ทวี สุรฤทธิกุล
นักการเมืองโดยสายเลือดกับนักการเมืองเลือดใหม่ใครได้เปรียบ?
“นักการเมืองโดยสายเลือด” หมายถึง นักการเมืองที่สืบทอดกันมาโดยชาติตระกูลที่เป็นนักการเมืองด้วยกัน เช่น มีพ่อแม่ปู้ย่าตายายเป็นนักการเมือง เป็นต้น ซึ่งอาจจเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า คือคนที่สืบสายพันทางการเมืองมาจากวงศาคณาญาติ นั่นเอง ส่วน “นักการเมืองเลือดใหม่” หมายถึง นักการเมืองที่เติบโตมาด้วยการต่อสู้และความอุตสาหะของตนเอง (ไม่รวมคนที่อาจจะเป็นนัการเมืองโดย “ราชรถมาเกย” หรือ “ดวงเฮง” ได้ตำแหน่งต่าง ๆ ทางการเมืองมาโดยง่ายหรือบังเอิญ) ซึ่งส่วนมากก็คือนักการเมืองรุ่นใหม่ที่ก้าวเข้ามาแทนที่นักการเมืองแบบเก่า ๆ ที่เป็นพวกที่สืบสายเลือดกันมานั่นเอง
ที่ผู้เขียนสนใจเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะผู้เขียนได้เกี่ยวข้องกับ “การผลิต” นักการเมืองรุ่นใหม่มาแล้วหลายปี ตั้งแต่ที่ยังเป็นประธานกรรมการ(ในมหาวิทยาลัยอื่น ๆ เรียกว่า “คณบดี”) ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2547 โดยได้ร่วมเป็นกรรมการในหลักสูตร “ผู้นำรุ่นใหม่” ของสถาบันประปกเกล้า รวมถึงที่ได้เป็นวิทยากรในบางหัวข้อ และในระยะหลังก็ได้เป็นผู้สัมภาษณ์ผู้สมัครเข้าเรียนในหลักสูตรนี้ ซึ่งต้อง “เค้น” เอาความสามารถและส่วนดีต่าง ๆ ของผู้สมัครเข้าเรียนนั้นออกมาให้ได้
สิ่งที่ผู้เขียนสนใจและมักจะสอบถามบรรดาผู้สมัครที่สมัครเข้ามาเรียนปีละหลายร้อยคน(ที่จะต้องมีอายุระหว่าง 30-40 ปี)นั้นก็คือ ความสนใจและความเข้าใจทางการเมืองของผู้สมัครเหล่านั้น แม้ว่าในจำนวนผู้ที่สมัครเข้ามาเรียนส่วนใหญ่ ซึ่งมาจากหลากหลายอาชีพ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะไปมีอาชีพนักการเมือง เพียงแต่อยากจะมา “หาเพื่อน” และ “หาคอนเน็คชั่น” มากกว่า แต่ก็มีผู้สมัครไม่น้อยที่มาเรียนเพื่อเอาไปใช้ในอาชีพทางการเมือง (ผู้สมัครจำนวนหนึ่งเป็นนักการเมืองหรือทำงานกับนักการเมืองอยู่แล้ว) รวมถึงบางคนก็สนใจที่จะเป็นนักการเมืองต่อไปในอนาคต ซึ่งคนกลุ่มหลังนี่เองที่ได้ให้ข้อมูลกับผู้เขียน เกี่ยวกับ “ความได้เปรียบเสียเปรียบ” ในการเป็นนักการเมืองต่างประเภทกัน อันนำมาเป็นหัวข้อของบทความในวันนี้
ผู้เขียนสังเกตว่าในบรรดาผู้ที่ผ่านการสัมภาษณ์ได้เข้ามาเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย(ย่อว่า ปนป.) ที่มักจะมีพวกสายเลือดนักการเมืองและคนที่ทำงานกับนักการเมือง(ซึ่งก็คือคนที่อยู่ในวงการเมืองอยู่แล้วนั่นเอง)ประมาณรุ่นละ 10-20 คน กับพวกที่อยากจะเป็นนักการเมืองจากสาขาอาชีพต่าง ๆ อีกรุ่นละ 20-30 คน สองพวกนี้จะมี “บุคลิกภาพ” ต่างกัน
“บุคลิกภาพ” ในทางวิชารัฐศาสตร์จะหมายถึง “ภาพรวมของการแสดงออกทางการเมือง” ของคน ๆ หนึ่ง อันประกอบด้วย ความเชื่อ ความคิด วิสัยทัศน์ และทัศนคติต่าง ๆ ในทางการเมืองและสังคม ที่ทำให้คนแต่ละคนมีการแสดงออกทางการเมืองต่าง ๆ นานา ก็เป็นด้วยสิ่งที่อยู่ในสมองของแต่ละคนนั้น เช่น บางคนชอบมองโลกในแง่ดี ให้เกียรติยกย่องคนอื่น มีความเมตตากรุณาและปรารถนาดีต่อผู้คนทั้งหลาย ตามตำราท่านว่าจะเป็นนักการเมืองที่ดี จนถึงขั้นอาจจะเป็นรัฐบุรุษนั้นได้ ตรงกันข้ามกับคนที่มองโลกในแง่ร้าย เห็นทุกคนเป็นศัตรู ไม่ไว้วางใจใคร และชอบเอาเปรียบผู้อื่น อย่างนี้ท่านว่ามีโอกาสที่จะเป็นจอมเผด็จการหรือทรราชย์สูงมาก
เมื่อพิจารณาบุคลิกภาพในภาพรวม ผู้เขียนพบว่า พวกนักการเมืองในสายเลือดจะมีบุคลิกภาพที่อยู่กึ่งกลางระหว่างรัฐบุรุษกับทรราชย์ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะคนกลุ่มนี้จะมีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนค่อนข้างสูง เนื่องจากประสบความสำเร็จได้เป็นนักการเมืองตามญาติพี่น้องของเขา รวมถึงคนที่ได้มาทำงานอยู่กับนักการเมืองหรือในแวดวงการเมือง ก็จะมีความเชื่อมั่นในตัวเองค่อนข้างสูงเช่นกัน โดยสังเกตจากการพูดคุยและการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมเรียนในกลุ่ม หรืออาจจะเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าคนกลุ่มนี้มี “ภาวะผู้นำ” ที่ค่อนข้างสูงก็ได้เช่นกัน
ส่วนพวกคนที่สนใจและมีความใฝ่ฝันที่อยากเป็นนักการเมือง มักจะมีภาวะผู้นำด้อยกว่า ซึ่งก็อาจจะเป็นด้วยความพยายามที่จะแสดงความอ่อนน้อมถ่อมตนให้เป็นที่ยอมรับ รวมถึงกับการยอมอาสาทำงานต่าง ๆ ในกลุ่มค่อนข้างกระตือรือร้นดีมาก อันแสดงถึงความพยายามและความมุ่งมั่นที่จะเป็นสมาชิกของกลุ่มที่ดี เพื่อจะได้มีโอกาสในการแสดงความสามารถและได้ออกออกภายในกลุ่มให้โดดเด่นมากขึ้น ซึ่งก็เป็นคุณสมบัติที่ดีของคนที่จะเป็นนักการเมืองต่อไปในอนาคต
น่าเสียดายที่ระบบการเมืองของไทยช่าง “โหดร้าย” ต่อคนที่เข้ามาใหม่ในทางการเมืองนี้เป็นอย่างมาก พูดตรง ๆ ก็คือ ระบบการเมืองที่เลวร้ายของประเทศไทยได้ทำลายคนดี ๆ ที่อยากจะเป็นนักการเมืองนี้มาโดยตลอด ลูกศิษย์หลายคนในหลักสูตรนี้ที่เคยบอกว่าอยากจะเป็นนักการเมือง รวมทั้งตั้งใจที่จะเป็นนักการเมืองที่ดีนั้นด้วย พอถึงเวลาที่จะมีการเลือกตั้งก็ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง เมื่อผู้เขียนได้พบเขาเหล่านั้นในภายหลังก็ถามเขาว่า ทำไมจึงล้มเลิกความตั้งใจเสียเล่า ซึ่งคำตอบของพวกเขาก็คือ การเมืองไทยนั่น “น่ากลัว” กว่าที่เขาคิด
ในขณะเดียวกันผู้เขียนก็ติดตามการทำงานของลูกศิษย์ที่มาจากสายพันธุ์นักการเมือง ก็พบว่าพวกเขาไม่ได้แสดงฝีมือออกมาอย่างเต็มที่ รวมถึงที่ไม่ได้ออกไปแก้ปัญหาการเมืองอย่าที่ได้เคยตั้งใจไว้ ซึ่งเมื่อมีโอกาสผู้เขียนก็จะถามพวกเขาว่า ทำไมถึงทำไม่ได้ คำตอบก็ออกมาคล้าย ๆ กันในทำนองที่ว่า มันเกินความสามารถของพวกเขา แต่ที่น่าคิดไปกว่านั้นก็คือ บางคนบอกว่า สังคมนักการเมืองก็ไม่ต่างอะไรกับสังคมไทยทั่วไป คือผู้น้อยยังต้องเคารพผู้ใหญ่ นักการเมืองที่เป็นลูกเป็นหลานก็ยังต้อง “เกรงใจ” จนถึง “เกรงกลัว” นักการเมืองผู้ใหญ่เก่า ๆ เหล่านั้นอยู่เช่นกัน
การเป็นนักการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพวกสืบสายพันธุ์กันมา หรือพวกหน้าใหม่ที่อยากเข้ามาเป็นนักการเมือง ต่างก็ไม่มีข้อได้เปรียบเสียเปรียบกันในการที่จะเข้าสู่วงการทางการเมือง เพราะท้ายที่สุดก็จะเข้าสู่ระบบเดียวกัน นั่นก็คือการหล่อหลอมของนักการเมืองรุ่นเก่า ซึ่งอาจจะต้องใช้ “ความกล้าหาญ” พอสมควรที่จะเอาชนะการครอบงำของนักการเมืองรุ่นเก่านี้ให้ได้ โดยเฉพาะนักการเมืองที่สืบเชื้อสายมาจากนักการเมืองด้วยกัน น่าจะทำให้สำเร็จได้ง่ายกว่า เพราะได้เข้าไปอยู่ในวงการเมืองนั้นแล้ว จึงมีโอกาสกว่าใคร ๆ นั่นเอง
ส่วนคนที่อยากเป็นนักการเมืองก็ขอให้ “เอาจริง” รับรองว่าจะสามารถเอาชนะนักการเมืองรุ่นเก่า ๆ ได้อย่างแน่นอน เพราะที่สุดแล้วในทุกสังคมก็จะต้องมี “เลือดใหม่” เข้ามาแทนที่ “เลือดเก่า” เสมอ