ต่อจากตอนที่แล้ว ด้วยบทความของรองศาสตราจารย์ ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กรุณาแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเอาไว้ อย่างน่าสนใจและขออนุญาตินำบทความมาเผยแพร่ก่อนที่กระแสจะไหลบ่าและสร้างความเข้าใจไขว้เขว กลายเป็นค่านิยมในสังคมไทย ในหัวข้อ “จากกระแส #คังคุไบ ด้วยความห่วงกังวล”
ในอินเดียภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในปี 2021 แน่นอนว่าเป็นภาพยนตร์ที่กระแสตอบรับดี แต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดเกิดกระแสฟีเวอร์ในอินเดีย เหมือนในประเทศไทย คนอินเดียดูหนังแล้วก็รู้จักเธอมากยิ่งขึ้น แต่นั่นก็ไม่ได้ลบภาพออกไปได้ว่าเธอคือ โสเภณี
และสิ่งที่ผมห่วงกังวลมากที่สุดก็คือ ชั่วโมงนี้ในประเทศไทย ทั้งบุคคลธรรมดา บุคคลมีชื่อเสียง ต่างก็ออกมาใส่ส่าหรีสีขาว แตะ bindi สีแดงขนาดใหญ่กลางหน้าผาก และที่สำคัญคือออกมา post ท่าทางแบบเธอในการเชิญชวนลูกค้า ลงในสื่อ online มากมายเต็มไปหมด
ในอินเดียคนที่ใส่ส่าหรีขาว ที่มีนัยถึงความบริสุทธิ์มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ นักการเมือง หญิงหม้ายที่รักษาพรหมจรรย์ และคนที่มีประวัติไม่ค่อยดี โดยนักการเมืองจะใช้ส่าหรีสีขาว ที่มีคลิบแถบสีประจำพรรคการเมือง ในขณะที่คนที่มีประวัติไม่ค่อยดี จะนิยมสีขาวบริสุทธิ์
ในขณะที่ท่าทางยกแขนชูหนึ่งข้าง อีกข้างกวักมือเชิญชวนลูกค้า และยืนแอ่น ยกขาเอียง point เท้า คือถ้าเชิญชวนเรียกลูกค้าของหญิงโสเภณีที่มีบรรยายในคัมภีร์ กามสูตร อายุกว่าพันปี
ดังนั้น หากกระแสยังเกิดต่อไป และกลับกลายเป็นว่าคนไทยที่ไปเที่ยวอินเดีย ซึ่งขณะนี้เขาเปิดประเทศให้ไปท่องเที่ยวได้แล้ว แล้วพวกเราก็ด้วยความสนุกและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็จัดหาชุดส่าหรีสีขาวบริสุทธิ์ ไปยืนถ่ายภาพตามสถานที่ต่างๆ อย่างสนุกสนาน ด้วยท่าทางดังกล่าว ลองนึกดูนะครับ ว่าคนอินเดียที่พบเห็นแล้วเขาไม่รู้หรอกว่า นี่คือกระแสฟีเวอร์จากภาพยนตร์ แต่พวกเขาเข้าใจสัญญะเหล่านี้ในแบบที่มันเป็นจริงคือการเชิญชวนให้ซื้อบริการ อะไรจะเกิดขึ้น
ต้องอย่าลืมนะครับว่า ในอดีตภาพจำของสตรีเอเชียหลายๆ ประเทศก็มีภาพจำจากคนต่างชาติเรื่องการค้าบริการอยู่แล้ว ผมไม่อยากให้ภาพเหล่านี้บนสื่อออนไลน์ หรือในสถานการณ์จริงๆ ในสถานที่ท่องเที่ยว ยิ่งทำให้เกิดการตอกย้ำซ้ำทวนภาพจำที่เลวค้่ยแบบนั้นลงไปอีก
ดังนั้นเราต้องรู้เท่าทันในสื่อที่เราเสพให้มากกว่านี้ครับ อย่าผิวเผิน สนุกคะนอง จนเกิดภาพจำผิดๆ กับหญิงไทย