ความสัมพันธ์ระหว่างปัญหาหนี้สินครัวเรือนกับการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นไปด้วยกัน แม้จะมีบางกลุ่มที่หนี้มากแต่ฐานะร่ำรวย ด้วยเป็นหนี้ที่ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต เช่น กู้มาลงทุนในกิจการต่างๆ ที่จะมีผลกำไรตามมา ขณะที่ก็มีหนี้เลว หรือหนี้ที่ก่อให้เกิดรายจ่ายมากกว่ารายได้ เช่น กู้มากิน มาเที่ยว อย่างที่เคยเห็นพังมานักตี่อนักแล้ว ก็คือใช้บัตรเครดิตรูดเพื่อเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ หรือซื้อสินค้าแบรนด์เนมหรูหรา แต่ไม่สามารถผ่อนชำระได้ตามกำหนด กลายเป็นหนี้เรื้อรัง เมื่อหันมาดูตัวเลขหนี้ครัวเรือนไทย ไตรมาส 3 ปี 2564 อยู่ที่ 14.3 ล้านล้านบาท ในส่วนของการแก้ไขปัญหา ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยนายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและต้องบูรณาการความร่วมมือช่วยกันแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนของคนไทย โดยมีมาตรการเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มแม่ค้า คนรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น วิธีการเสริมรายได้ให้คนไทย เป็นต้น เพื่อให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่รายได้ไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด-19 ระหว่างนี้ต้องทำมาตรการปัจจุบันให้เกิดประสิทธิผล และเกิดรูปธรรม เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ และการรวมหนี้ เป็นต้น สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนมี 5 แนวทาง ประกอบด้วย 1.ให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเงินกับประชาชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ก่อนกู้ยืมหรือลงทุน เริ่มต้นจากกลุ่มนักเรียนนักศึกษา 2.สถาบันการเงินต้องมีความรับผิดชอบในการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่ได้กำหนดว่าหนี้ต่อรายได้ หรือ DSR จะต้องอยู่ที่เท่าไร แต่ธปท.ได้ให้คำนิยามเดียวกันขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการเงินจะกำหนด 3.หน่วยงานกำกับอย่างธปท.ต้องส่งเสริมให้เกิดความรู้ทางการเงินและกำหนดนโยบายต่าง ๆ แก่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ 4.เมื่อเกิดปัญหาและต้องแก้ไข ที่ผ่านมาธปท.และสถาบันการเงินได้ร่วมกันแก้ไขออกมาตรการ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ หลังจากเดิมที่มาการพักหนี้ซึ่งเป็นแค่ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อหมดมาตรการพักหนี้แล้ว ลูกหนี้ก็ต้องกลับมาชำระหนี้เหมือนเดิม และจะมีกระบวนการไกล่เกลี่ย เจรจาลูกหนี้ก่อนที่จะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี 5.ธปท.อยากเห็นการรวมศูนย์ข้อมูลลูกหนี้ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน แม้จะมีหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เครดิตบูโรแล้วก็ตาม หากมีข้อมูลูกหนี้ที่รวมศูนย์จะทำให้สถาบันการเงินเห็นข้อมูลได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อการปล่อยกู้แก่ลูกหนี้ ขณะนี้มีหลายทางเลือกอาจเป็นการจัดตั้งขึ้นมาใหม่ หรือใช้หน่วยงานเดิมก็ได้แล้วแต่อุปสรรคของกฎหมาย กระนั้น ปัญหาหนี้และการแก้ไขปัญหาความยากจน น่าจะขับเคลื่อนไปอย่างเข้มข้น ตามเป้าหมายที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศแกห้ไขปัญหาความยากจนในปีนี้ โดยบอกว่า โครงการแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งเดินหน้าอยู่ตอนนี้ ก็ต้องเดินไปให้ถึงเป้าหมาย พุ่งเป้าลงไปว่าเขาต้องการอะไร ขาดอะไร เราต้องส่งเสริมอะไร มันจะทยอยดีขึ้นเรื่อยๆอันนี้เป็นนโยบายที่เราเริ่มทำในปี 65 ไม่ใช่ทุกคนจะหายจนหมดในปี 65 อ หลายอย่างมันต้องใช้เวลานานพอสมควร