สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ที่เป็นผลกระทบจากราคาน้ำมันทำให้ค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนสูงขึ้น โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อสัปดาห์ก่อน ที่ประชุมได้หารือ สถานการณ์ราคาพลังงานหลังจากการปรับราคาดีเซลขึ้นมาที่ลิตรละ 35 บาท โดยกระทรวงพลังงานได้รายงานแนวทางการปรับค่าการกลั่นเพื่อให้มีส่วนช่วยราคาน้ำมัน ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบน.) ได้ตั้งคณะอนุกรรมการบริหารจัดการราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในช่วงวิกฤติ

ซึ่งในการประชุม คณะรัฐมนตรี มีรัฐมนตรีหลายคนสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับค่าการกลั่นที่สังคมกำลังสนใจในขณะนี้ โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยืนยันในที่ประชุม ครม.ว่าต้องใช้กฎหมายของกระทรวงพลังงาน

ขณะที่กระทรวงพลังงานหารือกลุ่มโรงกลั่นมากกว่า 1 เดือน ซึ่งการเก็บเงินค่าการกลั่นเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ในขั้นการตรวจสอบทางกฎหมายโดยสำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานคณะกรรมการอัยการ ซึ่งจะพิจารณาใช้ พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 เข้ามา ดำเนินการ และดำเนินการด้วยความรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ให้โรงกลั่นฟ้องร้องเพราะเป็นธุรกิจเสรี

นอกจากนี้ กระทรวงพลังงานจะเข้าไปเก็บกำไรส่วนเกินจากหน้าโรงกลั่นน้ำมัน หรือเรียกว่า ภาษีลาภลอย หรือ Windfall Tax เพื่อนำไปใส่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อบริหารจัดการให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดย เบื้องต้นจะใช้มาตรการ 14 ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมัน ดำเนินการ คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน เดือน มิ.ย.นี้

ขณะที่วอร์รูมหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ระบุ ได้หารือกับหน่วยงานเศรษฐกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเรียกประชุม เพื่อพิจารณามาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจของประชาชน

เพื่อเร่งออกชุดมาตรการดูแลเศรษฐกิจให้ทันช่วงก่อนที่มาตรการเดิมจะหมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายนนี้ เพื่อให้การดูแลประชาชนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

สำหรับมาตรการใหม่ที่เพิ่มเข้ามา คือ มาตรการดูแลราคาดีเซล ซึ่งจะพิจารณาการนำค่าการกลั่นและการเก็บเงินหน้าโรงแยกก๊าซเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะมีการตรึงราคาดีเซลที่ลิตรละ 35 บาท จนกว่าจะมีมาตรการใหม่ออกมา ส่วนมาตรการที่ยังคงดำเนินการต่อ คือ มาตรการช่วยเหลือครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจกำลังพิจารณา โดยหากจำเป็นก็ต้องทำต่อเนื่อง ส่วนที่กระทรวงการคลังบอกว่าไม่มีโครงการคนละครึ่งก็ต้องดูข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะอาจไม่ได้ใช้ชื่อมาตรการเดิมก็เป็นได้

ทั้งนี้ เราเห็นว่า ปัญหาค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน เป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข แก้โจทย์ปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ และพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส แม้จะเป็นโจทย์ยากก็ตาม