ทวี สุรฤทธิกุล

 

“ประชาชนเป็นอย่างไร ผู้ปกครองก็เป็นอย่างนั้น” ถ้อยคำนี้มีปัญหากับสังคมที่แตกต่างกัน

 

ผู้เขียนจำไม่ได้ว่าถ้อยคำข้างต้นนี้เป็นของใคร ได้แต่จดจำมาตั้งแต่ที่เรียนวิชาหลักรัฐศาสตร์  ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 46 ปีที่แล้ว (ครั้นมาค้นดูทางกูเกิลก็ไม่พบ มีแต่โฆษณาให้ไปเรียนวิชาเกี่ยวกับผู้นำ  - ฮา ผู้เขียนใช้คำค้นว่า Quotations about leaders and their people) ตอนนั้นเป็นการเรียนเกี่ยวกับการเลือกตั้งและระบบรัฐสภาของอังกฤษ จึงน่าจะเป็นคำพูดของนักการเมืองอังกฤษ ที่ท่านอาจารย์ผู้สอนท่านอธิบายว่า ในระบอบประชาธิปไตยที่ถือว่าเสียงของประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนจะเลือกตัวแทนหรือผู้ปกครองของเขาในแบบที่เขาชอบ ซึ่งก็คือคนในแบบอย่างที่ประชาชนคาดหวังหรือต้องการนั่นเอง

                  

ทว่าในสังคมไทยกลับไม่ได้เป็นไปในแบบอย่างดังกล่าว เพราะได้กลายเป็นว่า “ผู้ปกครองเป็นอย่างไร ประชาชนก็เป็นอย่างนั้น” มากกว่า ซึ่งผู้เขียนขออธิบายด้วยปรากฏการณ์ 2 อย่าง ที่เป็นปรากฏการณ์หลักของการเมืองไทย นั่นก็คือ “รัฐประหาร” กับ “การเลือกตั้ง” อันเป็นปรากฎการณ์ที่ทำให้ได้ผู้ปกครองใน 2 รูปแบบ คือแบบเผด็จการกับแบบประชาธิปไตย ซึ่งก็แน่นอนอยู่แล้วว่า ในการทำรัฐประหารที่มีทหารเป็นผู้กระทำประชาชนย่อมไม่ทางเลือกว่าจะได้ผู้ปกครองแบบใด แต่ที่แปลกประหลาดก็คือผู้ปกครองที่มาจากการเลือกตั้ง แม้จะเป็นผู้ปกครองที่ประชาชนเลือกเข้ามา ก็กลับกลายเป็นว่าได้เข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจตามอำเภอใจ หรือเป็นผู้เผด็จการเสียเอง จึงไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องภาวะผู้นำของผู้ปกครองไทย ซึ่งก็มีอะไรแตกต่างกันระหว่างผู้นำที่มาจากทหารหรือที่มาจากนักการเมือง

                  

ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้(รัฐประหารกับการเลือกตั้ง)ไม่มีอะไรแตกต่างกันในการได้มาซึ่งผู้นำ ก็เนื่องมาจากว่าพื้นฐานของวัฒนธรรมทางการเมืองไทย ที่แปลง่าย ๆ ว่าเป็นเรื่อง “ความเชื่อ - ความคิด” ของผู้คนในสังคมไทยที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเท่าใดนัก คือ คนไทยยังคงอยู่ในวัฒนธรรมทางการเมืองแบบ “อำนาจนิยม” อันมีความหมายว่า คนไทยไม่เพียงแต่จะชื่นชอบให้ตนเองมีอำนาจ(รวมถึงวาสนาและบารมี)มาก ๆ แต่ยังชื่นชอบผู้ที่มีอำนาจหรือวาสนาและบารมีมาก ๆ นั้นอีกด้วย

                  

เวลาที่ผู้เขียนไปประชุมสัมมนาที่มีนักวิชาการชาวต่างประเทศ เขามักจะชอบถามว่าทำไมการรัฐประหารในประเทศไทยจึงไม่นองเลือดหรือไม่มีอะไรน่ากลัวเลย ผู้เขียนก็ได้เลี่ยง ๆ ตอบให้ดูดีว่า เป็นเพราะคนไทยไม่ชอบความรุนแรง ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ รักสงบและไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่มีครั้งหนึ่งที่อาจารย์คนหนึ่งที่มาจากเกาหลีบอกว่า “น่าจะเป็นเพราะคนไทยขี้กลัวมากกว่ามั้ง” โดยพูดต่ออีกว่า “กลัวผู้มีอำนาจไง” ทำให้ผู้เขียนต้องกลับเอามาคิดและก็เห็นจริงด้วยกับอาจารย์เกาหลีคนนั้น

                  

มีใครจะปฏิเสธความจริงไหมว่า ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร คนไทยทั้งประเทศเลือกที่จะเงียบและคอยแต่จะฟังว่าเขา(ทหาร)จะทำอะไรกับประเทศไทยต่อไป นั่นก็คือเราเกิดความกลัวและไม่กล้าต่อต้านทหาร และเมื่อทหารอ่านประกาศคณะรัฐประหารนั้นว่า ประเทศมีปัญหาอะไรและเพราะใคร คนที่ฟังก็จะเชื่อโดยอัตโนมัติ ทั้งยังเห็นชอบด้วยกับทหารว่า “สมควร” ที่จะทำการยึดอำนาจ จนแม้กระทั่งหลาย ๆ คนก็ชื่นชมการกระทำนั้น ๆ ของทหาร ถึงขั้นกล่าวชื่นชมและขอบคุณทหารก็มี เหล่านี้เป็นสภาพที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด

                  

ในการรัฐประหารครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก่อนหน้านั้น 2 วัน ผู้เขียนยังนั่งอยู่ในห้องประชุมที่โรงแรมปรินซ์เซส ถนนหลานหลวง ร่วมกับคณะ กปปส. ที่มีคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นแกนนำ โดยคุณสุเทพบอกว่าพรุ่งนี้(วันที่ 21 พฤษภาคม 2557)จะไปร่วมประชุมกับพวกเสื้อแดงและทหารที่สโมสรกองทัพบก การประชุมในวันแรกไม่จบ ต้องต่อเป็นวันที่สอง ซึ่งมีคนที่อยู่ในห้องประชุมบอกว่าพอตอนบ่ายสี่โมงชองวันที่สอง(22 พฤษภาคม 2557) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอนนั้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกและทำหน้าที่เหมือยเป็นผู้จัดและควบคุมการประชุมก็พูดขึ้นว่า “ไม่จบกันใช่ไหม งั้นผมขอปฏิวัติ” พวกผมที่ติดตามฟังข่าวอยู่อย่าใจจดใจจ่อ มีบางคนลุกขึ้นเฮแล้วก็พูดขึ้นว่า “นึกแล้วต้องมีปฏิวัติ” นั่นก็คือที่สุดหลาย ๆ คนก็รู้สึกว่า การยึดอำนาจเป็นเรื่องธรรมดาและเป็นความชอบธรรม ที่ทหารไม่เพียงแค่ทำได้ แต่ “ควรทำ” ซะอย่างนั้นอีกด้วย

                  

ในทำนองเดียวกันกับ “ทักษิณฟีเวอร์” ที่ยังมีผู้คร่ำครวญถึง “ระบอบทักษิณ” นั้นอยู่เป็นจำนวนมาก ไม่เว้นแม้แต่ที่คนเชื่อว่า ชัยชนะของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่เพิ่งผ่านมา ก็เป็นกระแสของทักษิณฟีเวอร์นั้นด้วยส่วนหนึ่ง จนถึงทำให้ผู้คนที่อยู่ในกระแสนี้เชื่อว่า ถ้ามีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรในเร็ว ๆ วันนี้ ก็จะเกิดปรากฏการณ์ “แลนด์สไลด์” กับพรรคเพื่อไทยได้อย่างนี้เช่นกัน

                  

ผู้เขียนได้เขียนบทความเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครติดต่อกันถึง 9 ตอน จนบทความสุดท้ายในชุดก่อนการเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 ผู้เขียนได้เสนอว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือก “คนใหญ่มาล้มคนใหญ่” นั่นก็คือคนกรุงจะเลือกคุณชัชชาติเพื่อมาล้มพลเอกประยุทธ์ นั่นก็เพราะผู้เขียนวิเคราะห์ด้วยทฤษฎีความเป็นอำนาจนิยมของคนไทยนี้ ซึ่งก็คือในตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งมีการแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายอย่างชัดเจน คือ ฝ่ายที่ “เอา” รัฐบาล กับฝ่ายที่ “ไม่เอา” รัฐบาล และในฝ่ายที่ไม่เอารัฐบาลนั้นก็มีคุณชัชชาติดู “ใหญ่ที่สุด” ดังนั้นคนที่ไม่ชอบรัฐบาลจึงเทคะแนนให้กับคุณชัชชาติ รวมถึงคนที่เคยชอบรัฐบาล(ซึ่งก็คือเคยชอบทหารด้วยนั้น ไว้วันหลังจะเฉลยว่าทำไมคนจึงเริ่มเบื่อทหาร)ก็เทคะแนนไปให้คุณชัชชาติ เพื่อ “สั่งสอน” รัฐบาล(และทหาร)นั้นด้วย ถ้าเป็นแบบหนังเจ้าพ่อของจีนก็ต้องเป็นแบบ “ใหญ่ตัดใหญ่” แบบนั้น

                  

แนวคิดอย่างนี้เป็นแนวคิดแบบ “อำนาจนิยม” อย่างชัดเจน คนไทยนั้นแม้อยากจะเป็นประชาธิปไตย ซึ่งเราสามารถจะเลือกผู้นำที่เราสามารถควบคุมได้(อันเป็นวิธีการที่เขาเลือกผู้แทนอยู่ในโลกตะวันตก) แต่เราก็ไม่ได้คิดที่จะเลือกผู้แทนในลักษณะที่เสมอภาคเท่าเทียมกับเรา แต่เรากลับเลือกผู้แทนที่เป็น “คนใหญ่ ๆ โต ๆ” เพื่อที่จะได้มาปกครองดูแลเรา หรือเข้ามาใช้และมีอำนาจ “เหนือ” เรา ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อปกป้องคุมครองเราให้อยู่รอดปลอดภัย (ถ้าใครจำได้ตอนเลือกตั้งมีนาคม 2562 ฝ่ายนิยมทหารก็ใช่คำขวัญปล่อยออกไปในกระแสสังคมว่า “ชอบความสงบจบที่ลุงตู่” นี่ก็ด้วยแนวคิดนี้) ที่สำคัญเอาไว้ “สู้กัน” แทนเรา เพื่อที่เราจะได้เห็นคนที่มีอำนาจหรือ “ใหญ่มาก ๆ” นั้นต่อสู้กัน

                  

ดังนั้นจึงมีคนอย่างทักษิณ ที่คิดว่าตัวเองใหญ่ที่สุดเสมอ แม้แต่จะส่งใครเป็นนอมินีก็ใหญ่ที่สุดตามไปด้วย รวมถึงที่อาจจะถึงขั้นเสนอคำขวัญว่า “ยินดีบริการล้มยักษ์ เลือกพรรคของโทนี่ไปขยี้มัน”