ในลิ้นชักความทรงจำ / ยูร  กมลเสรีรัตน์

 

“ยูร เราจะได้ไปเที่ยว  นั่งคุย กินด้วยกันอีกนะ”

ดวงตาของคนพูดเป็นประกายแจ่มใส รอยยิ้มน้อย ๆ ผุดขึ้นที่ใบหน้า ผมจับมือของ “พี่ทวีสุข” ทวีสุข ทองถาวร ที่ “อิงอร” (ศักดิ์เกษม  หุตาคม)  นักเขียนรุ่นใหญ่ลายครามให้ฉายาต่อท้ายชื่อ-สกุลว่า

           

“ทวีสุข ทองถาวร นักกลอนหนุ่ม ปากกาจุ่มน้ำผึ้ง แล้วจึงเขียน”

           

เพราะบทกลอนของทวีสุข ทองถาวร หวานหยดย้อยปานน้ำผึ้งและคมซึ้ง ไม่แพ้นิภา บางยี่ขัน ผู้เป็นคู่ทุกข์คู่ยาก

           

วันนั้นเมื่อกว่า 20  ปีก่อนที่ห้องรวมโรงพยาบาลศิริราช ผมจับมือของ “พี่ทวีสุข” มากุมไว้พลางสบตากัน ผมยิ้มตอบด้วยความรู้สึกดีใจและโล่งใจ เพราะอีกไม่กี่วันจะได้ออกจากโรงพยาบาล เราจะได้นั่งจิบและพูดคุยกัน  ผมไปมาหาสู่บ่อย เพราะบ้านของ “พี่ทวีสุข” อยู่จรัลสนิทวงศ์ 44 ส่วนบ้านของผมอยู่จรัลสนิทวงศ์ 35 นั่งรถเมล์เลยแยกพระปิ่นเกล้านิดเดียว ก็ถึงแล้ว

           

ก่อนหน้าที่ “พี่ทวีสุข” จะเข้าโรงพยาบาล “พี่นิภา” เล่าให้ฟังว่า “พี่ทวีสุข” ล้มตึงลงกับพื้น เคลื่อนไหวไม่ได้ หมอตรวจแล้ว ถามว่าสูบบุหรี่จัดใช่ไหม นั่นคือสาเหตุใหญ่ แต่สาเหตุที่ช่วยเสริมให้เส้นเลือดในสมองตีบเร็วขึ้นก็คือ ความเครียด

           

หลังจาก “พี่นิภา” เกษียณจากธนาคารกรุงเทพ  “พี่ทวีสุข” เครียดมาก บ่นอยู่บ่อย ๆ รายได้ในบ้านมาจาก “พี่นิภา” ทั้งสิ้น เพราะ “พี่ทวีสุข” ไม่มีรายได้อะไรเลย อย่าว่าแต่นักกลอน กวีเมืองไทยเลี้ยงชีพไม่ได้เลย แม้แต่กวีเมืองนอกก็ลำบาก ต้องมีอัจฉริยภาพสูงเหมือนอย่างวิลเลียม เชกสเปียร์ แต่นั่นคืออัจฉริยะ ต้องยกเว้น จะมีสักกี่คนในโลกที่ทำได้

         

ที่ผ่านมาไม่ใช่ว่า “พี่ทวีสุข”ไม่มีรายได้นะ ยุคหนึ่งมีรายได้ดีมาก เพราะความสามารถในการแต่งกลอนนี่แหละ ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ บางคนคงจะงงและฉงนอยู่ในทีว่า แต่งกลอนมีรายได้เป็นกอบเป็นกำเชียวหรือ เป็นไปได้ยังไง

           

คนในทุกวิชาชีพต่างมีชื่อเสียงยุคใครยุคมัน ยุคของทวีสุข  ทองถาวร เป็นยุคที่วงการเพลงไทยสากลเมื่อราว 50-60  ปีก่อน เฟื่องฟูมาก นักร้องที่ดังระเบิดในยุคนั้นได้แก่ สุเทพ วงศ์กำแหง ชรินทร์ นันทนาคร สวลี ผกาพันธุ์ ธานินทร์  อินทรเทพ ดาวใจ ไพจิตร จิตติมา  เจือใจ เป็นอาทิ ในห้วงเวลานั้นมีนักแต่งเพลงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งเกิดขึ้น นั่นก็คือ ทวีพงษ์ มณีนิล เพื่อนรุ่นน้องสถาบันเดียวกับทวีสุข ทองถาวร ชื่อเสียงของรุ่นพี่ในฐานะ “สี่มือทองธรรมศาสตร์”ของชมรมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ เลื่องลือคู่กับนิภา บางยี่ขัน ฝีมือไม่ได้เป็นรอง

           

สมัยโน้นสังคมนักเขียนกว้างมาก นักเขียน นักกลอน นักหนังสือพิมพ์และนักแต่งเพลงต่างก็มีความสัมพันธ์กัน เรียกว่ารู้จักกันหมด นักเขียนและนักกลอนได้รับการชักชวนให้ไปแต่งเพลงหลายคนได้แก่ ชอุ่ม ปัญจพรรค์ อาจินต์  ปัญจพรรค์ ฯลฯ ถ้าเอ่ยชื่อเพลงจะยืดยาว รวมทั้งทวีสุข ทองถาวร ยิ่งเอ่ยชื่อเพลงไม่ได้ จะมีปัญหาทางกฎหมาย

             

ถ้ายกตัวอย่างเพลงที่แต่งซักท่อนหนึ่ง จะร้อง “อ๋อ” เพราะแต่งให้หนึ่งในนักร้องที่เอ่ยชื่อข้างต้น แต่เพลงที่แต่งใช้ชื่อของทวีพงษ์ มณีนิล ที่ดังสุดขีดในยุคนั้น นายห้างแผ่นเสียงทองคำไม่ยอมให้ใช้ชื่อคนอื่นหรอก  ยุคนั้นถือว่าเป็นยุคทองของทวีพงษ์  มณีนิล และยังเป็นยุคทองของทวีสุข  ทองถาวรโดยปริยาย เพราะสร้างรายได้ดีมาก แต่ไม่มีชื่อปรากฏ ถ้าเป็นนักเขียน ภาษาอังกฤษเรียกว่า “Ghost writer”

           

“ตอนนั้นรายได้ดีมากเลยยูร แต่งกลอนลงหนังสือได้ 50 บาท แต่แต่งเพลง ได้เพลงละ 5 พัน ทวีพงษ์มือขึ้น นักร้องก็ดัง เขาแต่งไม่ทัน ก็ให้ผมแต่งช่วย ผมเองบางครั้งก็แต่งไม่ทัน ได้ไปแต่งหน้าห้องอัดสด ๆ เลย วงการเพลงยุคนั้นฟู่ฟ่าจริง ๆ”

           

ทวีสุข ทองถาวรเล่าความหลังครั้งรุ่งเรืองให้ฟังที่บ้านย่านจรัลสนิทวงศ์ด้วยดวงตาอิ่มสุข สุขใดเล่าจะเท่าอดีตที่หอมหวาน เอ่ยชื่อเพลงและยกตัวอย่างไม่ได้ แต่ยกตัวอย่างบทกลอนได้ว่าเด็ดขาดและโดนใจเพียงใด...

           

“อยากลบรอยเท้าเปื้อนพื้นเรือนหอ

ลบภาพคู่เคียงคลอกันต่อหน้า

ยิ่งอยากลบยิ่งกระจ่างไม่ร้างลา

เห็นตำตาตาจึงจำไว้ตำใจ”

           

“พี่ทวีสุข” ท่องให้ฟังด้วยน้ำเสียงดังฉาดฉานชัดเจนทุกถ้อยคำ พลางยิ้มกว้าง ก่อนบอกเล่าว่า...

           

“ผู้หญิงคนนั้น คนที่เรารัก เขาไปแต่งงาน ตอนนั้นมันรู้สึกเจ็บแปล๊บเลย มันตำตาตำใจมากก็เลยแต่งออกมาจากความรู้สึกในทันที”

         

ผมถามว่าผู้หญิงคนนั้นเป็นใคร “พี่ทวีสุข” สั่นหน้าบอกว่า มันเป็นอดีตนานแล้ว ใช่! อดีตผ่านไปเนิ่นนานแล้ว ผู้หญิงคนไหนเล่าจะเทียบเท่าคู่ทุกข์ คู่ยาก นิภา บางยี่ขัน กลอนบทนี้ชื่อ “ตำตาตำใจ”ถือว่าเป็นวรรคทองทวีสุข ทองถาวร ทั้งประชดประเทียด ทั้งกระทบกระแทกความรู้สึก

 

รวมอยู่ในหนังสือกลอน “กวีแก้ว” เล่มเล็กๆ บางมาก พิมพ์เมื่อปีพ.ศ.2508  “พี่ทวีสุข”บอกว่าสมัยนั้นฝากขายร้านที่ท่าพระจันทร์  ผมจำไม่ได้แม่นว่าขายเล่มละ 3 บาทหรือ 5 บาทนี่แหละ

           

“พี่ทวีสุข”เป็นคนร่างสูง ผอม แก้มค่อนข้างตอบ ตาโต ยิ้มเก่ง พูดไปยิ้มไป ยิ่งดื่มกินไป

นิภา บางยี่ขัน

พลางสูบบุหรี่ควันโขมง ยิ่งคุยจ้อ เสียงดัง บทกลอนหลั่งไหลออกมา บางครั้งฮัมและร้องเพลงที่เคยแต่งให้ฟัง พร้อมกับเล่าความเป็นมา แล้วย้ำว่า

           

“อย่าพูดไปที่ไหนนะ พูดไม่ได้ เดี๋ยวเขาจะว่าแอบอ้าง  เราแต่งเอาเงิน ไม่ได้เอาชื่อเสียง”

           

วันหนึ่ง พอเมาได้ที่ก็เล่าถึงเพลง ๆ หนึ่งว่า คืนวันนั้นกลับมาจากไปสังสันทน์กับนักแต่งเพลงรุ่นพี่คนหนึ่ง เขาจอดรถยิ่งกระต่าย “พี่ทวีสุข” อารมณ์บรรเจิด จึงเขียนเพลงบนกระโปรงหน้าของรถ เขาคนนั้นเลยเอาไปใส่เป็นชื่อตัวเองแต่ง เพลงนั้นกลายเป็นเพลงดังประจำชาติจนทุกวันนี้ ปัจจุบันนักแต่งเพลงท่านนั้นยังมีชีวิตอยู่ ชราภาพมากแล้ว

           

เขียนถึงตรงนี้ใบหน้าของ “พี่ทวีสุข” ผุดขึ้นมาในห้วงนึก รู้สึกตีบตันใจ อดคิดถึงพี่ที่ผมรักเคารพและสนิทสนมไม่ได้ ตอนกลับมาพักรักษาตัวที่บ้าน ก่อนจะเข้าโรงพยาบาลรอบสอง “พี่ทวีสุข”ได้แต่นั่งอยู่กับที่ เพราะเป็นอัมพฤกษ์ซีกหนึ่ง พูดแต่ละคำอย่างยากลำบาก ต้องลากเสียง ร่างซูบผอมผิดตา ผมยกมือไหว้  ดีที่ยังจำผมได้พลางยิ้มให้น้อย ๆ  ผมเอาสมุดลายเซ็นนักเขียนให้เซ็น จรดปากกาจะเซ็น แล้วเงยหน้าขึ้นพูด จำไม่ได้

           

วันหนึ่งตอนยังไม่ป่วย ผมไปเยี่ยม “พี่ทวีสุข” คุยกันได้พักหนึ่ง ก็ไปชะเง้อคอที่บันไดตะโกนเรียก “พี่นิภา”ที่อยู่ชั้นบน พอ “พี่นิภา”เดินลงมา ก็เอ่ยบอก ใช้สรรพนามแทนตัวว่า “เรา”

           

“ไปสั่งเบียร์ให้เราด้วย”

           

ผมเกรงใจ รีบปฏิเสธ เพราะรู้ฐานะ ส่วนผมเองก็กระเป๋าแห้ง  ยุคต้มยำกุ้ง หนักหนาสาหัส แบกภาระทั้งพ่อแม่และลูกสองคน “พี่ทวีสุข”บอกว่าเอาน่า ไม่เป็นไร แต่วันนั้นและวันเก่า ๆ ไม่มีอีกแล้ว เมื่อผมได้ข่าวในอีกไม่กี่วันหลังจากไปเยี่ยม “พี่ทวีสุข”ว่า เสียชีวิตแล้ว เพราะติดเชื้อในกระแสเลือด  ผมไปงานศพที่วัดตรีทศเทพทันทีที่ได้ข่าว เจอ “พี่นิภา”พอดี หลังจากยกมือไหว้ ก็ปลอบผมว่า

           

“ไม่ต้องเสียใจนะยูร”

           

ผมได้แต่ยิ้มเฝื่อน ๆ ผมเสียใจแน่นอน แต่พูดอะไรไม่ออก ได้แต่สะท้อนใจ นึกถึงตอนก่อนที่ “พี่ทวีสุข”จะเข้าโรงพยาบาล เล่าให้ผมฟังว่า มีนักร้องดังคนหนึ่งติดต่อให้แต่งเพลง โดยผ่านผ่องศรี วรนุช ที่สนิทสนมกับ “พี่ทวีสุข” เพลงหนึ่งในนั้นที่แต่ง ผมจำได้แม่นว่าชื่อเพลง “ป่าช้าคนเป็น” โอ้หนอ!โอกาสทองลอยมา ใยดวงชะตามากลั่นแกล้ง ช่างโหดร้ายเหลือเกิน

           

ณ วันนี้ แม้ว่าร่างของทวีสุข  ทองถาวรจะสูญสลายเป็นเถ้าธุลีไปเนิ่นนานแล้ว แต่บทกลอนที่ฝากไว้ในบรรณพิภพยังแว่วสำเนียงจับใจและตราตรึงมิรู้ลืม....

           

“....สำหรับเธอที่ฉันเฝ้าฝันหา

หากถามว่าคืนนี้นอนที่ไหน

จะตอบถ้อยที่ถามไปตามใจ

 ฉันหลับแล้วอยู่ใกล้ใกล้หัวใจเธอ”