ณรงค์ ใจหาญ
ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาร่วมสมัยของประเทศในโลกนี้ เพราะในช่วงฤดูที่มีฝนตกมาก แต่ละประเทศก็ได้รับผลกระทบแตกต่างกัน หากเป็นประเทศที่อยู่ใกล้กับฝั่งมหาสมุทร และไม่มีภูเขากั้นมากนัก จะได้รับผลกระทบภาวะที่พายุขนาดใหญ่พัดเข้ามา ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น รวมถึงมีผลกระทบต่อการติดขัดของการคมนาคม การสื่อสาร และทรัพย์สินของประชาชนที่เสียหายอันเกิดจากพายุฝนหรือน้ำท่วมเข้ามาในเมืองอย่างรวดเร็ว
ปัญหาเหล่านี้ เกิดขึ้นในประเทศไทยเกือบทุกปี เพียงแต่ในบางปีจะเกิดปัญหามากน้อยต่างกัน แต่สาเหตุที่ทำให้น้ำจากพายุฝนซึ่งตกต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ไม่ได้เกิดจากปริมาณน้ำฝนที่ไหลมาจำนวนมากเท่านั้น แต่เกิดจากการขาดการจัดระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพ หรือการวางแผนที่จะมีพื้นที่รับน้ำที่ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ก่อนที่จะไหลลงสู่ปากแม่น้ำ ทั้งนี้ เนื่องจากว่า การพัฒนาเมือง รวมถึงการรวมศูนย์กลางของธุรกิจ และการติดต่อสื่อสารเข้าสู่ส่วนกลางหรือเมืองใหญ่ เป็นเหตุให้ประชาชนต้องเข้ามาหาที่อยู่อาศัยในเขตเมืองหรือปริมณฑลโดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ หาดใหญ่ เป็นต้น พื้นที่ในเขตเมืองเหล่านี้ จึงไม่มีที่ว่างเพียงพอที่จะรับน้ำ เพราะได้ปรับเปลี่ยนกลายเป็นถนน และที่อยู่อาศัย เต็มพื้นที่ และมีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้พื้นที่ดังกล่าวจำเป็นต้องมีระบบระบายน้ำที่ดีและมีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาจำนวนมากสามารถระบายลงสู่คลองหรือทางระบายน้ำไปสู่แหล่งน้ำสาธารณะได้ทัน มิฉะนั้น จะเกิดภาวะน้ำเอ่อล้น รอการระบาย ทำให้เกิดภาวะที่คนทั่วไปเห็นว่าเป็นภาวะน้ำท่วม ตามบริเวณต่างๆ และก่อให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง และเกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่นำไปสู่ความเดือดร้อนของประชาชน
การต่อสู้กับปัญหาดังกล่าวที่ผ่านมา รัฐบาลทุกสมัย ได้แก้ปัญหาระยะสั้น โดยการเร่งระบายน้ำ และจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้น และเป็นกรณีฉุกเฉิน ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ ควรจัดแผนระยะยาว เพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วม หรือปัญหาภัยแล้งที่เป็นการวางแผนอย่างบูรณาการ อีกทั้งกำหนดมาตรการที่กักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน ให้น้ำไหลลงสู่ปากแม่น้ำน้อยที่สุด โดยเก็บไว้ในที่ใดที่หนึ่ง หรือผันน้ำไปสู่ลุ่มน้ำอื่นที่มีน้ำน้อยกว่า และเมื่อถึงช่วงฤดูแล้ง ก็นำน้ำที่เก็บกักไว้ มาใช้แทนที่จะต้องหาแหล่งน้ำอื่นมาในช่วงหน้าแล้ง
มาตรการวางแผนระยะยาวนี้ ได้มีกำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ซึ่งถือเป็นร่างกฎหมายที่ได้ดำเนินการยกร่างฯ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นเวลานาน และหลายครั้ง ร่างฯดังกล่าวยังอยู่ระหว่างรอการนำเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างไรก็ดี การมีแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง เป็นมาตรการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เป็นระบบ และบูรณาการ แต่สิ่งที่สำคัญคือ การบังคับใช้มาตรการที่กำหนดไว้อย่างเข้มงวด และจริงจัง จึงจะเกิดผลที่เป็นรูปธรรมจริง
ปัญหาในอดีตที่ผ่านมา คงจะจำกันได้ถึงความเดือดร้อนของคนภาคกลาง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลที่ต้องย้ายที่อยู่ของตนเพื่อหลบเลี่ยงภาวะน้ำท่วมเป็นเวลาหลายเดือน จะต้องปิดเรียนและหยุดการทำงานในบางหน่วยงานเพราะไม่อาจเดินทางเข้ามาทำงานได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก ทั้งๆ ที่ในขณะนั้น น้ำฝนไม่ได้ตกในกรุงเทพมหานคร แต่เป็นน้ำที่ระบายมากจากเขื่อนใหญ่ๆ ที่มีฝนตกจำนวนมากจนทำให้น้ำในเขื่อนสูงเกินระดับที่จะรับได้จึงต้องระบายออกในท้ายที่สุด และทำให้น้ำไหลลงสู่ปากแม่น้ำจำนวนมหาศาล ในช่วงเวลาที่น้ำทะเลหนุน จึงทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมเป็นเวลานาน
เหตุการณ์เหล่านี้ เป็นสิ่งที่หลายๆ คนเห็นว่า มีความจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีที่จะคาดหมายถึงปริมาณน้ำฝนที่จะตกมาในประเทศ เพื่อวางแผนได้ว่าควรเก็บน้ำที่เกิดจากฝนตกไว้เท่าใด และควรระบายออกไปในปริมาณเท่าใดจึงจะเพียงพอต่อความต้องการของประชาชนแต่ละภาคส่วนให้สามารถใช้ได้ตลอดปี โดยไม่มีข้อขัดข้อง เทคโนโลยีที่ช่วยในการคำนวณจึงมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ ในขณะเดียวกัน การวางแผนการใช้ที่ดิน และการกำหนดให้มีพื้นที่รับน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญ ประกอบกับ การก่อสร้างหรือการสร้างทางที่จะไม่ทำให้ปิดกั้นทางน้ำไหล ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งในการที่ต้องวางแผนและมีมาตรการป้องกัน มิให้ก่อสร้างหรือทำทางปิดทางน้ำในอนาคต
ในด้านบทบาทของรัฐที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและการจัดให้มีน้ำเพียงพอแก่ประชนขนเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างเพียงพอ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 57 (2)กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการ ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์ อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการ และได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนในมาตรา 72 (4) กำหนดให้รัฐจัดให้มีทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคของ ประชาชน รวมทั้งการประกอบเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการอื่น ซึ่งหมายความว่า การบริหารจัดการน้ำเป็นภาระกิจประการหนึ่งที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อให้ประชาชนมีทรัพยากรน้ำใช้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพด้วย ภาระเหล่านี้ ในร่างกฎหมายทรัพยากรน้ำ กำหนดให้มีคณะกรรมการระดับชาติกำหนดนโยบายและแผนการปฏิบัติการ ซึ่งเสนอโดยคณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละลุ่มน้ำ ซึ่งในปัจจุบัน เป็นภาระกิจของคณะกรรมการลุ่มน้ำแห่งชาติ และงานบางส่วนอยู่ในกรมทรัพยากรน้ำ
ปัญหาที่เกิดความขัดแย้งและมีข้อร้องเรียนในช่วงน้ำท่วมคือ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและต้องทำแนวกั้นน้ำ รวมถึงต้องทำให้ประชาชนสามารถใช้ถนนเพื่อการสัญจรหรือต้องรักษาบางพื้นที่ไว้เพื่อให้เป็นเขตที่สามารถทำธุรกิจได้ จึงเป็นปัญหาว่า ประชาชนส่วนหนึ่งต้องทนรับน้ำท่วม เพื่อให้อีกส่วนหนึ่งได้มีการติดต่อสัญจร ความขัดแย้งเหล่านี้ จึงต้องอาศัยอำนาจของเจ้าพนักงานที่เข้าไปจัดการปัญหาหรือต้องไปรื้อถอนหรือติดตั้งสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ อย่างดีที่สุด และให้มีผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ อำนาจหน้าที่เหล่านี้เอง จึงต้องมีกฎหมายกำหนดไว้ให้ชัดเจน และต้องมีมาตรการเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากภาวะน้ำท่วม เข่น ความเสียหายที่ต้องซ่อมแซมบ้านเรือน หลังน้ำลด ความเสียหายของพืชไร่ที่เกิดภาวะน้ำท่วมเป็นเวลานาน รวมถึงสิ่งของ เครื่องอุปกรณ์ที่สูญเสียไปด้วย สิ่งเหล่านี้ หากความเสียหายนั้นประชาชนได้รับเพิ่มขึ้นจากการที่ต้องจัดระบบที่ป้องกันพื้นที่ส่วนใดให้ไม่ท่วม ประชาขนที่ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ ควรได้รับการเยียวยามากกว่าความเสียหายอันเกิดจากน้ำท่วมปกติของประชาขนโดยทั่วไป ซึ่งต้องมีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจน
มาตรการที่จะแก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่กล่าวมาข้างต้น ควรเป็นมาตรการระยะยาว ที่จัดทำเป็นแผนดำเนินงาน มีบูรณาการณ์ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน ชุมขนในการแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ ควรมีการเตรียมการแก้ไขในภาวะฉุกเฉิน ไว้ด้วย อย่างไรก็ดี มาตรการในการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปแก้ไขหรือป้องกันกรณีเกิดภาวะน้ำท่วม แม้เป็นการก้าวล่วงอำนาจจัดการทรัพย์สินของประชาชน เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่รัฐต้องมีการชดเชยความเสียหายให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนพิเศษซึ่งมีอัตราที่แตกต่างจากการได้รับเงินเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากภาวะน้ำท่วมโดยปกติทั่วไป มาตรการเหล่านี้ควรมีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจน ส่วนในด้านการป้องกันการปลูกสร้างอาคารหรือการสร้างถนนกั้นทางน้ำ เป็นมาตรการที่ต้องใช้การวางผังเมือง และการควบคุมการก่อสร้างอาคาร รวมถึงการควบคุมการสร้างถนนสาธารณะที่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว
อย่างไรก็ดี การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ รวมตลอดถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งควรอยู่ในอำนาจการดูแลของหน่วยงานใด เป็นประเด็นที่ควรได้รับการพิจารณาและกำหนดให้ชัดเจน เพราะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบในเรื่องน้ำหลายหน่วย แต่ละหน่วยก็อยู่ในกระทรวงที่ต่างกัน การบูรณาการในภาพรวมเพื่อให้เกิดเอกภาพจึงเป็นปัญหาที่สำคัญอีกประการที่ต้องการการกำหนดที่ชัดเจน