รศ.ดร.ไชยา ยิ้มวิไล ถึงแม้จะผ่านไปแล้วเพียง 3 วันเท่านั้น แต่บรรดาข้าราชการที่อายุ 60 ปีไปแล้วต่างเกษียณกันถ้วนหน้า บางท่านอาจยังคงตื่นแต่เช้าและฟิตที่อยากทำงานต่อไป แต่ความจริง “หลักสัจจธรรม” ที่เราต้องตระหนักว่า “ไม่มีอะไรยั้งยืนยง!” หรือ “อนิจจัง” ที่ไม่มีใครสามารถหยุดยั้งเวลาได้ เมื่อถึงเวลาเกษียณก็ต้องเกษียณ! งวดนี้ขอเบาๆ สบายๆ แก่ “ผู้สูงวัย” ทั้งหลายที่อาจจะคิดว่าอายุเยอะแล้วก็เป็นได้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมยุคปัจจุบันอายุ 60 ปีไม่ว่าชายหรือหญิงนั้นต้องยอมรับว่า “ยังฟิตอยู่!” และมีจำนวนมากที่ยังคงสามารถทำงานได้อีกไม่น้อยกว่า 5 ปี หรืออายุ 65 ปี หรือบางท่านอาจยังคงทำงานได้จนถึงวัย 70 ปีเลยทีเดียว! เหตุผลสำคัญที่ทำให้บรรดาผู้คนที่เข้าวัยซีรีส์ 6 หรือ 60 ปีนั้น ในโลกยุคใหม่ต้องนับว่า “แพทย์แผนปัจจุบัน” บวกกับ “บรรดายาทั้งหลาย” ที่สามารถนำการบำรุงรักษา และแน่นอน “อุปกรณ์การแพทย์” ที่นับวันทันสมัยมากยิ่งขึ้น จนทำให้อาการสึกหรอของร่างกายสามารถยืดยาวทางอายุขัยออกไปได้นับสิบปีทีเดียว ทั้งนี้ เราจะสังเกตได้ว่า ผู้เสียชีวิตจากอดีตถึงปัจจุบันที่อายุคนเรายืนยาวมากขึ้น บางคนวัย 85-90 ปียังคงเดินเหินได้อย่างคล่องแคล่ว และบางท่านยังสามารถเข้าร่วมแข่งขันไม่ว่าเดินเร็วหรือวิ่งแข่งได้ ชาวอาทิตย์อุทัยวัย 100 กว่าปียังคงร่วมเดินเร็วหรือแม้กระทั่งวิ่ง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า คนเราเมื่อหลังเกษียณแล้ว ประการแรกต้องดูว่าร่างกายยังคงแข็งแรงอยู่หรือไม่ ประการสอง ถ้าคนเราพยายามดูแลรักษาตัวเองด้วยการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มิทานอาหารมันมากเกินไป แต่รับประทานบรรดาผักผลไม้มากกว่าเนื้อสัตว์ เพื่อป้องกันโรคอ้วนและความดันโลหิตสูง กล่าวอย่างภาษาชาวบ้านว่า “สร้างความสมดุลในการรับประทานอาหาร” ประการที่สาม บรรดาสมุนไพรที่นับวันจะมีการบริโภคกันมากขึ้น ด้วยการค้นคว้าของแพทย์แผนโบราณและแพทย์แผนใหม่ ที่ทำให้เกิดการค้นพบการรับประทานสมุนไพรเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย ตลอดจนช่วยบำรุงร่างกายไปในตัว จนผมเองยังยอมรับว่า ทานยาสมุนไพรไม่น้อยกว่า 4-5 อย่างทุกวัน อาทิ น้ำมันปลาเพื่อป้องกันมิให้เลือดข้น ทานเห็ดหลินจือช่วยบำรุงร่างกายสารพัดอย่าง และแน่นอนสมุนไพรพืชผักไทยไม่ว่า ใบโหรพา ใบกะเพรา ใบมะกรูด พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า ขมิ้น กระชาย เป็นต้น ที่ผมโปรดปรานมาก! จากการบริโภคที่ปฏิบัติมานานหลายสิบปี ส่งผลกระทบที่อาจทำให้ผมยังคงมีร่างกายที่น่าจะแข็งแรงอยู่ สามารถจำความได้ และทำงานได้อย่างปกติ เพียงแต่เดินเหินอาจจะเจ็บหัวเข่าบ้าง เท้าบวมบ้าง เนื่องด้วยออกกำลั กายด้วยการเดินเร็วบ้าง จ๊อกกิ้ง และวิ่งบ้าง แต่สารภาพว่าอาจใช้ร่างกายมากจนเกินไปจนเสื่อมสภาพลงบ้าง ทั้งนี้ ต้องบอกว่า จากการออกกำลังกายจนติดเป็นนิสัยที่ว่าวันใดไม่ได้ออกกำลังกาย จะเกิดอาการหงุดหงิดบ้าง เนื่องด้วยออกกำลังกายติดต่อกันมาหลายสิบปี จนสารเอ็นโดฟินหลั่งจะก่อให้เกิด “ความปิติ” ที่เกิดจากสมองทำให้สดชื่นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ผ่านไปแล้ว 3 วัน หลายท่านยังคงอาจงงๆ อยู่บ้าง โดยไม่ต้องไปทำงานเลย ก็อาจอยู่เฉยๆ ซักระยะหนึ่ง น่าจะประมาณ 2 สัปดาห์หรือจะให้ดีอาจอยู่นิ่งๆ พักผ่อนไปซักหนึ่งเดือน แล้วค่อยๆทบทวนฉุกคิดว่า “จะทำอะไรดี” เพราะว่ายังคงแข็งแรงอยู่ ที่ไม่ควรหมดอาลัยตายอยาก หรือนั่งๆ นอนๆ จนกล้ามเนื้ออาจขี้เกียจและเกิดความล้าในการขยับเขยื้อน จนเกิดพังพืดเกาะติดตามข้อก็เป็นได้ ซึ่งต้องบอกว่าเป็น “อาการป่วยทั้งทางจิตใจและร่างกาย” ในที่สุด ขอแนะนำว่า เมื่อพักได้สักระยะหนึ่ง สมควรต้องทำอะไรบ้าง เนื่องด้วยขอย้ำว่า “ร่างกายและสมอง” ยังคงแข็งแรอยู่เพียงแต่ “จิตใจ” เท่านั้นที่อาจจะห่อเหี่ยวหรือไม่อย่างไร ต้องขึ้นอยู่กับการปรับสภาพจิตใจตนเอง และแน่นอน “ยอมรับความจริง!” หนึ่ง ทบทวนชีวิตที่ไม่ว่ารับราชการมาหรือทำงานภาคเอกชน มาว่าใช้เกร็ดความรู้เชิงประสบการณ์อะไรมาบ้าง แล้วนำมาเรียบเรียงหรือจดลงแผ่นกระดาษ อาจจะเยอะไปบ้างดังนั้นควรใส่กล่องเอาไว้แล้วเขียนที่กล่องว่า “เกร็ดประสบการณ์จากการทำงาน” สอง หนังสือหรือเอกสารที่ได้ทั้งอ่านและเขียนมาด้วยการรวบรวมเพื่อนำมาประกอบกับประสบการณ์จากข้อหนึ่ง ว่าได้ทำอะไรไปบ้าง อาจมีผิดบ้างถูกบ้าง แล้วนำมาใส่กล่องเพื่อนำมาใช้ในอนาคต สาม เมื่อนึกอะไรได้ ก็นำมาเขียนลงบนกระดาษหรือมีเครื่องมืออัดเสียง อาจเป็นเทปเสียงก็ได้ แล้วนำมานั่งเล่าลงเครื่องอัด หรือจดลงกระดาษซึ่งอาจจะดูแล้ว “ไร้สาระ” แต่เชื่อเถอะว่า ท่านจะได้ “เกร็ดความรู้-เกร็ดประสบการณ์” อย่างมากมายเมื่อนำมาประกอบกับข้อหนึ่งและข้อสอง สี่ เมื่อสามารถนำมาเรียบเรียงได้ด้วยความมุ่งมั่น หรือถ้าไม่สามารถทำได้อาจจ้างบรรดานิสิตนักศึกษาหรือลูกน้องเก่าให้เข้ามาช่วยเรียบเรียงได้ แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ด้วยภาษาที่เรียบง่าย เพื่อให้คนทุกระดับทุกวัย ทุกระดับการศึกษาได้อ่านได้อย่าง “สนุก” ขอย้ำว่า “ต้องสนุก-เรียบง่าย” ห้า และเมื่อนำมาเรียบเรียงจนหาสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์ได้ อาจจะทำในเชิงธุรกิจด้วยการขายหนังสือแล้วนำเงินไปบริจาคกับมูลนิธิบางแห่ง และอาจเก็บเงินเอาไว้ใช้บ้าง ทั้งนี้ เงินบริจาคมูลนิธิเท่ากับท่านได้ทำประโยชน์แก่ครอบครัวกับชุมชน และสังคมในที่สุด ทั้ง 5 ข้อนี้อาจจะมีมากกว่านี้ก็ได้ สุดแล้วแต่ว่าท่านจะทำอะไร ซึ่งเมื่อครบวัยเกษียณแล้ว ถ้าเรายังคงสามารถทำประโยชน์ได้ด้วย “การสร้างคุณค่า” ให้เกิดแก่ตนเองด้วยการไม่ต้องพึ่งพาใครมากมายนัก แต่กลับทำประโยชน์ให้เกิดแก่ชุมชนและสังคมในที่สุด ด้วยการอาจเดินสายบรรยายถึงประสบการณ์การทำงานของท่าน โดยอาจได้ค่าตอบแทนบ้างไม่มากก็น้อย หรือไม่ก็ท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ แต่ต้องบันทึกไว้เพื่อนำมาเรียบเรียงเขียนหนังสือได้ โดยปัจจุบันนี้ภาครัฐกำลังพิจารณาที่จะให้สาขาอาชีพต่างๆ ที่ยังทำประโยชน์ได้เกษียณที่วัย 65 ปี และ 70 ปี ซึ่งปัจจุบันอาชีพครูบาอาจารย์เกษียณได้ที่วัย 65 ปี และบรรดาผู้พิพาษาทั้งหลายเกษียณวัย 70 ปี ทั้งนี้ ขอขอบพระคุณบรรดา “ผู้อาวุโส” ที่อาจคิดว่า “แก่” ก็เป็นได้ แต่ผมเชื่อว่าทุกท่านยังคงทำประโยชน์ได้อย่างมากมาย...โชคดีครับ!