในระยะยาว แม้ว่าตัวเงิน(กำไร)จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ผู้คนก็ยังคาดหวังในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเงินด้วยเช่นกัน

...โลกหลังโควิด-19 คงมีหลากหลายอย่างที่ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว...

...ผู้นำต้องเปลี่ยน ปรับ และรับมือให้ทันทั้งคน เทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่ยากต่อการคาดเดา...