กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ เตือนว่า ผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก แนะให้นานาชาติควรลดอุปสรรคทางการค้าเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนและลดราคาสินค้า หลังจากที่กว่า 30 ประเทศออกมาตรการจำกัดการค้าในภาคอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญอื่น ๆ 

 

จากคำเตือนดังกล่าว ทำให้ต้องหันกลับมามองประเทศไทย เราต้องเตรียมตัวอย่างไรกับความมั่นคงทางด้านอาหาร จากโดมิโนที่หลายประเทศเผชิญอยู่ในขณะนี้ ที่ไทยต้องผลิตอาหารให้อาหารเพียงพอต่อการบริโภคของคนในประเทศ

 

เมื่อย้อนดูแผนปฏิบัติการ ระยะเวลา 5 ปี ที่อ้างอิงตามกรอบยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2561 - 2580) ระยะ 20 ปี พบว่ามุ่งการเชื่อมโยงทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับอาหาร บูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายสำคัญคือการสร้างความั่นคงทางอาหารของประเทศที่ยั่งยืน ประชาชนได้รับอาหารที่มีคุณภาพ และมีสุขภาวะที่ดีขึ้นจากการได้รับอาหารที่มีคุณภาพ  

ทั้งนี้ ตามแผนปฏิบัติการฯ จะดำเนินจัดการด้านอาหารผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคงอาหาร ด้านการคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร ด้านอาหารศึกษา และด้านบริหารจัดการ โดยมีเป้าหมายสำคัญ 6 เป้าหมาย ประกอบด้วย 1. จำนวนคนขาดแคลนอาหารลดลง โดยสิ้นสุดแผนปี 2570 จะต้องมีประชากรที่ขาดแคนอาหารไม่เกินร้อยละ 7 ของจำนวนประชากร 2. ปริมาณการสูญเสียอาหาร และขยะอาหารลดลง 3. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อคุณภาพและความปลอดภัยอาหารเพิ่มขึ้น โดย ณ ปี 2570 ระดับความเชื่อมั่นต้องอยู่ในระดับดี  

4. มูลค่าการค้าอาหารเพิ่มขึ้น โดยมีตัวชี้วัดเป็นการเติบโตของมูลค่าการส่งออกอาหาร ตั้งแต่ปี 2566 - 2570 ที่ร้อยละ 3 ต่อปี ดัชนีการส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 ต่อปี ดัชนีผลผลิตผลิตภัณฑ์อาหารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 ต่อปี 5.จำนวนคนที่มีภาวะทุพโภชนาการ (ขาดและเกิน) ลดลง โดย ณ ปี 2570 เด็กอายุ 0 - 5 ปี มีภาวะเตี้ยไม่เกินร้อยละ 8 มีภาวะผอมไม่เกินร้อยละ 5 มีภาวะเริ่มอ้วนและอ้วนไม่เกินร้อยละ 8  6. มีกลไกประสานงานกลางและบูรณาการดำเนินงาน   

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เกิดสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ไทยได้รับผลกระทบเรื่องปุ๋ย ที่ส่งผลกระทบต่อผลิตในภาคเกษตร แม้จะเป็นโอกาสในการหันมาปลุปข้าวอินทรีย์ก็ตาม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นภายใต้ปัจจัยต่างๆ ทั้งสภาพอากาศ สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง รวมทั้งผังเมือง ล้วนเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องนำมาวางบนโต๊ะและบูรณาการความคิดร่วมกันในการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารในอาหารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยไม่ประมาท