ทวี สุรฤทธิกุล
สื่อที่ไม่พัฒนาไม่เพียงแต่ฆ่าผู้เสพ แต่ยังฆ่าตัวเองอีกด้วย
“สื่อ” ในที่นี้หมายถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อข่าวสารต่าง ๆ ออกไปสู่ประชาชน ร่วมกับตัวข่าวสาร หรือ “สาระ” ที่คนเหล่านี้ได้สื่อออกไป ด้วยวิธีการที่ใช้สื่อต่าง ๆ นานา ซึ่งในยุคนี้วิธีการที่ใช้สื่อได้พัฒนาไปมาก แต่ตัวคนที่เป็นสื่อและ “สาระ” ในสื่อยังไม่ได้พัฒนาไปถึงไหนเลย
ย้อนไปสัก 11 ปีที่แล้ว ใน พ.ศ. 2554 เมื่อคราวที่น้ำท่วมใหญ่ขังเต็มกรุงเทพฯอยู่นานนับเดือน ตอนนั้นเป็นปลายเดือนตุลาคม สื่อต่าง ๆ เริ่มออกข่าวว่ามวลน้ำขนาดมหึมากำลังไหลลงมาจากทางภาคเหนือ ขณะนี้(ในตอนนั้น)น้ำลงมาท่วมที่ราบภาคกลางในกลาย ๆ จังหวัดแล้ว ผู้เขียนฟังข่าวจากสื่อวิทยุโทรทัศน์ที่ไปสัมภาษณ์รัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลให้สัมภาษณ์ว่า”รับรองน้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ” แต่พอวันที่ ๒๘ ตุลาคมน้ำก็ทะลักเข้ามาที่รังสิตและดอนเมือง แล้วสื่อก็ไปสัมภาษณ์นายกรัฐมนตรีหญิง ซึ่งท่านก็ตอบว่า “เอาอยู่” แต่แล้วในอีกวันต่อมาน้ำก็ท่วมเต็มลานบินและท่วมขึ้นมาถึงครึ่งล้อเครื่องบินที่จอดอยู่ จนศูนย์บัญชาการตั้งรับน้ำท่วมในสนามบินดอนเมืองต้องย้ายลงมาที่กระทรวงพลังงานแถวห้าแยกลาดพร้าว นั่นก็คือความสับสนของการสื่อสารที่เริ่มทำให้ประชาชนตื่นตระหนก โดยเฉพาะ “การเล่นข่าว” แบบเก่า ๆ ของสื่อจำนวนหนึ่ง
บ้านผู้เขียนอยู่ในซอยริมถนนวิภาวดีรังสิตแถว ๆ หลักสี่ ห่างจากสนามบินดอนเมืองราว 5 กิโลเมตร ตอนนั้นยังเป็นแฟนคลับสื่อช่องหนึ่ง(ที่ต่อมาท่านต้องไปใช้บริการเรือนจำอยู่ช่วงหนึ่งในคดีโกงค่าโฆษณา) ด้วยลีลาที่ดุเดือดจริงจังดูน่าเชื่อถือ ทำให้มีผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก ในช่วงที่น้ำกำลังท่วมสนามบินดอนเมืองนี่เอง ผู้ประกาศข่าวท่านนี้ได้นำเสนอข่าวตลอดวันว่า “น้ำกำลังทะลักมาแล้วครับ ๆ ตอนนี้มาถึง...แล้วครับ” ซึ่งทำให้ผู้เขียนตกใจ แต่กว่าจะมาถึงบ้านของผู้เขียนก็อีก 3 วันต่อมา จากนั้นก็เห็นภาพข่าวว่าผู้ประกาศท่านนี้นั่งเรือไปตามชุมชนที่น้ำท่วม พร้อมกับบรรยายภาพความน่ากลัวของน้ำท่วม มีบ่อยครั้งที่ชอบไปสัมภาษณ์คนที่สูญเสียจากน้ำท่วม และถามอย่าง “ข่มเค้น” จนกระทั่งผู้ให้สัมภาษณ์ร้องไห้ ถึงขนาดที่คนที่บ้านไม่ได้ถูกน้ำท่วมหรืออยู่ในพื้นที่อื่น ๆ ก็เริ่มกลัวน้ำท่วมไปด้วย นั่นก็คือ “การขายข่าว” ด้วยการสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้เสพนั่นเอง
หลังจากที่นำท่วมผ่านไปในตอนต้นเดือนธันวาคม 2554 ผู้เขียนก็เลิกติดตามสื่อของผู้ประกาศคนนั้นทันที จนเมื่อทราบข่าวต่อมาว่าต้องต่อสู้คดีจนถูกตัดสินจำคุกและออกมาในเวลาไม่นานนัก แต่ก็ยังได้ออกมาจัดรายการข่าวอยู่อีก ผู้เขียนก็เลยลองเข้าไปชมรายการอีกครั้ง แต่ก็ต้องผิดหวังที่ท่านยังใช้แนวทางเดิม ๆ หรือ “ทฤษฎีเก่า” ในการนำเสนอข่าว คือต้องให้มันหวือหวาและน่าตื่นเต้น(หรือน่ากลัว)เข้าไว้ แต่ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือสื่อต่าง ๆ ในทุกวันนี้ก็ล้วนแต่ “ขยี้ข่าว” ให้ดูน่ากลัวด้วยกันทั้งสิ้น แต่ก็ไม่ได้คิดว่าเป็นเพราะเห็นแบบอย่างที่ผู้ประกาศข่าวคนดังนั้นได้นำทางไว้ เพราะมันดูกระจายออกไปทุกสื่อและในทุกช่องทางการสื่อสาร ไม่ว่าแบบสมัยเก่า คือ วิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ กับสื่อสมัยใหม่ คือ สื่อทางอินเตอร์เน็ต และโซเชียลมีเดีย ต่าง ๆ ก็ล้วนแต่นิยมขายข่าวในลักษณะนี้ด้วยกันทั้งสิ้น
ในเวลานี้ข่าวที่สื่อต่าง ๆ สนใจ ถ้าเป็นในประเทศ อันดับหนึ่งก็คือข่าวการตายของดาราสาวที่ชื่อแตงโม และต่างประเทศอันดับหนึ่งก็คือ สงครามรัสเซียกับยูเครน ซึ่งสื่อต่าง ๆ ก็ “เล่นข่าว” อย่างน่ากลัวเหมือน ๆ กัน จึงได้แต่สรุปขึ้นในใจว่า นี่คงจะเป็นวิธีการนำเสนอข่าวที่เป็นมาตั้งแต่ “ดึกดำบรรพ์” และยังไม่มีการพัฒนา เพราะมันยังขายได้ หากินได้ และเลี้ยงดูผู้ผลิตสื่อแบบนั้นได้
การที่สื่อต่าง ๆ ต้องเสนอข่าวในแนวนั้นก็เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ ถ้าเป็นการกระทำเพื่อความอยู่รอดจริง ๆ แต่ก็คงเป็นเรื่องที่น่าสมเพช ถ้าเป็นการตั้งใจที่จะใช้ “ความตาย – ความทุกข์ - ความหายนะ” ของผู้คนมาหากิน หรือเป็นการเสกสรรปั้นแต่ง “ย้อมสีข่าว” เพื่อให้หวือหวาหรือออกไปในแนวทางอย่างที่ต้องการ แต่ที่ผู้เขียนจะขอวิจารณ์ในที่นี้ก็คือ การนำเสนอด้วยความไม่ได้เรียนรู้ หรือแสวงหาความรู้ในเรื่องนั้นอย่างเพียงพอ แต่ก็ยัง “ดันทุรัง” ที่จะเสนอข่าวสารนั้น ๆ ออกมาทางสื่อ ให้ดูหวือหวาน่ากลัวอยู่ตลอดเวลา
การปั้นข่าวกรณีของคุณแตงโมก็มีคนวิจารณ์อยู่มากพอควร ซึ่งผู้เขียนไม่รู้จริงและไม่สนใจในเรื่องนี้มากนัก ก็จะขอไม่กล่าวถึง แต่ที่อยากกล่าวถึงเพราะพอมีความรู้ เนื่องจากได้เรียนวิชาการทางด้านนี้มาบ้าง ก็คือข่าวสงครามรัสเซียกับยูเครน ซึ่งมาถึงวันนี้ “สงครามโลกครั้งที่ 3” ก็ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างที่ผู้ปั้นข่าวทั้งหลายต้องการ จนดูเหมือนว่าเรื่องนี้จะซา ๆ และจางหายไป ที่สุดนั้นก็จะเป็นเพียงความขัดแย้งในระดับพื้นที่ ที่ทำให้คนขายข่าว “หายนะ” ทั้งหลายต้องผิดหวังไปตาม ๆ กัน
คนรุ่นเก่า ๆ อย่างผู้เขียนจำนวนหนึ่ง น่าจะเคยติดตามฟังหรือได้อ่าน “เพื่อนนอน” รายการวิทยุที่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยจัดที่สถานีวิทยุรักษาดินแดน เมื่อสัก 50 ปีที่แล้ว ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องน่ารู้ของเหตุการณ์และบุคคลในประเทศต่าง ๆ ในยุคนั้น แล้วต่อมาได้นำมาจัดพิมพ์เป็นเล่ม ๆ ได้หลายเล่ม เช่นเรื่อง สงครามเวียตนาม ซูการ์โน(ประธานาธิบดีรัฐบุรุษของอินโดนีเซีย) โลกประชาธิปไตย และบุคคลสำคัญของโลก เป็นต้น โดยท่านอาจารย์คึกฤทธิ์มักจะมีแง่คิดต่าง ๆ ไว้ในตอนท้ายของรายการหรือท้ายเรื่องเสมอ อย่างในเรื่องความขัดแย้งและการสงครามต่าง ๆ ท่านก็เคยให้แง่คิดที่น่าในใจ ที่ยัง “ทันสมัย” อยู่เสมอแม้ในทุกวันนี้
ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์บอกว่า ในโลกสมัยใหม่(ในยุคของท่านก็คือยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) คนเราจะพยายามหลีกเลี่ยงการทำสงคราม เพราะได้เห็นผลจากสงครามโลกทั้งสองครั้งนั้นแล้ว ว่าได้สร้างความเสียหายทั้งด้านวัตถุและจิตใจมากมายเพียงใด และถ้าผู้นำประเทศคนใดพาชาติของตนเข้าสู่สงครามก็จะไม่เป็นที่ไว้วางใจ ที่สุดก็จะหมดความชอบธรรมหรือหมดอำนาจในที่สุด
ดังนั้นเราจะเห็นว่าในสงครามรัสเซียกับยูเครนในครั้งนี้ ผู้นำของประเทศต่าง ๆ จะระมัดระวังในการที่จะประกาศสงครามหรือใช้ความรุนแรงอย่างมากสุด ถ้าจะมีก็เป็นแค่การข่มขู่หรือโฆษณาชวนเชื่อ ที่จะมีรุนแรงก็คือการนำเสนอข่าวของสื่อต่าง ๆ นั่นเอง ที่ยังมองโลกด้วยความคิดเก่า ๆ คือ “ให้มันฉิบหายไปข้างหนึ่ง”
เสพสื่อในทุกวันนี้ดูแล้วก็น่ารำคาญ แต่ก็ต้องจำทน เพราะถ้าไม่ติดตาม เราก็จะ “คุยกับเขาไม่รุ้เรื่อง”