เดือนกรกฎาคมนี้ จะสิ้นสุดการดำเนินการ10 มาตรการ ช่วยค่าครองชีพประชาชนที่ได้รับผบกระทบจากโควิด และสงครามรัสเซีย ยูเครน ของรัฐบาลโดยต้นเดือนมิถุนายนนี้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะหารือกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เพื่อประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อหามาตรการประคับประคองเศรษฐกิจว่าจะทำอย่างไร

 

โดยประเมินว่า สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อนั้นจะยืดเยื้อในระดับที่สูงมากน้อยขนาดไหน
 ซึ่งคาดว่าหลังเดือนมิถุนายนจะมีมาตรการออกมาเพิ่ม จะกลับมาดูมาตรการพลังงานใกล้ชิดมากขึ้น เพราะสถานการณ์พลังงานเปลี่ยนแปลง ผันผวนรวดเร็ว ซึ่งมาตรการที่ออกมาใหม่จะเป็นมาตรการประคับประคอง ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นอีกส่วนหนึ่ง

 

อย่างไรก็ตาม ย้อนกลับไปดู 10 มาตรการช่วยค่าครองชีพประชาชนที่ได้รับผบกระทบจากโควิด และสงครามรัสเซีย ยูเครน ที่รัฐบาลดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมนั้น ประกอบด้วย

 

1. เพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน โดยเพิ่มเงินจากเดิม 45 บาท เป็น 100 บาท/ 3 เดือน

 

2. ให้ ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค่าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนประมาณ 5,500 คน

 

3. ช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 157,000 คน โดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้พี่น้องประชาชนที่ต้องใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางเท่าเดิม

 

4.คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม

 

5. ผู้ขับขี่แท๊กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม

 

6.ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยลดค่า Ft ลง 22 สตางค์ต่อหน่วยในช่วงเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม

 

7. ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะเข้าไปช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งนึง

 

8. กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายน - มิถุนายน โดยใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาให้ไม่ขึ้นสูงเกินไป

 

9. ลดอัตราเงินสบทบของนายจ้างและลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างสามารถมีกำลังในการใช้จ่ายและผู้ประกอบการสามารถมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจในช่วงถัดไป

 

10. ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42 - 180 บาทต่อเดือน

 

ทั้งนี้ ทั้งนั้น เรามองว่า แม้จะมีการเปิดประเทศแล้ว แต่สถานการณ์ของสงครามที่ยืดเยื้อ ประกอบกับภาวะเงินเฟ้อและหนี้ครัวเรือนยังคงกดดันเศรษฐกิจไทย บนความคาดหวังว่า มาตรการที่จะออกมานั้นจะมีส่วนช่วยปั๊มหัวใจให้กับอีกหลายชีวิตได้สู้ต่อ