รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

อำนาจ (Power) กับภาวะผู้นำ (Leadership) ยากจะแยกกัน…

อำนาจและภาวะผู้นำมีความเกี่ยวข้องกันอย่างมาก กล่าวคือบุคคลสามารถมีอำนาจโดยไม่ต้องเป็นผู้นำ และบุคคลไม่สามารถเป็นผู้นำโดยปราศจากอำนาจเช่นกัน  หากผู้นำมีความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาของอำนาจและอิทธิพล (The sources of power and influence) จะทำให้การสร้างบารมีของผู้นำเป็นไปได้ง่ายและสามารถรักษาบารมีให้คงอยู่นาน ๆ เนื่องจากแนวคิดเรื่องอำนาจเกี่ยวข้องกับภาวะผู้นำที่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างอิทธิพล และภาวะผู้นำเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้นำกับผู้ตาม (อ่านเพิ่มเติม - https://core.ac.uk/download/pdf/35342228.pdf)

 

Soft Power รูปแบบหนึ่ง...วิธีหนึ่ง...ของอำนาจในการบรรลุผลลัพธ์ตามที่ต้องการ

โจเซฟ เนย์ (Joseph Nye) อดีตคณบดีของ Harvard’s Kennedy School of Government เคยอธิบายแนวคิดเรื่อง “Soft Power” ตั้งแต่เมื่อปลายทศวรรษที่ 1980 ไว้ว่า ‘อำนาจ (Power) คือพลังความสามารถในการโน้มน้าวหรือแผ่อิทธิพลที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้อื่นให้ทำในสิ่งที่เราต้องการ’ ซึ่งการใช้อำนาจสามารถกระทำได้ในหลายกรณี เช่น การบังคับหรือข่มขู่ (Coercing) การให้เงิน (Payment) การโน้มน้าว (Persuasion) การดึงดูด (Attraction) รวมถึงการดึงผู้ที่เห็นต่างกันให้เข้ามาร่วมหัวจมท้ายด้วย (Co-opt)  โดย “Soft Power” เป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจผ่านการโน้มน้าว การดึงดูด และการชักชวนผู้ที่เห็นต่างให้เข้ามาร่วมงานด้วยเพื่อให้ผู้นำบรรลุผลลัพธ์ในสิ่งที่ต้องการ โดยตั้งอยู่บนพื้นฐาน 3 สิ่งคือ วัฒนธรรม (Culture) ค่านิยม (Values) และนโยบาย (Policy)  (อ่านเพิ่มเติม - https://www.forbes.com/sites/forbescoachescouncil
/2020/01/24/why-and-how-to-increase-your-soft-power/?sh=65bdcfe26098)

 

“Soft Power” เครื่องมือทรงพลังในการบริหารจัดการของผู้นำวันนี้...

เมื่อโลกขยับปรับเปลี่ยนทุกเสี้ยววินาที บทบาทหลักของผู้นำในวันนี้คือ การทำงานร่วมกับผู้คนผ่านความร่วมมือเพื่อ
ให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร ผู้นำจึงต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนและสามารถสื่อสารเพื่อจูงใจและนำผู้อื่น ส่วนหน้าที่สำคัญของผู้นำคือ ความสามารถในการโน้มน้าวบุคคลและกลุ่มบุคคลให้ทำงานร่วมกันให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ จากบทบาทและหน้าที่ของผู้นำนี้ทำให้ Soft Power ที่ประกอบด้วยอำนาจอ้างอิง (Referent Power) และอำนาจเชี่ยวชาญ (Expert Power) กลายเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงได้และใช้ได้จริงของผู้นำ และหากมีการใช้ร่วมกับ “Hard Power” ที่ประกอบด้วยอำนาจตามหน้าที่ (Legitimate Power) อำนาจบังคับ (Coercive power) และอำนาจให้รางวัล/ลงโทษ (Reward/Punishment Power) อย่างลงตัวและเหมาะสมกับบริบทก็จะกลายเป็น “Smart Power” ที่แข็งแกร่งและทรงอิทธิพลยิ่งขึ้น (อ่านเพิ่มเติม - https://hbr.org/2008/11/smart-power; https://core.ac.uk/download/pdf/35342228.pdf)

 

การสร้างบารมีของผู้นำด้วย “Soft Power” ... ‘ต้องเป็นผู้นำที่’ ....

Charleen R. Case  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านการบริหารจัดการและองค์กร มหาวิทยาลัยมิชิแกน และ Jon K. Maner ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มหาวิทยาลัยฟลอริด้าสเตท เสนอแนะว่าผู้นำสามารถสร้างบารมีให้เกิดขึ้นกับผู้ตาม ผู้ร่วมงาน/ทีมงานได้(อ่านเพิ่มเติม - https://www.europeanbusinessreview.com/dominance-and-prestige-selecting-...)  อาทิ

 

ใช้สติปัญญาและความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการ (Wisdom & Expertise)

ไม่ครอบงำ แต่แสดงออกอย่างชัดเจนและแน่วแน่ในสิ่งที่ต้องการ (Not be dominant)

อยู่เบื้องหลังคอยให้คำแนะนำและทิศทางที่ต้องการ ไม่เน้นการสั่งการ (Leading from behind)

สร้างเสริมอิทธิพลด้วยการสื่อสารที่ดี (Influencing through good communication)       

ปล่อยให้มีอิสระในการตัดสินใจบางสิ่งบางอย่าง (Freedom to make some decisions)

ทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ผู้อื่น ‘ชื่นชม ชื่นชอบ และเคารพนับถือ’ (Be a role model)

ใช้วัฒนธรรมการทำงานแบบเสริมสร้างพลังอำนาจ (Empowerment)

เน้นความเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศสภาพ ศาสนา ฯลฯ (Relatively egalitarian)

 

แม้ว่าพฤติกรรมการแสดงออกของผู้นำจะเชื่อมโยงกับพันธุกรรม บุคลิกภาพ  อารมณ์ ค่านิยม และทัศนคติ... แต่การจะเป็นผู้นำที่มีบารมีย่อมขึ้นอยู่กับพฤติกรรมที่ผู้นำแสดงออกในทิศทางที่สร้างสรรค์ ให้ความรู้สึกที่เป็นมิตร และอย่างมีคุณธรรม...โดยสิ่งที่จะคอยควบคุมหรือกำกับพฤติกรรมของผู้นำให้ดำเนินไปอย่างมีบารมีคือ “สติและการเรียนรู้”

...แต่ต้องไม่ลืมว่าไม่มี “ผู้นำที่มีบารมี” คนใดสร้างบารมีได้เพียงชั่วข้ามคืน...

‘กาลเวลา’ เท่านั้น!!! ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ตัวตนที่แท้จริงของผู้นำที่มีบารมี...