รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต นอกเหนือไปจากการมีบุคลากรภาครัฐที่มีทักษะสูงในการทำงานและเหล่าเทคโนแครตหรือกลุ่มข้าราชการชั้นสูงแล้วประเทศชาติยังต้องการ ‘ผู้นำการเมืองที่มีภาวะผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็ง’ (Strong political leadership) ที่ถือเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งในการบริหารจัดการบ้านเมืองให้บรรลุผลตามนโยบายที่วางไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับสภาวะวิกฤตใหม่ ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น โรคระบาดอุบัติใหม่ ภาวะโลกร้อน วิกฤตพลังงาน สังคมสูงวัย สงครามชีวภาพ ภัยก่อการร้าย เป็นต้น ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกฯ และรัฐมนตรีคลังเคยอธิบายไว้ว่า คุณสมบัติของผู้นำการเมือง (Political leaders) ที่มีภาวะผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็งจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่โจษจันเล่าขานไม่รู้จบได้จะต้องมีคุณสมบัติเด่นอย่างน้อย 4 ประการ (อ่านเพิ่มเติม: https://www.thairath.co.th/news/politic/154587) ได้แก่ 1. ต้องมุ่งมั่นหรือมีเจตนาอย่างแรงกล้าในการนำการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น 2. ต้องมองล่วงหน้าอย่างทะลุปรุโปร่งว่าจะมีสิ่งใดเกิดขึ้น หากมีปัญหาจะมีแนวทางรับมืออย่างไร 3. ต้องมีความสามารถในการสื่อสารกับคน ต้องทำให้คนอื่นเห็นด้วยกับแนวคิดของตน 4. ต้องมีศิลปะในการบริหารความเปลี่ยนแปลง หน้าที่และความรับผิดชอบแรกสุดของผู้นำการเมือง (Political leaders) คือการแบ่งปันการใช้ทรัพยากรของประเทศและใช้ช่องทางการสื่อสารที่มีในมือเพื่อคุ้มครองและปกป้องพลเมืองของตน ผู้นำการเมืองทุกระดับต้องจัดสรรทรัพยากรและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นให้แก่ประชาชนรับรู้เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ และสิ่งที่สำคัญคือ ‘ผู้นำการเมืองต้องใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ในสิ่งที่พวกเขาคิดว่าดีที่สุดเพื่อประชาชน’ ภาวะผู้นำทางการเมือง (Political leadership) เป็นสิ่งจำเป็นเพราะว่าคนไม่สามารถปกครองตนเอง หรือสามารถปกครองตนเองได้แต่ยินยอมยกอำนาจให้คนอื่นปกครองแทน ในกรณีแรก “คนไม่สามารถปกครองตนเองได้” ทำให้ชนชั้นสูงหรือพวกอีลีต (Elites) ต้องเข้ามาควบคุมการเมืองหรือเป็นผู้นำการเมือง เพราะเป็นชนชั้นที่ฉลาด มีปัญญา มีทรัพยากรทางการเงิน และมีคุณลักษณะที่สามารถนำมวลชน ส่วนกรณีที่สอง “ยอมสละให้ผู้อื่นปกครองแทน” และอาศัยกระบวนการทางประชาธิปไตยเป็นเครื่องมือตรวจสอบการใช้อำนาจให้อยู่ในขอบเขตหรือไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด ผู้นำการเมืองมีหน้าที่รับใช้ประชาชน ต้องสร้างสมดุลระหว่างค่านิยม (Values) และความเชื่อทางการเมือง (Political beliefs) กับหน้าที่ของตนเองให้สำเร็จตามเจตจำนงของประชาชน พฤติกรรมหรือการกระทำของผู้นำการเมืองในที่สุดแล้วจะสะท้อนออกมาเมื่อประชาชนออกมาปฏิเสธหรือยอมรับอำนาจนั้นผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ภาวะผู้นำทางการเมืองอาจจำแนกออกเป็น 1) ภาวะผู้นำทางการเมืองแบบประชาธิปไตย (Democratic political leadership) เป็นผู้ที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยอันบริสุทธิ์ เน้นการตัดสินใจและการกำหนดนโยบายร่วมกัน 2) ภาวะผู้นำทางการเมืองแบบหัวก้าวหน้า (Vanguard political leadership) เป็นการรวมตัวกันของพวกปัญญาชนและนักเคลื่อนไหวหัวก้าวหน้าที่เข้ากลุ่มกันเพื่อหวังโค่นล้มกลุ่มอำนาจเก่าที่มีอำนาจเหนือกว่า คุณลักษณะทั่วไปของผู้นำ (General leadership traits) ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช้พิจารณาตัดสินใจเลือกผู้นำการเมืองให้เข้ามาปกครองแทนนั้น เช่น ความสามารถ (Competence) ภาวะผู้นำ (Leadership) ความซื่อตรง/ความซื่อสัตย์ (Integrity/Honesty) ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy) ส่วนคุณลักษณะที่ประชาชนรู้สึกรังเกียจในตัวบุคคลที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้นำการเมือง เช่น ความเห็นแก่ตัว (Selfish) ความเย่อหยิ่ง (Arrogance) การทำตัวสูงส่ง (Elitist) การดูหมิ่นเหยียดหยาม (Disdain) ถ้าอยากให้ประชาชนรักและมอบอำนาจให้ปกครอง นักการเมืองก็ต้องทำตนเองให้เป็นผู้นำการเมืองที่มีภาวะผู้นำทางการเมืองที่เข้มแข็ง หมั่นเติมเต็มคุณสมบัติที่ประชาชนคาดหวังหรือต้องการ เลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศ!!! ประชาชนอยากได้นักการเมืองใหม่คับคุณภาพทุกท่านอยู่ครับ...