ทวี สุรฤทธิกุล

 

“ล้างมือ” ก็คือ “ล้างมือในอ่างทองคำ” ที่หมายถึงการจบบทบาททางอำนาจบางอย่าง ซึ่งในที่นี้ก็คือการยุติบทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรี

                  

ตอนที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2523 ผู้เขียนเพิ่งจบการศึกษาจากการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกร์มหาวิทยาลัย และได้เริ่มทำงานเป็นเลขานุการของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่เป็นพรรคแกนนำของรัฐบาลชุดนั้น จึงได้เห็นหลายสิ่งหลายอย่างทางการเมืองของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งพลเอกเปรมได้ “ล้างมือในอ่างทองคำ” ยุติบทบาทการเป็นนายกรัฐมนตรีในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 โดยตัวผู้เขียนก็เพิ่งได้บรรจุเข้าเป็นอาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ 1 ปีพอดี ซึ่งการลาออกของพลเอกเปรมในปีนั้นเป็นที่ฮือฮาของผู้คนเป็นอย่างมาก ด้วยประโยคที่ดังลั่นสนั่นเมืองจากปาก “ป๋าสุดหล่อคอเอียง” ที่พูดว่า “ผมพอแล้ว”

                  

พลเอกเปรมขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบที่เรียกว่า “ฟ้าสั่ง” โดยสื่อมวลชนในยุคนั้นใช้คำว่า “มีข้อมูลใหม่” เรื่องขอเรื่องก็คือ รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ที่ตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้งในตอนต้นปี 2522 กำลังประสบปัญหาในสภาอย่างหนัก ด้วยทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2521 ที่คณะทหารได้กำกับให้ร่างขึ้น นัยว่าได้เขียนให้คณะทหารที่ต้องได้เป็นรัฐบาลสืบทอดมานั้นได้เปรียบทุกรูปแบบ(คล้ายกันกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เปี๊ยบเลย) ได้ตีรวนเอาใจออกห่างจากคณะทหารที่แต่งตั้งและ “จัดตั้ง” พวกเขาเข้ามา (ส.ว.นั้นคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่มีพลเอกเกรียงศักดิ์ ขมะนันท์ เป็นเลขาธิการ แต่งตั้งขึ้นมาทั้งหมด ส่วน ส.ส.ก็มาจากการเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ได้เขียนไว้ไม่ให้สังกัดพรรค เพื่อให้คณะทหารสามารถรวบรวม ส.ส.ทั้งหลายให้มาหนุนรัฐบาลได้สะดวกขึ้น โดยใช้ตำแหน่งรัฐมนตรีและผลประโยชน์ทางการเมืองต่าง ๆ หว่านล้อม) เพราะว่าได้เกิด “ข้อมูลใหม่” เริ่มต้นว่าพลเอกเกรียงศักดิ์ไม่มีความเหมาะสมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป (ว่ากันว่าเป็นเพราะนโยบายปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างแข็งกร้าวของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ที่มีมาตั้งแต่หลังทำรัฐประหาร วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้มีผู้คนหนีการไล่ล่าของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก จนแผ่นดินลุกเป็นไฟไปทั่วราชอาณาจักร ประชาชนใต้เบื้องพระยุคลบาทจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก)

                  

“ข้อมูลใหม่” ต่อมาก็คือ พวกทหารหนุ่มที่เป็นกำลังสำคัญในการทำรัฐประหารมาในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ได้รับบำเหน็จรางวัลให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา ไม่มั่นใจในตัวของพลเอกเกรียงศักดิ์ว่าจะสามารถฟื้นฟูภาพลักษณ์ของทหารที่เสื่อมเสียมาตั้งแต่ครั้ง “ถนอม - ประภาส – ฌรงค์” 3 ทรราชย์ในครั้งเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 สืบเนื่องมาถึงคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินของพลเอกเกรียงศักดิ์นั้นได้ จึงเริ่มมองไปที่ผู้นำทหารคนใหม่ ซึ่งตอนนั้น “สปอตไลท์” ได้ฉายส่องไปที่ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ที่ตอนนั้นอยู่ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เนื่องด้วยเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เป็นที่นับถือกันว่าเป็นผู้ที่มีความจงรักภักดีเป็นที่ยิ่ง พวกทหารหนุ่มจึงเริ่มแผนที่จะเอาพลเอกเปรมขึ้นมาแทนที่

                  

ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลของพลเอกเกรียงศักดิ์ยังได้เจอกับปัญหาน้ำมันมีราคาแพงและขาดแคลน จึงเป็นจังหวะเหมาะที่จะแซะเก้าอี้รัฐบาล โดย ส.ส.ในฟากฝ่ายที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลได้ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขอถอดถอนนายกรัฐมนตรี พร้อมกับที่ ส.ว.ในฝ่ายทหารหนุ่มก็อยากเอาพลเอกเกรียงศักดิ์ออกจากตำแหน่งพอดี ดังนั้นในวันที่สภาได้ประชุมจะให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พลเอกเกรียงศักดิ์ก็ชิงลาออกกลางสภา ด้วยถ้อยคำที่แสดงความน้อยใจและเสียใจอย่างมาก ที่ไม่ได้รับความไว้วางใจทั้งจากเบื้องบนและเบื้องล่าง ซึ่งภายหลังที่พลเอกเกรียงศักดิ์ลาออกได้เพียง 2 - 3 วัน สภาก็เสนอชื่อพลเอกเปรมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

                  

ในช่วงที่ “ข้อมูลใหม่” แพร่หลายเข้าไปในหมู่ ส.ว.และ ส.ส. ก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลนั้น ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ก็เขียนบทความสนับสนุนการเคลื่อนไหวของสมาชิกรัฐสภาร่วมด้วย พร้อมทั้งได้กล่าวถึงพลเอกเปรมไปด้วย เพียงแต่เป็นการเขียนถึง “ความจงรักภักดี” ของพลเอกเปรม เหมือนจะบอกเป็นนัย ๆ ว่า ผู้นำประเทศคนต่อไปต้องเป็นนายทหารคนนี้ ซึ่งเหตุการณ์ก็เป็นไปเช่นนั้นจริง ๆ และสิ่งที่ภาระที่มั่นคงในการสนับสนุนพลเอกเปรมก็คือ ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ต้องร่วมคอยประคับประคองรัฐบาลของพลเอกเปรมอยู่จนถึง 8 ปีเศษ แม้ในบางช่วงจะถูกปรับออกจากรัฐบาล แต่ด้วยความเป็น “ไฟต์บังคับ” ทำให้ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ถอนตัวไม่ได้ จำเป็นต้องอยู่ “ค้ำยัน” เป็น “เสาหลักประชาธิปไตย” ให้รัฐบาลชุดนั้นไปโดยตลอด

                  

ในตอนต้นปี 2531 ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์เพิ่งกลับจากการผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือดหัวใจที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยผู้เขียนได้ลาราชการติดตามไปดูแลท่านด้วยอยู่เกือบ 2 เดือน และก็ยังมาช่วยดูแลอยู่ที่บ้านสวนพลูต่อมาอีกระยะหนึ่ง วันหนึ่งได้รับโทรศัพท์บอกว่าเป็นอาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช จะขอเข้าพบเพื่อปรึกษาเรื่อง “การถวายฎีกา” โดยในวันที่อาจารย์ชัยอนันต์มาพบก็ได้มีอาจารย์คนอื่น ๆ อีก 2 - 3 คนมาร่วมด้วย โดยสื่อมวลชนเรียกฎีกาในครั้งนั้นว่า “ฎีกา 99 นักวิชาการ” เพราะมีนักวิชาการจากหลาย ๆ มหาวิทยาลัย ซึ่งก็มีชื่อของผู้เขียนร่วมด้วยคนหนึ่ง ในฐานะอาจารย์ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (ตอนนั้นผู้เขียนยังใช้ชื่อและนามสกุลเดิม คือ ทวีศักดิ์ พันธุ์สุระ เผื่อท่านใดจะไปค้นกูเกิลอ่าน)

                  

“ฎีกา 99 นักวิชาการ” น่าจะส่งผลอยู่พอสมควร เพราะต่อมาไม่นานพลเอกเปรมก็ประกาศยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนกรกฎาคม 2531 ซึ่งภายหลังการเลือกตั้งเมื่อสื่อมวลชนไปถามท่านว่าท่านจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกไหม ท่านก็ตอบว่า “ผมพอแล้ว” เป็นอันปิดฉากชีวิตในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือ “ล้างมือในอ่างทองคำ” ได้อย่างสวยงาม และได้ทำให้ท่านได้เป็น “รัฐบุรุษ” ในเวลาต่อมา

                  

ผู้เขียนเคยเขียนถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่ครั้งที่ได้ต้องมารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ว่าน่าจะเป็น “ไฟต์บังคับ” เพราะหาใครมาเป็นนายกที่ “ปลอดภัยต่อทุกภาคส่วน” เหมือนท่านในตอนนั้นไม่มีอีกแล้ว (หรือมีแต่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะเกลือกกลั้วในสภาได้) ดังนั้นแม้พลเอกประยุทธ์ไม่อยากจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก็ “จำเป็น” ที่จะต้อง “รับเป็น” อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

                  

ตอนนี้น้ำมันก็แพงมาก ๆ รวมถึงเสียงที่ผู้คนก็เริ่มบ่นว่าเบื่อลุงมากขึ้นเรื่อย ๆ (ดูเสียงของคนกรุงเทพฯที่ลงคะแนนเลือกคุณชัชชาติ สิทธิพันธ์ ให้เป็นผู้ว่ากรุงเทพมหานครนั้นก็ได้) รวมทั้งที่มีปัญหาขัดแย้งกันในสภามากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน (และในกองทัพก็ได้ยินว่าเริ่มมีปัญหาในหมู่นายทหารรุ่นใหม่อยู่ด้วย) อันแสดงว่าพลเอกประยุทธ์น่าจะเริ่ม “เสื่อมบารมี” บ้างแล้ว

                  

ถ้าลุงประยุทธ์อยากจะ “ล้างมือในอ่างทองคำ” แบบป๋าเปรม ก็ลองไปปรึกษานักวิชาการให้ออกมาช่วยในช่วงสุดท้ายนี้ก็ได้นะครับ