ต้องยอมรับว่า สิ่งที่เป็นรูปธรรมสำหรับในช่วง 7 ปีของการบริหารงานของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จับต้องได้ประการหนึ่ง คือการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด ที่คนหลายกหลายกลุ่มและหลายหลายวัย ไม่เฉพาะคนรุ่นใหม่ แต่อากงอาม่าทั้งหลายก็สามารถรูดนิ้วบนสมาร์ทโฟนเข้าถึงโครงการรัฐ ผ่านแอปพลิเคชั่น จากคนที่เคยปฏิเสธที่จะเรียนรู้โลกดิจิทัล หรือต่อต้านรัฐบาลเอง หากลองไปสุ่มสำรวจดู อาจพบว่ามีกลุ่มคนเหล่านี้เข้าร่วมโครงการของรัฐไม่โครงการใด โครงการหนึ่ง

 

วันก่อน นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวบรวมมา ถึงก้าวย่างสำคัญของการเข้าสู่สังคมไร้เงินสด คือการที่รัฐบาลได้พัฒนาแพลตฟอร์มต่างๆจนประสบผลสำเร็จ และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง ได้แก่

 

1)โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่จ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัญชีธนาคารผู้มีรายได้น้อย 14 ล้านราย และกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุและผู้พิการ สำหรับ ซื้อขายสินค้าจากร้านธงฟ้า (กว่า 20,000 แห่ง) หรือร้านค้าที่ร่วมโครงการ สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากได้

 

2)โครงการ “พร้อมเพย์” (Prompt pay) และ QR Payment ที่เป็นการชำระเงินผ่านอิเล็กทรอกนิกส์แบบ Any ID ที่เชื่อมโยงกับหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน โดยไม่มีค่าธรรมเนียม สามารถต่อยอดไปสู่ระบบภาษีและการบริจาค e-Donation สำหรับขอลดหย่อนภาษีได้

 

3) Government Wallet (G-Wallet) ถุงเงิน application สำหรับ SME ขนาดเล็ก คือการใช้จ่ายเงินดิจิทัลของผู้เข้าร่วมโครงการผ่านแอป “เป๋าตัง” กว่า 50 ล้านคน และร้านค้า–SME ที่เข้าร่วมโครงการผ่านแอป “ถุงเงิน” ในโครงการคนละครึ่ง – เราเที่ยวด้วยกัน – ชิมช้อปใช้ เป็นต้น

 

4) การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้กับการคืนภาษี VAT ให้กับนักท่องเที่ยว และการออกพันธบัตรรัฐบาลที่เชื่อมโยงกับระบบภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำส่งภาษี และล่าสุด

 

5)โครงการขายสลากดิจิทัล ผ่านแอปเป๋าตัง ที่เพียงสามวัน จำหน่ายแล้ว 4.4 ล้านใบ

 

ถือเป็นแรงเขย่าที่สำคัญ สำหรับคนในยุคนี้  ทั้งนี้ทั้งนั้น การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ ควรจะนำไปพัฒนาต่อยอดและบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิและสวัสดิการต่างๆ ที่ใช้ฐานจากข้อมูลนี้ เมื่อเกิดวิกฤติหรือปัญหาที่จะต้องนำไปสู่มาตรการเยียวยา ในด้านใด จะได้ไม่ต้องลงทะเบียนกันใหม่