สังคมไทยเลือกหนทางจัดการแก้ไขปัญหาที่ลงทุนสูงมาก คือการรัฐประหาร ผลที่ควรจะได้รับกลับมา คงมิใช่แค่เพียง “สกัดกั้นความรุนแรง” เท่านั้น “การปฏิรูป” เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวัง แน่นอนว่าการปฏิรูป ต้องผ่านระยะเวลา มันไม่อาจเป่าเสกขึ้นมาในทันทีทันใด แต่ทว่ารัฐก็ควรกำหนดมาตรการและเป้าหมายให้ชัดเจนเป็นรูปธรรม ไม่ควรทอดทิ้ง “การปฏิรูป” ไว้กับองค์กรผลักดันการปฏิรูปที่เป็นแค่ “เสือกระดาษ” สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากการปฏิรูปคือ 1. รัฐต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ ตามเจตนารมณ์ของสังคม เพื่อนำไปสู่การกระจายอำนาจที่แท้จริง 2. รัฐต้องผลักดันให้เกิดการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรม 3. รัฐต้องเร่งรัดผลักดันนโยบายการปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ เพื่อให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน กำหนดมาตรฐานในการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า จัดเก็บภาษีทรัพย์สินมรดก 4. จัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตร เสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อการเกษตรเพื่อนำเงินทุนไปซื้อที่ดินที่ถือครองเกินขนาดจำกัด 5.แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง โครงการพัฒนาที่กระทบเรื่องที่อยู่อาศัย ต้องคำนวณงบประมาณการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยเป็นต้นทุนของโครงการด้วย และต้องให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วม ให้มีนโยบายนำที่ดินรัฐมาจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับคนจน 6. ให้มีนโยบาย และกลไกในการแก้ปัญหาคนเร่ร่อนไร้บ้านอย่างชัดเจน ในเรื่องที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนเป็นสำคัญ 7. รัฐต้องประเมินความคุ้มค่าของเขื่อนทั่วประเทศ โดยศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม หากไม่คุ้มค่า เกิดความเสียหาย ให้ยกเลิกการดำเนินโครงการนั้น 8. ให้ทบทวน ยกเลิก ยุติ การดำเนินการเหมืองแร่ทุกประเภท ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชุมชน โดยเฉพาะเหมืองแร่ที่กำลังมีความขัดแย้งกับชุมชน ปรับปรุง แก้ไข และยกเลิก ระเบียบ กฎหมาย นโยบาย และมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นอุปสรรคในการรองรับสิทธิ์ให้แก่ชุมชนท้องถิ่นในการจัดการที่ดิน และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ 9. ให้มีมาตรการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทย เร่งรัดการแก้ไขปัญหาสถานะกลุ่มคนที่เข้าเกณฑ์ ตาม พ.ร.บ. สัญชาติ(ฉบับที่ 4) 2551 ให้เป็นไปตามปฏิญญาสากล