เสือตัวที่ 6 ท่ามกลางสภาวการณ์สู้รบในภูมิภาคยุโรปตะวันออกบนสมรภูมิสงครามการต่อสู้ทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครนภายใต้การสนับสนุนอย่างออกนอกหน้าของสหรัฐอเมริกาและมหาอำนาจในยุโรปตะวันตกรวมทั้งองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ(NATO) ที่สนับสนุนทางทหารให้กับยูเครนโดยตรงโดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์และยุทธภัณฑ์สงครามอย่างหลากหลายประหนึ่งว่าเป็นโอกาสที่สหรัฐฯ และประเทศมหาอำนาจยุโรปจะใช้เป็นเวทีในการทดลองอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตขึ้นจากประเทศของตนก็ว่าได้ ทั้งยังให้การสนับสนุนทางอ้อมอีกหลายรูปแบบที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะประชาคมโลก และที่สำคัญคือการเปิดศึกสงครามเศรษฐกิจต่อรัสเซียที่กำลังส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกอย่างหนักต่อทุกประเทศในโลก โดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างไม่เคยอยู่ในสภาวะอย่างนี้มาก่อนในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งภาวะราคาพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้น ตลอดจนกระทบต่อภาวการณ์ขาดแคลนปัจจัยในการผลิตอาหารของโลกที่กำลังส่งผลต่อประชากรโลกในเวลาอันใกล้นี้ ผลกระทบต่อทุกประเทศในโลก ณ เวลานี้และในอนาคตอันใกล้ ได้ถูกซ้ำเติมความรุนแรงให้มีมากขึ้นไปอีก จากการประกาศตัวของฟินแลนด์และสวีเดนที่ขอสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO ล่าสุดนี้ ที่สร้างความขัดเคืองใจให้รัสเซียไม่ใช่น้อย เพราะทุกประเทศรู้ดีว่า เหตุปัจจัยสำคัญยิ่งที่ทำให้ผู้นำรัสเซีย ตกลงใจใช้การปฏิบัติการพิเศษทางทหารต่อยูเครนตั้งแต่ 24 ก.พ.65 ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ก็เพราะการขัดขวางไม่ให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO อันจะเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซียโดยตรง หาก NATO มียูเครนเข้าเป็นสมาชิกชาติที่ 31 ตามความประสงค์ เพราะจะเป็นโอกาสให้สมาชิก NATO ที่ทราบกันดีว่าเป็นปรปักษ์กับรัสเซียโดยตรงตั้งแต่ครั้งยังเป็นสหภาพโซเวียตจวบจนโซเวียตล่มสลายกลายเป็นรัสเซียในปัจจุบัน NATO ที่ก่อตั้งมาเพื่อต่อต้านรัสเซียในช่วงสงครามเย็นก็ยังดำรงคงอยู่ ทั้งยังขยายสมาชิกเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อขยายสมาชิกมาจนถึงยูเครนได้ ก็หมายความว่า NATO จะสามารถติดตั้งขีปนาวุธใดๆ ประชิดติดชายแดนรัสเซีย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่รัสเซียจะยอมให้เกิดไมได้ สงครามหรือการปฏิบัติการพิเศษทางทหารของรัสเซียต่อยูเครนจึงเกิดขึ้น หากแต่บทเรียนจากยูเครนหนนี้ จึงกลับเร่งปฏิกิริยาให้ทั้งฟินแลนด์และสวีเดนตัดสินใจขอเข้าร่วมเป็นสมาชิก NATO อย่างรวดเร็วขึ้น ภายใต้การคัดค้านของตุรกี หนึ่งในสมาชิก NATO ที่ไม่เห็นด้วยที่ NATO จะรับทั้งสองประเทศนั้นเข้าเป็นสมาชิกในยามนี้ เพราะนอกจากจะเห็นว่าฟินแลนด์และสวีเดนให้การสนับสนุนกลุ่มต่อต้านตุรกีให้มีที่พักพิงและ สวีเดนและฟินแลนด์ได้เคยปฏิเสธคำขอของตุรกีให้ส่งตัวผู้ที่ตุรกีระบุว่ามีความเชื่อมโยงกับกลุ่มก่อการร้ายจำนวน 33 คน กลับไปยังตุรกีแล้ว ตุรกียังวิตกกังวลว่า การรับฟินแลนด์และสวีเดนอันเป็นประเทศที่อยู่ใกล้ชิดติดกับรัสเซีย จะยิ่งเป็นการยั่วยุให้รัสเซียขยายการปฏิบัติการทางทหารไปในวงกว้างในภูมิภาคนี้ขึ้นไปอีก และนั่นอาจจะยิ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของทุกประเทศในยุโรปและทั่วโลกจากไฟสงครามทางทหารและสงครามเศรษฐกิจให้ย่อยยับลงไปอีกหลายเท่าตัว ทั้งนี้ การรับสมาชิกใหม่ของ NATO นั้น จะต้องได้รับการรับรองอย่างเป็นเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกทั้งหมด 30 ประเทศในปัจจุบัน ซึ่งแม้ NATO และสหรัฐฯ จะมั่นใจว่าในที่สุดแล้วตุรกีจะยอมรับให้สองประเทศในแถบสแกนดิเนเวียเข้าร่วมเป็นสมาชิกองค์การ NATO ได้ก็ตาม หากแต่ ณ เวลานี้ ตุรกีเล็งเห็นว่า ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม ท่ามกลางภาวะสงครามในยูเครนที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบลง ณ จุดใด ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความตึงเครียดในภูมิภาคมากขึ้นไปอีกโดยไม่จำเป็น ล่าสุด นายกรัฐมนตรีสวีเดน แม็กดาเลนา แอนเดอร์สสัน กล่าวว่า รัฐบาลสวีเดนตัดสินใจแจ้งให้องค์การ NATO ทราบแล้วว่าต้องการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ NATO โดยจะมีการยื่นใบสมัครอย่างเป็นทางการในช่วงไม่กี่วันจากนี้ ซึ่งสอดคล้องกับเงื่อนเวลาของฟินแลนด์เช่นกัน พรรคโซเชียล เดโมแครตส์ ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของสวีเดน ได้มีมติยกเลิกการคัดค้านการเข้าร่วมองค์การ NATO ที่ใช้มานานกว่า 73 ปี ซึ่งหาก NATO ตอบรับการเป็นสมาชิกใหม่ของฟินแลนด์และสวีเดนเป็นสมาชิกองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ชาติที่ 31 ละ 32 ตามลำดับ และจะถือเป็นการสิ้นสุดสถานะความเป็นกลางทางทหารของสวีเดนที่ยึดถือเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของประเทศนี้ ยาวนานมากว่าสองร้อยปี โดยนายกรัฐมนตรีแอนเดอร์สสัน กล่าวต่อรัฐสภาสวีเดนว่า จากสงครามในยูเครนขณะนี้ ทำให้เห็นว่ายุโรป สวีเดน และประชาชนสวีเดน กำลังใช้ชีวิตในความเป็นจริงที่เต็มไปด้วยอันตราย แม้ว่าผู้นำสวีเดนจะยืนยันว่าเมื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การ NATO แล้ว สวีเดนไม่ต้องการให้มีการตั้งฐานทัพถาวรของ NATO ในสวีเดน รวมทั้งไม่ต้องการให้มีการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ในดินแดนของสวีเดนก็ตาม แต่ก็ยังเป็นที่น่ากังวลต่อประชาคมโลกที่อาจจะเกิดการขยายตัวของสงครามให้ออกไปในวงกว้างมากขึ้นจนไม่อาจประเมินความเสียหายต่อทุกประเทศในทุกมิติได้ นอกจากนั้น ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวเชิงรุกของผู้นำสหรัฐฯ ผ่านการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ เมื่อ 12-13 พ.ค.ที่ผ่านมา เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าสหรัฐฯ กำลังรุกเข้าใส่อาเซียนเพื่อให้ตัดสินใจเลือกข้างระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตร กับรัสเซียและจีน ซึ่งรู้กันดีว่า สหรัฐฯ กังวลต่อการปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ของจีนในเอเซียและอาเซียนผ่านพันธกรณีระหว่างประเทศมากมายรวมทั้งเส้นทางสายไหมใหม่ที่จีนกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ อันจะทำให้จีนผงาดขึ้นมาเป็นประเทศที่มีอิทธิพลสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งจะกระทบต่อผลประโยชน์ต่อสหรัฐฯ ในที่สุด โดยผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเห็นตรงกันว่าจุดประสงค์แท้จริงที่สหรัฐฯ ที่ซ่อนไว้ก็คือ เพื่อสกัดอิทธิพลจีนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน แม้ว่านายกรัฐมนตรีไทยได้กล่าวย้ำว่า ความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งระหว่างอาเซียนกับสหรัฐมีความสำคัญต่อสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองของสองฝ่ายและของภูมิภาค และหวังว่า รัฐสภาสหรัฐจะให้การสนับสนุนและผลักดันความร่วมมือต่าง ๆ ในทางบวกให้ก้าวหน้าต่อไป หากแต่ว่าการกระชับแน่นครั้งนี้ย่อมกระทบต่อความรู้สึกของยักษ์ใหญ่อย่างจีนที่กำลังมีอิทธิพลในภูมิภาคนี้รวมทั้งไทยอย่างมหาศาลในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจการค้าขายระหว่างจีนที่มีต่อไทย ซึ่งไทยเองต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้มากที่สุดเพื่อเผชิญกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น