โควิดกำลังจะไป ฝีดาษลิงก็มา ไม่ให้ได้หยุดหย่อนให้มนุษย์ได้พักผ่อน ในห้วงเวลาที่หลายประเทศรวมทั้งไทย อยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เปิดรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และผ่อนคลายให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ได้ในโซสีเขียวและสีฟ้า

 

แต่เมื่อฝีดาษลิงมา ก็ต้องมาเข้มงวดกวดขันนอกจากคัดกรองโควิดแล้ว ยังต้องคัดกรองฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นทางยากลำบากมากขึ้น ด้วยบางประเทศนำร่องกักตัวนานถึง 3 สัปดาห์  แม้โรคนี้จะยังไม่มีในประเทศไทยและมีเชื้ออยู่เฉพาะในลิงแอฟริกา แต่ก็มีการติดต่อกันจากสารคัดหลั่ง

 

แม้ในเบื่องต้นหน่วยงานต่างของไทยจะตื่นตัวในการรเตรียมรับมือ แต่ไม่ให้ตื่นตระหนก เพราะไม่ได้ต่ดต่อง่ายขนาดนั้น แต่จากบทเรียนที่ผ่านมา ความเห็นแก่ตัวและการไม่รับผิดชอบต่อสังคมของคนหลายกลุ่มหลายพวก นำมาสู่การระบาดใหญ่ของโควิดในไทย ดังนั้นจึงต้องยังตั้งการ์ดสูง

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาดูตัวเลขการจ้างงาน จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่าไตรมาส 1 ปี 2565 ภาพรวมการจ้างงานมีจำนวนทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.0% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งในและนอกภาคเกษตรกรรม โดยสาขาที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ สาขาการผลิต เพิ่มขึ้น 2.6% จากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงสุดในช่วงโควิด-19 และการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สาขาการขายส่ง-ขายปลีก และสาขาการขนส่ง/เก็บสินค้า ขยายตัวได้ 5.8% และ 16.2% ตามลำดับ ขณะที่ สาขาก่อสร้าง และสาขาโรงแรม/ภัตตาคาร มีการจ้างงานลดลงที่ 1.1% สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการระบาดของ โควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2565 ประกอบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติยังมีจำนวนไม่มาก เข้ามาเพียง 5 แสนคน จากปกติที่มี 9-10 ล้านคนต่อไตรมาส
       

รายงานของสภาพัฒน์ ยังระบุถึงประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป ได้แก่ 1.การฟื้นตัวของการจ้างงานภาคท่องเที่ยว ต้องให้ความสำคัญกับการเปิดประเทศและดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้มากที่สุด 2.การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าต่อค่าครองชีพ และเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น จะส่งผล กระทบต่อค่าครองชีพของแรงงาน รวมทั้งการจ้างงานในภาคเกษตรกรรมจากราคาปุ๋ยที่แพงขึ้น และ 3.การหามาตรการแก้ไขปัญหาการว่างงานระยะยาวและการว่างงานของผู้จบการศึกษาใหม่ ที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

สำหรับหนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 4 ปี 2564 มีมูลค่า 14.58 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% แต่ชะลอลงจาก 4.2% ของไตรมาสก่อนหน้า โดยคิดเป็นสัดส่วน 90.1% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โดยสินเชื่อที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัว 5.0% ลดลงจาก 5.8% ของไตรมาสก่อน และสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ ขยายตัว 6.5% ลดลงจาก 7.6% ในไตรมาสก่อนหน้า

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็คาดหวังว่า ไทยจะเร่งเครื่องเศรษฐกิจ ฝ่ากับดักไปได้ และได้มีโอกาสลืมตาอ้าปากไป อย่าให้ฝันร้ายระบาดใหญ่ทั้งโควิด หรือร้ายกว่านั้นคือพบฝีดาษลิงมาหยุดยั้ง