ผ่านการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นทั้งกรุงเทพมหานครและเมืองพัทยาไปแล้ว เลือกตั้งในที่นี้ หมายถึงการเลือกตั้งใหญ่ หรือการเลือกตั้งทั่วไปเพื่อเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือส.ส.
แม้ที่ผ่านมาจะมีการสร้างแรงกดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาจากภาวะความไม่แน่นอนของเสียงสนับสนุน และความท้าทายต่างๆ จากระเบิดเวลาทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่มาถึงวันนี้ ก็เชื่อว่าหลายฝ่ายมองไปในทิศทางเดียวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ตัดสินใจเช่นนั้น
ยิ่งอ่านจากท่าทีของมือกฎหมายของพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นธงของรัฐบาล ก็มีการออกมาส่งสัญญาณอย่างชัดเจน
โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค พลังประชารัฐ ในฐานะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่..) พ.ศ. ...ระบุว่า จะมีการทบทวนรายงานของ กมธ. และมีมติรับรองก่อนเสนอต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา คาดว่าจะบรรจุเข้าวาระ ในวันที่ 9 มิถุนายนนี้ ส่วนการพิจารณาวาระ 2 ของกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนั้นคงไม่มีปัญหา เชื่อว่าจะเป็นไปตาม กมธ.เสนอ และทุกอย่างจะจบในวันที่ 10 มิถุนายนในวาระ 3 เมื่อเสร็จแล้วส่งให้ กกต. ซึ่งจะพิจารณาไม่เกิน 15 วัน และส่งกลับมา ถ้าไม่มีประเด็นใดๆ ที่จะส่งให้ศาล รธน.ตีความ ก็ส่งให้นายกฯ จากนั้นประมาณ 20 วัน นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ และอีกไม่เกิน 90 วัน ประมาณปลายเดือนกันยายนหรือต้นเดือนตุลาคม กฎหมายลูก คงจะประกาศใช้
นายไพบูลย์ ไม่เชื่อว่ากระแสข่าวการโหวตคว่ำร่างกฎหมายลูกนั้นจะเป็นไปไม่ได้ และเชื่อว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะไม่มีการพลิกไปใช้สูตรหาร500 โดยสมาชิกรัฐสภาเสียงข้างมาก จะเห็นด้วยกับที่ กมธ.เสนอ คือหารด้วย100 ซึ่งก็เป็นไปตาม รธน.มาตรา 91 กกต.คงไม่มีเหตุขัดข้อง แต่ถ้าลงมติ หาร 500 กกต. คงท้วงว่าขัดต่อเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ อีกทั้งไม่เชื่อว่าจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นก่อน
ทั้งนี้ หากมองที่ไทม์ไลน์ของการประกาศใช้กฎหมายลูกในเดือนตุลาคม หากเป็นไปตามที่นายไพบูลย์ระบุไว้ ก็จะเหลืออีกเพียง 2 เดือนก่อนจะสิ้นปี 2565 คือ เดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม ซึ่งก็จะเป็นช่วงเวลาที่เตรียมเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจ เอเปก (APEC 2022) เมื่อเสร็จสิ้นแล้วหากจะมีการยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชนจริง ก็จะกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน การเลือกตั้งก็น่าจะเกิดขึ้นราวต้นปีหน้า
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น อำนาจในการยุบสภาและจะยุบสภาเมื่อไหร่อยู่ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพียงคนเดียวเท่านั้น ที่ก็อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็เป็นไปได้