ดีใจกับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ที่เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ 11) ว่าด้วยคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ได้มีการประชุมศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับตามมาตรฐานฝีมือ และมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2565 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ รวม 16 สาขา โดยใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัดค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ

 

ดังนี้  กลุ่มอาชีพช่างก่อสร้าง 5 สาขา

1.ช่างติดตั้งยิปซั่ม 450 - 595 บาท/วัน

2.ช่างเขียนแบบก่อสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ 645 บาท/วัน

3.ช่างปูกระเบื้องผนังและพื้น 450- 650 บาท/วัน

4.ช่างสีอาคาร 465 -600 บาท/วัน

5.ช่างก่อและติดตั้งคอนกรีตมวลเบา 475 - 575 บาท/วัน

 

กลุ่มอาชีพช่างอุตสาหกรรมศิลป์ 4 สาขา

1.ช่างเครื่องประดับ (รูปพรรณ) 450-650 บาท/วัน 2.ช่างประกอบติดตั้งเฟอร์นิเจอร์ 430- 550 บาท/วัน

3.ช่างฝีมือเครื่องประดับแนวอนุรักษ์ (เทคนิคโบราณ) 525 บาท/วัน 4.ช่างเครื่องถม 625 บาท/วัน

 

กลุ่มอาชีพภาคบริการ 7 สาขา

1.นักส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ไทยสัปปายะ (หัตถบำบัด) 460-575 บาท/วัน 2.ผู้ประกอบขนมอบ 400 - 505 บาท/วัน 3.พนักงานต้อนรับส่วนหน้า 440 - 565 บาท/วัน 4.พนักงานแผนกบริการอาหารและเครื่องดื่มในธุรกิจโรงแรมและภัตตาคาร 440 บาท/วัน 5.ช่างแต่งผมสตรี 440 - 650 บาท/วัน 6.ช่างแต่งผมบุรุษ 430 - 630 บาท/วัน 7.การดูแลผู้สูงอายุ 500 บาท/วัน

 

อย่างไรก็ตาม  จะมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็คืออีก 3 เดือนข้างหน้า ขณะที่ในส่วนของนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐเคยระบุไว้ในนโยบายหาเสียง ว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400- 425 บาทนั้น นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน จะเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในเดือนตุลาคม 2565 ซึ่งน่าจะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2566

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น จะต้องควบคุมไม่ให้บรรดาสินค้าต่างๆ เตรียมปรับราคาขึ้นไป ไม่เช่นนั้นจะไม่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และค่าครองชีพให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงาน