ยูร  กมลเสรีรัตน์

 

“นกเขาเอยเคยขันกระชั้นแจ้ว

เราโตแล้วหาตักอุ่นหนุนไม่ได้

ครั้นพบคนพอจะคุ้นอบอุ่นใจ

“เขา” ก็ไม่ใยดีเท่าที่ควร”

 

บทกวีบทนี้ นิภา บางยี่ขัน ที่ผมเรียกขานด้วยความเคารพและสนิทใจว่า “พี่นิภา” เคยบอกเล่ากับผมว่า เป็นบทที่ชอบมาก ครั้งที่ผมไปสัมภาษณ์ลงสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์คอลัมน์ “ในลิ้นชักความทรงจำ” ที่บ้านเดิมในซอยจรัลสนิทวงศ์ 44 ย่านบางยี่ขัน เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว ชื่อบทกวีว่า “เขา” รวมอยู่ในหนังสือบทกวี “เพลงพร” เมื่อปี 2534

 

“ที่พี่ชอบเป็นพิเศษ เพราะให้อารมณ์สะเทือนใจตรงที่ คนที่เคยหนุนตักพ่อตอนยังเล็กด้วยความอบอุ่น พอโตขึ้น เจอที่พอจะพักพิงใจ ให้ความรักความอบอุ่น เขากลับไม่สนใจใยดีอย่างที่ควรจะเป็น”

 

ในลิ้นชักความทรงจำของผมค่อย ๆ แง้มออกมาทีละนิด ข้อมูลอาจจะตกหล่นบ้าง ต้องขออภัย “พี่นิภา” ด้วย เพราะโทรติดต่อ “พี่นิภา” หลายครั้ง จะพูดคุยและถามทุกข์สุขด้วย ผมมีเบอร์มือถือของ “พี่นิภา” สองเบอร์ เบอร์หนึ่งติดต่อไม่ได้ อีกเบอร์ไม่มีคนรับ แล้วให้ฝากข้อความ โทร.ทางเมสเซนเจอร์ ก็ไม่รับสาย

 

ก่อนนี้เคยส่งทักทายไปหลายครั้ง ก็ไม่ตอบ คิดว่าคงไม่เคยเปิด แอดไลน์ ทักทาย ก็เงียบ รวมทั้งโทรไลน์ด้วย โทรหายุทธ โตอดิเทพ อดีตนายกสมาคมนักกลอนฯ 2 สมัย เขาบอกว่า “พี่นิภา”หูไม่ค่อยดี บางครั้งก็กำลังทำงานบ้าน ไม่เป็นไรครับ“พี่นิภา” ผมพอเขียนได้ ค่อย ๆ แง้มออกมาจากความทรงจำ  ที่จริงมีข้อมูลของ “พี่นิภา”และนักเขียนอีกน่าจะร่วมร้อยคนในฮาร์ดดิสก์คอมพ์เครื่องเก่า กำลังจะส่งไปกู้คืนที่กรุงเทพฯ ถ้าฮาร์ดิสก์ไม่เสีย จะได้ข้อมูลละเอียดสมบูรณ์กว่านี้

 

วันนั้นที่บ้านย่านจรัลสนิทวงศ์  “พี่ทวีสุข” คือ ทวีสุข ทองถาวร พี่ของผมที่จากไปเกือบ 20 ปีแล้ว นั่งร่วมโต๊ะด้วย ผมสัมภาษณ์ “พี่ทวีสุข”ลงในคอลัมน์ก่อนแล้ว “พี่นิภา”และ “พี่ทวีสุข”สลับกันเล่าให้ฟังว่า บรรยากาศของวงกวีในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สมัยนั้นมีการประชันขันแข่งโต้กลอนสดกันอย่างคึกคัก จนกระทั่งเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง ทั้งที่ส่วนใหญ่เรียนนิติศาสตร์

 

หรือไม่ก็คณะอื่น ไม่ได้เรียนสายภาษา ไม่ว่าจะเป็นนิภา บางยี่ขัน ทวีสุข ทองถาวร เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ธัญญา ธัญญามาศ ดวงใจ รวิปรีชา ถาวร บุญปวัฒน์ เฉลิมศักดิ์ ศิลาพร(เฉลิม รงคผลิน,หยก บูรพา) เป็นอาทิ

สำหรับนิภา บางยี่ขันแล้ว มีความสามารถโดดเด่นในเชิงปฏิภาณกวีอย่างหาตัวจับได้ยาก การประชันกลอนสดจะต้องมีชื่อของเธออยู่ระดับแถวหน้า  ในยุคนั้นที่วงกวีเฟื่องฟูสูงสุด มีการประชันกลอนสดบนเรือด้วย แบ่งฝ่ายเป็นชายกับหญิง  ฝ่ายหญิงมักจะชนะ  ถ้าจำไม่ผิดกามเทพแผลงศรช่วงนี้กระมัง  ทำให้หัวใจสองดวงเชื่อมกันระหว่างนิภา  บางยี่ขัน กับทวีสุข ทองถาวร  ขอยกตัวอย่างบทที่ชื่อ “ภาพพิมพ์ใจสองฝั่งเจ้าพระยา” เล่นสัมผัสอักษรและสัมผัสสระได้อย่างมีจังหวะจะโคนราวกับระลอกคลื่นทยอยซัดฝั่ง อีกทั้งยังวามกลมกลืนลื่นไหล ช่างงดงามเหลือเกิน

 

“ระรื่นรื่นชื่นชมด้วยลมพลิ้ว

ละลิ่วลิ่วริ้วคลื่นครืนผวา

ระลอกเรื่อยกระทบกระทั่งฝั่งสุธา

ละลานตาระวิวาบอาบนที”

 

จากการที่วงกวีเบ่งบานในรั้วธรรมศาสตร์นี่เอง “สี่มือทองธรรมศาสตร์”จึงถือกำเนิดขึ้นมา  กวีสี่มือทองดังกล่าวได้แก่ นิภา  บางยี่ขัน ทวีสุข ทองถาวร ดวงใจ รวิปรีชา  เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์  สร้างชื่อเสียงเลื่องลือออกไปนอกรั้วธรรมศาสตร์ โดยมีนิภา บางยี่ขันยืนอยู่หัวแถว  กระทั่ง “อิงอร”(ศักดิ์เกษม หุตาคม) นักเขียนรุ่นลายคราม ผู้เขียน “ธนูทอง”อันลือลั่นในยุคนั้น ให้ฉายาว่า “บุษบา ท่าพระจันทร์” หากในเวลานี้เหลือเพียงสองมือทอง อีกสองมือทองได้จากไปเป็นเวลานานแล้วคือทวีสุข ทองถาวร กับดวงใจ รวิปรีชา หรือ ปิ่นหทัย รวิปรีชา

 

บางคนคงแย้งในใจว่าทำไมพิมพ์ชื่อของเนาวรัตน์  พงษ์ไพบูลย์อยู่ท้ายสุด ไม่ใช่ไม่ยกย่องให้เกียรติหรอกครับ แต่ยุคนั้นเมื่อราว 50-60 ปีก่อนเป็นยุค “โรแมนติก” เรียกบทกลอนที่แต่งว่า “กลอนหาผัวหาเมีย”(คำของเสถียร จันทิมาธร) ที่พูดถึงแต่เรื่องความรัก สมัยนั้นชื่อของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ยังไม่โด่งดัง มาโด่งดังภายหลังในยุค “เรียลลิสติก” เมื่อเขาพัฒนาการแต่งฉีกจากขนบเดิม ก้าวข้ามไปสู่การสะท้อนความจริงของสังคม ทำให้เขาโดดเด่นและโด่งดังในเวลาต่อมา  

 

ยุคนั้นนิภา บางยี่ขันมีชื่อเสียงขจรไปไกล จะเรียกว่าเป็นกวีระดับหัวแถวก็ได้  เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งชมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ จนกระทั่งชมรมวรรณศิลป์ธรรมศาสตร์ ได้ไปจัดรายการ “ลับแล กลอนสด” ของจำนง รังสิกุล(ผู้ก่อตั้งบริษัทไทยโทรทัศน์และหนังสือไทยโทรทัศน์รายเดือน) ที่เปิดโอกาสให้กับนักศึกษา ทางช่อง 4 บางขุนพรหม สมัยนั้นรายการนี้ดังมาก คนดูต่างก็ให้ความสนใจ ทั้งที่เป็นการเขียนโคลงฉันท์กาพย์กลอน 

 

จากความโด่งดังของกวีสาวสวยชาวบางยี่ขันนี่เอง คอลัมน์ “กังวานใจ” จึงถือกำเนิดขึ้นในนิตยสารขวัญเรือน(เลิกกิจการแล้ว) มีชื่อ “นิภา  บางยี่ขัน เป็นผู้ควบคุมคอลัมน์ ที่นี่เป็นเวทีของคนรักการเขียนกวี ทำให้มีกวีหน้าใหม่เกิดขึ้นหลายต่อหลายคน

           

 หากเบื้องหลังคอลัมน์นี้ จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ผู้ที่คุมคอลัมน์ “กังวานใจ”ตัวจริงก็คือ ทวีสุข ทองถาวร ซึ่งมีสายสัมพันธ์กับรุ่นพ่อของตระกูลศรีสยาม(มีหนังสือในเครือ -ศรีสยาม

 

,ขวัญเรือน,ขายหัวเราะฯลฯ)  แต่ต้องยืมชื่อของภรรยามาใช้ เพราะภรรยาดังกว่านี่นา “พี่ทวีสุข”บอกความลับนี้กับผมกว่า 20 ปีมาแล้ว ตอนที่เป็นกรรมการสมาคมนักเขียนฯด้วยกัน สมัย“พี่ประยอม”-ประยอม ซองทองเป็นนายกสมาคมนักเขียนฯ พร้อมกับกำชับในเวลานั้นว่า อย่าเล่าให้ใครฟังนะ เพราะตอนนั้นขวัญเรือนยังอยู่ ไม่ได้เล่าครับ “พี่ทวีสุข” แต่เผยแพร่(อิอิ) มันผ่านจุดนั้นมาแล้ว

นอกจากนิภา บางยี่ขันมีชั้นเชิงกวีที่สละสลวยและคมซึ้งแล้ว  ยังมีดวงหน้าสวยคมเหมือนบทกวีที่เขียน เป็นที่หมายปองของกวีหนุ่มทั้งหลาย โดยเฉพาะชายหนุ่มที่ชื่อทวีสุข ทองถาวร จนกลายเป็นคู่ชีวิต มีทายาทเป็นลูกสาวเพียงคนเดียวชื่อเพลงพร ซึ่งเป็นชื่อรวมบทกวีเดี่ยวเล่มแรก มีรูปกวีสาวสวยอยู่ปกหลัง เล่มนี้ “พี่นิภา”ให้ผมตอนไปเยี่ยมที่บ้านกว่า 20 ปีมาแล้ว

 

บทกลอนของนิภา บางยี่ขัน  ไม่เพียงแต่ใช้ถ้อยคำได้อย่างสละสลวย ที่สำคัญก็คือ มีความจับใจ เพราะเธอเจียระไนถ้อยอักษรแต่ละคำออกมาด้วยความประณีตและละเมียดละไม  ยกตัวอย่างอีกซักบทที่ชื่อว่า “ครู” ทั้งจับใจ จับอารมณ์ ให้ความรู้สึกสะเทือนไหว

 

 “...จำภาพหนึ่งซึ้งคำว่าชีวิต

   ตื้นใจศิษย์แสนจนจิตหม่นไหม้

   มือจับช้อนระริกสั่นตันฤทัย

   ตักลงในข้าวครึ่งห่อต่อจากครู”

 

แต่ก่อนผมเคยสงสัยว่าสมัยกระโน้น ทำไมนักกลอนไม่มีผลงานรวมเล่มเดี่ยว แล้วผมก็หายสงสัย เมื่อได้รับคำตอบจาก “พี่ทวีสุข” ทวีสุข  ทองถาวร ที่นั่งอยู่ด้วยในเวลานั้น

 

“สมัยก่อนจะรวมเล่มงานกลอนหลายคน ชื่อเสียงจะได้อิงกันไงยูร ไม่รวมเล่มคนเดียวเหมือนสมัยนี้หรอก ขายไม่ได้”

 

ผลงานของนิภา บางยี่ขัน ได้แก่ สายขวัญ หางนกยูง 1-2 ริ้วป่านสีทอง ฯลฯ  สำหรับผลงานเดี่ยวมี “เพลงพร” และ “คืนวันที่ผันผ่าน” เล่มหลังนี้จัดพิมพ์ในวาระ 80  ปีชาตกาล -“6 ทศวรรษ” นิภา บางยี่ขัน จัดงานเปิดตัวหนังสืออย่างคึกคักและอบอุ่นเมื่อปี 2562 ที่สมาคมธรรมศาสตร์

 

ทุกวันนี้นิภา บางยี่ขันอาศัยอยู่ที่บ้านหลังใหม่ในซอยวัดศรีประวัติ  ย่านบางกรวย บางโอกาสมีมิตรสหายแวะไปเยี่ยมเยียน สรวลเสสังสรรค์กันอย่างมีความสุข  แม้อยู่เพียงลำพังในวัย 83 ปี ก็ไม่เคยเดียวดาย ยามเสร็จจากงานบ้าน “พี่นิภา”จะแต่งกลอนโพสต์ลงเฟสบุ้คบ้าง แชทไลน์กับลูกสาวที่อังกฤษบ้าง มิตรสหายบ้าง อีกทั้งรื่นรมย์กับต้นไม้และไม้ดอก รวมทั้งนกน้อยที่โผผินแวะมาทักทาย

 

ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งเดินทางมาถึงบั้นปลายได้เพียงลำพัง ย่อมต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งและมั่นคง หากในความเข้มแข็งนั้น ยังแฝงความอ่อนโยน อันเป็นคุณลักษณะประจำตัว....อ่อนโยนและงดงามดังบทกวีของเธอ-นิภา บางยี่ขัน