เปิดเทอมทีไร มักจะมีข่าวว่า พ่อแม่ผู้ปกครองนำทรัพย์สินต่างๆ กระทั่งเครื่องมือทำมาหากิน ไปเข้าโรงรับจำนำเพื่อให้มีกระแสเงินสดนำมาใช้จ่ายสำหรับการศึกษาเล่าเรียนของลูกหลาน จากรายงานของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ผู้ปกครอง 70.8% มีความกังวลปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษา แต่ด้วยการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุตรหลาน ผู้ปกครองในกลุ่มที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่าย จากการประเมินมูลค่าการใช้จ่ายด้านการศึกษาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อาจเพิ่มขึ้นประมาณ 2.0% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 26,900 ล้านบาท สิ่งที่ผู้ปกครองมีกังวลมากที่สุด 70.8% คือปัญหาเรื่องราคาสินค้าและพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อ รองลงมา 56.8% คือเรื่องการแพร่ระบาดโควิด ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองกว่า 43.2% มีความมั่นใจที่บุตรหลานจะได้กลับเข้าไปเรียนที่โรงเรียน อย่างไรก็ตาม สำหรับแหล่งเงินที่ผู้ปกครอง 41.8% นำมาใช้จ่ายส่วนใหญ่จะมาจากเงินออม และมาจากแหล่งเงินอื่นๆ เช่น บัตรเครดิต ยืมญาติ/เพื่อน รองลงมา 30.4% คือผู้ปกครองใช้เงินออมของตนทั้งหมด ทั้งนี้ มีผู้ปกครองส่วนหนึ่งที่มีเงินออมไม่เพียงพอจำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากที่อื่น 27.8% และในภาวะดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างกว่า 82.6% มองว่า ในช่วงเวลานี้ รัฐควรมีมาตรการเพื่อมาช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา หรือด้านอื่นๆ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่ปรับขึ้นในปีนี้มาจากปัจจัยเฉพาะ อาทิ ค่าเทอมและค่าธรรมเนียม โดยคำนวณส่วนโรงเรียนรัฐและเอกชน ไม่รวมโรงเรียนนานาชาติ เฉลี่ยปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.7% จากผลสำรวจในปีที่ผ่านมา หรือมีมูลค่า 22,700 ล้านบาท แต่ยังต่ำกว่าผลสำรวจในปี 2563 (มีมูลค่าประมาณ 22,965 ล้านบาท) โดยค่าใช้จ่ายที่ปรับขึ้น ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษา เช่น ค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์การเรียน ชุดนักเรียน รองเท้า และค่าใช้จ่ายอื่นๆปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนการเรียนกวดวิชาและเสริมทักษะ แม้นักเรียนสามารถกลับไปเรียนได้แล้ว แต่ความกังวลเรื่องโควิดและปัญหากำลังซื้อทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพิ่มขึ้นไม่มาก อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่า งบประมาณที่รัฐบาลอุดหนุน เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการการศึกษาขั้นพื้นฐานอนุบาลถึง ม.6 ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนรายหัว ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบ ที่รัฐบาลจุดสรรให้มเพยีงพอหรือไม่ และยังมีเงินกู้ที่กระทรวงศึกษำธิการนำมาเยียวยานักเรียนอีก ปัจจัยใดที่สนับสนุนให้เกิดปัญหาเดิมๆซ้ำๆทุกครั้งที่เปิดเทอม เป็นเรื่องที่ต้องขบคิด แก้ไขและขจัดให้หมดไป