ประเทศไทยเปิดประเทศอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาเพื่อฟื้นฟูเศรษกิจของประเทศ แต่กระนั้น ในมุมมองของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เห็นว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ จะฟื้นตัวไม่เร็วมาก แม้ว่าการส่งออกในปีนี้จะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ซึ่ง 3 เดือน ขยายตัวได้กว่า 15% โดยจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่การท่องเที่ยวในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาไม่เต็มที่ โดยในช่วง 4 เดือนแรก มีนักท่องเที่ยวเข้ามาแล้วประมาณ 7 แสนคน ทั้งนี้จากตัวเลขดังกล่าว ประเมินว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 2 ล้านคน ขณะที่ที่ผ่านมาก่อนสถานการณ์โควิดจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 40 ล้านคนต่อปี แต่เชื่อว่าหลังจากเปิดประเทศเต็มรูปแบบแล้ว นักท่องเที่ยวจะเริ่มหลั่งไหลเข้ามาในประเทศเรามากขึ้น อย่างไรก็ดี การพยุงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ในระดับ 30 บาทต่อลิตรนั้น ทางกระทรวงพลังงาน ได้เรียนว่า ด้วยสถานการณ์ราคาน้ำมันที่อาจจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จำเป็นต้องยกระดับเพดานราคาน้ำมันที่เข้าไปพยุงให้สูงขึ้น แต่รัฐบาลก็ยังคงอุดหนุนอยู่ เช่น กรณีราคาน้ำมันขึ้นไป 1 บาท รัฐบาลก็ช่วยพยุง 50 สตางค์ เป็นต้น ขณะที่นโยบายทางด้านภาษีก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปช่วยให้ราคาน้ำมันต่ำกว่าเพดานการดำเนินนโยบายในการดูแลเศรษฐกิจหรือการออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนนั้น กระทรวงการคลังจะต้องดูแลให้สอดคล้องกับฐานะการเงินของประเทศ เพื่อไม่ให้ก่อให้เกิดภาระทางการคลังในอนาคต ทั้งนี้ การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในอนาคตนั้น จะมี 3 ประเด็นที่มีอิทธิพล คือ 1.เรื่องเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล 2.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 3.สังคมสูงอายุ ซึ่งทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อรองรับ ขณะที่นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. กล่าวในงานสัมมนา “ รวมพลังก้าวข้ามวิกฤต เดินหน้าเศรษฐกิจไทย” ว่า ประเทศไทยยังเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งจากสถานการณ์โควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และสถานการณ์โลกกรณีความขัดแย้งระหว่าง รัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลให้ราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนการผลิต ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้น จากราคาน้ำมันปี 2654 เฉลี่ยอยู่ที่ 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ขณะนี้อยู่ที่ 100-110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งภาคอุตสาหกรรมยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมมองว่าการส่งออกไทยยังอยู่ในช่วงขาขึ้นมาอัตราการขยายตัวร้อยละ 19.5 หรือมีมูลค่า 2.9 หมื่นล้านเหรียญถือเป็นเครื่องยนต์หลักที่จะช่วยยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโต (สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น11พ.ค.2565) อย่างไรก็ตาม ถึงแม้มุมมองจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญอุปสรรค แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ มีแต่จะต้องลุยไฟ