อาจจะมีกระแสชื่นชมมากมายที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ต่อภาพยนตร์เรื่อง “คังคุไบ” แต่ก็ไม่ใช่มีพัยงด้านที่งดงามและน่าชื่นชมเพียงเท่านั้น เมื่ออีกมุมมองด้วยความห่วงใยจาก จากนักวิชาการที่เฝ้ามองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม รองศาสตราจารย์ ดร. ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กรุณาแสดงความคิดเห็นในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวเอาไว้ อย่างน่าสนใจและขออนุญาตินำบทความมาเผยแพร่ก่อนที่กระแสจะไหลบ่าและสร้างความเข้าใจไขว้เขว กลายเป็นค่านิยมในสังคมไทย ในหัวข้อ “จากกระแส #คังคุไบ ด้วยความห่วงกังวล” #GangubaiKathiawadi คือภาพยนตร์ที่จุดประกายให้หลายๆ คน เริ่มต้นดูภาพยนตร์อินเดีย หรือ หนัง #Bollywood ซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่พวกเราชาวไทยจะได้มีโอกาสเรียนรู้และเข้าใจชาวอินเดียให้มากขึ้น ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้กับพวกเราชาวไทยอีกมากมาย เพราะเราจะเข้าใจมิติสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ รูปแบบชีวิต ของคนอินเดียที่เป็นจริงมากขึ้น และลบภาพจำเดิมๆ ประเภท ยากจน สกปรก ตัวเหม็น ขี้โกงออกไปได้ และมองเห็นโอกาสค้าขาย ลงทุน เรียน ทำงาน ทำมาหากิน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจด้วยว่า ปรัชญาสำคัญของการสร้างหนัง Bollywood คือ ภาพยนตร์คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำให้ชาวอินเดียได้หลีกลี้ออกไปจากโลกความเป็นจริงอันโหดร้าย เข้าสู่โลกแห่งภาพยนตร์ และนี่คือ หน้าที่ความรับผิดชอบทางสังคม (Social Responsibility) ของผู้กำกับ ในการที่จะต้องสร้างหนังให้สามารถเติมเต็มความสุขให้กับผู้ชมอย่างเต็มอิ่ม ทุกคนคาดหวังที่จะเดินออกจากโรงหนังด้วยความสุข และนั่นทำให้หนัง Bollywood เกือบทั้งหมดจบลงแบบ Happy Ending หนังอินเดียจะไม่มีวันจบแบบ Avengers Infinity War ที่จบแบบหดหู่ ค้างเติ่ง คนหายไปครึ่งจักรวาล และคนดูห่อเหี่ยว ค้างคาใจ กลับไปบ้าน #คังคุบาอี ก็เช่นกันภาพยนตร์ ต้องทำให้เรื่องมีสีสัน มี drama หลายๆ ประเด็นถูก romanticized จบแบบปลดปล่อยอารมณ์ ข้อความที่ทำให้คิด และการผลิต production ที่สวยงามยิ่งใหญ่ รวมทั้ง Easter eggs ด้านสังคมวัฒนธรรมจำนวนมากที่ผู้กำกับ Sanjay Leela Bhansali สอดแทรกเอาไว้ เหล่านี้ อาจจะทำให้พวกเราลืมไปว่า คังคุไบ คือ แม่เล้า ทำมาหากินโดยการค้ามนุษย์ และควบคุมองค์กรอาชญากรรมใต้ดินของย่านหนึ่งในมหานครมุมไบ เธอไม่ใช่นักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี และไม่ได้เป็นวีรสตรีในชีวิตจริง แบบในหนัง (ยังมีต่อ)