รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

 

บทบาทของผู้นำเป็นสิ่งที่ท้าทายในตัวเองเพราะโลกทุกวันนี้เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงทำให้บทบาทของผู้นำไม่อาจหยุดนิ่งแต่ต้องปรับตามกระแสการเปลี่ยนแปลงด้วย ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่มากมายและรวดเร็วผู้นำต้องพยายามรักษาบทบาท ความเป็นผู้นำของตนเองไม่ให้เสียสมดุล ต้องมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ยังมาไม่ถึงและต้องเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อจัดการกับความเปลี่ยนแปลงในทันที

 

การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ผู้นำทุกคนยากจะหลีกเลี่ยง แต่ด้วยไหวพริบและทักษะที่ “ใช่” เหมาะสมกับเวลาของผู้นำจะทำให้เส้นทางความเป็นผู้นำของผู้นำแข็งแกร่งและก้าวไปสู่เป้าหมายสูงสุดได้ ซึ่งผู้นำมืออาชีพอย่าง Jacqueline Wolven (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.lifehack.org/articles/work/10-challenges-leaders-always-face-and-how-deal-with-them.html) มองว่าความท้าทายที่ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ทุกคนต้องเคยประสบมาก่อน ประกอบด้วย

 

1. ตัวป่วน (Difficult people) – การทำงานในองค์กรหรือภายใต้ทีมงานจะมีบุคคลที่คอยสร้างความยุ่งยากหรือเป็น
“ตัวป่วน” ในการทำงาน ในฐานะผู้นำองค์กรจะต้องจัดการกับบุคคลเหล่านี้ด้วยวิธีการที่ละมุนละไมและเมตตา แต่ต้องไม่ทำให้บทบาทความเป็นผู้นำถูกบั่นทอนหรือด้อยค่าลง

 

2. ความกดดัน (Pressure) – บรรยากาศการทำงานบางครั้งจะเต็มไปด้วยความกดดันที่ทุกคนช่วยกันสร้างขึ้นมา ในฐานะผู้นำองค์กรการยอมรับและการปล่อยวางความกดดันที่เกิดขึ้นเสียบ้างจะเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้นำในระยะยาว ผู้นำไม่จำเป็นต้องทำงานด้วยความเร็วสูงสุดเต็มที่อยู่ตลอดเวลา การปล่อยให้มีช่วงเวลาที่สงบลงบ้าง (Quieter moments) จะทำให้พบจุดสมดุลและนำไปสู่ความสำเร็จ

 

3. การยอมให้บุคลากรจากไป (Letting Someone Go) – ในบางจุดของสถานการณ์ผู้นำอาจต้องปล่อยให้บุคลากร
บางคนลาออกจากองค์กรไป หรือย้ายบางคนเข้ามาทำงานใกล้ตัว ในฐานะผู้นำองค์กรการพิจารณาตัดสินใจภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ต้องกระทำด้วยความใจเย็นและปราศจากอารมณ์โกรธ ความนิ่งของผู้นำจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงองค์กรในทางที่ดีขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เป็นเครื่องหมายของความเป็นผู้นำที่แท้จริง

 

4. การบอกข่าวร้าย (Delivering Bad News) เมื่อองค์กรประสบภาวะวิกฤต การดำเนินงานล้มเหลวหรือไม่บรรลุเป้าหมายที่กำหนดและส่งผลเสียหายต่อองค์กร ในฐานะผู้นำองค์กรต้องแจ้งข่าวร้ายที่เกิดขึ้นนี้โดยไม่ “ดราม่า” และชัดเจน เพื่อให้องค์กรก้าวเดินต่อไปได้

 

5. การมีแรงจูงใจเสมอ (Staying Motivated) ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เป็นใจหรือไม่ดีต่อองค์กร ในฐานะผู้นำองค์กรต้องรวบรวมสติและกำลังใจให้กลับคืนมาให้อยู่กับร่องรอยโดยเร็ว ไม่เสียเวลาครุ่นคิดกับสิ่งที่ผิดพลาดที่แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ผู้นำต้องนำพาองค์กรให้ก้าวออกมาจาก “จุดบอด” และแชร์ความกระตือรืนร้นและแรงจูงใจในการทำงานร่วมกับทีมงาน

 

6. วัฒนธรรมการทำงาน (Culture Issues) การทำงานในองค์กรอาจเกิดปัญหาความเข้ากันไม่ได้ของทีมงาน การสื่อสารผิดพลาด การจับกลุ่มซุบซิบหรือการให้ร้ายสมาชิกในทีม ฯลฯ ซึ่งการจัดการปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ในฐานะผู้นำองค์กรถ้าต้องการให้ทีมงานทำงานดีขึ้น ผู้นำก็ต้องเข้าร่วมทำงานด้วย สื่อสารให้ชัดเจน ไม่ซุบซิบนินทาใคร ซึ่งการสร้างวัฒนธรรมการทำงาน
ที่ดีภายในองค์กรผู้นำต้องทำตนให้เป็นแบบอย่าง  

 

7. การเป็นที่เคารพและรัก (Being Respected and Being Liked) เมื่อผู้นำเริ่มลงมือนำสิ่งใดก็ตาม อาจมีบางคนเข้ามาขัดขวาง ในฐานะผู้นำองค์กรต้องไม่หวั่นไหว มุ่งมั่นทำต่อ และสื่อสารอย่างเข้าใจและมีเมตตา เทคนิคนี้จะทำให้ผู้นำโชคดี เป็นที่เคารพและรักตามมา

 

8. จดจ่อกับเป้าหมายหลัก (Maintaining Focus) – บางครั้งบุคลากรก็ทำให้เป้าหมายการทำงานเบี่ยงเบน ในฐานะผู้นำองค์กรต้องดึงให้ทีมงานกลับคืนมาสู่เป้าหมายหลัก เพื่อให้ภารกิจขององค์กรสำเร็จตามเป้าที่กำหนด

 

9. ปัญหาการสื่อสาร (Communication Problems) บุคลากรบางคนตอบอีเมลไม่ครบทุกฉบับ ส่งงานไม่ทันตามกำหนด หรือไม่จดบันทึกงาน ปัญหาเหล่านี้บางทีก็ทำให้ผู้นำรู้สึกหงุดหงิดหรือโมโห ในฐานะผู้นำองค์กรต้องฝึกให้บุคลากรมีวินัยในการทำงานผ่านการสื่อสารที่ดี สั้น กระชับ และชัดเจนเพื่อประโยชน์ขององค์กร

 

10. การจัดการความล้มเหลว (Handling a Dud) เมื่อมีงานหรือโปรเจกต์ทำแล้วไม่สำเร็จตามที่คาดหวัง ในฐานะผู้นำองค์กรต้องรีบตัดความไม่สบายใจหรือความกังวลนี้ออกไป เพื่อช่วยทีมงานไม่ให้ต้องจมอยู่กับความผิดหวังหรือเอาแต่ตำหนิตัวเอง แต่ให้คิดถึงงานใหม่ที่ต้องทำและมุ่งมั่นให้สำเร็จแบบปัง ๆ ดีกว่า

 

สำหรับแนวทางการพัฒนาทักษะความเป็นผู้นำในอนาคต (Future Leadership Skills) เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงอย่างชิล ๆ ได้แก่ รู้จักประเมินความพร้อม ดื่มด่ำไปกับอนาคต ทบทวนเส้นทางความเป็นผู้นำของตนเอง และ
หันกลับมาสู่ปัจจุบัน (อ่านเพิ่มเติมที่ https://www.ccl.org/articles/leading-effectively-articles/leadership-ski...)

 

การเป็นผู้นำในวันนี้ไม่ว่าจะเป็นองค์กรประเภทใดและขนาดใด คงยึดเส้นทางแบบใดแบบหนึ่งไม่ได้ ต้องรู้จักปรับให้เหมาะสมและเข้ากับบริบทที่เปลี่ยนแปลง เพราะ“ความท้าทายของผู้นำ” ก็คือ ความท้าทายในบทบาทของผู้นำที่ตนเองเป็นอยู่