ตีโฉบฉวย / เสือตัวที่ 6 ท่ามกลางสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนภายใต้การสนับสนุนและแสดงออกอย่างชัดเจนในการเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัสเซียของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และชาติสมาชิกองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ที่ยังคงตึงเครียดด้วยบรรยากาศแห่งความขัดแย้งของมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายที่ต้องเข้าใจว่าประเทศยูเครนนั้นเป็นเพียงตัวแทนของโลกตะวันตกในการทำสงครามต่อต้านการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียที่ทางทหารกล่าวขานกันว่าเสมือนสงครามตัวแทน (Proxy War) อันอาจเป็นการทดสอบศักยภาพทางทหารรัสเซียในขณะนี้อีกทางหนึ่งว่าจะมีพลังอำนาจทางทหารมากน้อยแค่ไหน ด้วยคู่สงครามที่ไม่ใช่เฉพาะยูเครนเท่านั้นที่ต่อสู้กับรัสเซีย หากแต่มีสหรัฐอเมริกาและชาติมหาอำนาจในยุโรปตะวันตกให้การหนุนหลังอย่างออกนอกหน้า จึงส่งผลให้การปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียไม่ประสบความสำเร็จตามแผนได้ในเร็ววัน สงครามความรุนแรงที่กำลังต่อกรกันระหว่างสองฝ่ายครั้งนี้จึงยืดเยื้อมาร่วม 3 เดือนแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะยุติได้เมื่อใด ในขณะที่สหรัฐฯ ก็เดินสายเพื่อปิดล้อมรัสเซียทุกมิติอย่างจริงจังทั้งทางตรงและทางอ้อม อันเป็นการดำเนินยุทธศาสตร์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เองในที่สุด และยุทธศาสตร์สำคัญที่สหรัฐฯ กำลังดำเนินการต่อเนื่องทั้งเข้มข้นมากขึ้นก็คือการรุกไล่ยักษ์ใหญ่อย่างจีนซึ่งรู้กันดีว่าเป็นพันธมิตรแนบแน่นกับฝ่ายรัสเซีย บนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกที่เข้มข้นมากขึ้น เพื่อปิดล้อมทางยุทธศาสตร์ทั้งจีนและส่งผลถึงรัสเซียไปพร้อมกัน ในห้วงเวลาของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่กำลังดำเนินไปนี้ สหรัฐอเมริกาจึงหันกลับมามุ่งให้ความสนใจภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากสหรัฐฯ มองว่าภูมิภาคนี้กำลังเผชิญความท้าทายต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เพราะที่ผ่านมา จีนกำลังผสมผสานพลังอำนาจทางเศรษฐกิจ การทูต การทหาร และเทคโนโลยีของตนโดยมุ่งหวังสร้างเขตอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และพยายามอย่างยิ่งที่จะก้าวเป็นมหาอำนาจที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกโดยเฉพาะในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งแน่นอนว่าหากจีนทำสำเร็จ ย่อมกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่มีกระแสอีกทางหนึ่งในทำนองว่าผู้นำอาเซียนอาจไม่ต้องการเดินทางไปยืนเคียงข้างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซียยังคงลุกโซนด้วยไฟสงครามและจุดยืนตรงข้ามอย่างชัดเจนระหว่างสหรัฐฯ และชาติตะวันตกกับรัสเซียและพันธมิตรแนบแน่นฝั่งภูมิภาคเอเซียอย่างจีน อาจส่งสัญญาณที่แปลความหมายได้ว่าอาเซียนเลือกยืนข้างสหรัฐฯ ซึ่งเป็นการแปลความที่ล่อแหลมต่อผลประโยชน์ของอาเซียนโดยตรง อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกไม่สบายใจของรัสเซียและจีน อย่างไรก็ตาม การเดินทางเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรีไทย ระหว่าง 12 - 13 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ จึงนับเป็นก้าวย่างสำคัญที่ถูกจับตามองของทุกฝ่ายโดยเฉพาะจีนและรัสเซีย และต้องติดตามปฏิกิริยาจากชาติยักษ์ใหญ่และพันธมิตรของทั้งจีนและรัสเซียที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้าซึ่งไม่มีใครคาดเดาได้ว่าจะเป็นผลดีหรือผลเสียต่อผลประโยชน์ของอาเซียนโดยเฉพาะประเทศไทยที่มีผู้นำเดินทางไปประชุมครั้งนี้ การประชุมสุดยอดสมัยพิเศษจัดขึ้นในสหรัฐฯ ของผู้นำไทยครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 2 ที่กรุงวอชิงตัน หลังจากครั้งแรกจัดขึ้นในเมื่อปี 2559 ที่เมืองซันนีแลนด์ ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามา ในครั้งนั้นก็เป็น พล.อ.ประยุทธ์ที่เดินทางไปร่วมประชุมเช่นกัน หากย้อนกลับไปในท่าทีของการดำเนินไปทางการเมืองระหว่างประเทศที่มีต่อประเทศไทยนั้น จะเห็นได้ว่ามีการเยือนไทยของผู้นำญี่ปุ่น นายคิชิดะ ฟูมิโอะ ระหว่าง 1 - 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกผู้นำรัสเซียประกาศว่าเป็นชาติที่เป็นปรปักษ์กับรัสเซียทั้งยังออกคำสั่งห้ามผู้นำญี่ปุ่นเข้าประเทศรัสเซียอีกด้วย ทำให้การเยือนไทยของผู้นำญี่ปุ่นที่ผ่านมานั้น อาจเป็นการตอกย้ำความรู้สึกดังกล่าวจากการเข้าประชุมของผู้นำไทยกับผู้นำสหรัฐฯ ระหว่าง 12 - 13 พฤษภาคม แม้ว่าผลการประชุมนั้นจะไม่มีประเด็นอันจะนำไปสู่ความเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ด้านความมั่นคงทางทหารและไม่บ่งบอกโดยตรงถึงท่าทีที่เลือกข้างในความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตรงข้าม โดยมีสาระสำคัญกว้างๆ คือ การยกระดับสถานะความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน สะท้อนความแน่นแฟ้นและความก้าวหน้าของความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น ซึ่งครบรอบ 135 ปีในปีนี้ รวมทั้งการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศ อาทิ สถานการณ์ในเมียนมา ยูเครน ทะเลจีนใต้และทะเลจีนตะวันออก คาบสมุทรเกาหลี การปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และความสนับสนุนของญี่ปุ่นต่อการจัดประชุมเอเปกของไทย โดยไม่ได้มีการพูดถึงการต่อต้านจีนหรือรัสเซีย หรือปูพื้นฐานให้ไทยเป็นสมาชิกของยุทธศาสตร์ อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ เพื่อต่อต้านจีนแต่ประการใดก็ตาม การเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ครั้งที่ 2 ของนายกรัฐมนตรีไทย ระหว่าง 12 - 13 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ที่กรุงวอชิงตัน มีวัตถุประสงค์ฉลอง 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - สหรัฐฯ โดยผู้นำอาเซียนและประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะร่วมกันกำหนดทิศทางในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันท่ามกลางความท้าทายต่างๆ นับจากนี้เป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญที่ พล.อ.ประยุทธ์นำเสนอในระหว่างเข้าร่วมการประชุมคือ การส่งเสริมให้สหรัฐมีบทบาทสร้างสรรค์ในภูมิภาค เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและการเติบโตอย่างยั่งยืนในยุค Next Normal โดยเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การส่งเสริมบทบาทสร้างสรรค์ของสหรัฐในภูมิภาค การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจเข้มแข็งและยั่งยืน และการพัฒนายั่งยืน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การเข้าประชุมสุดยอด อาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษดังกล่าว จึงไม่มีประเด็นที่ล่อแหลมต่อการกระทบผลประโยชน์ของชาติ อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ในห้วงเวลานี้ เป็นสถานการณ์ที่มีความเปราะบางจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซียและจีนที่กำลังดำเนินไปนาทีต่อนาที ทำให้ทั่วโลกต่างสงวนท่าทีของชาติตนที่อาจนำพาความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากคู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การขับเคลื่อนวิถีทางในการเมืองระหว่างประเทศในห้วงนี้ ผู้นำประเทศทั้งหลายจึงต้องตระหนักในทุกท่าทีที่ดำเนินไปอย่างระมัดระวังที่สุด เพราะเป็นก้าวย่างสำคัญทางการเมืองระหว่างประเทศท่ามกลางสถานการณ์อันไม่ปกติของโลกที่คุกรุ่นลุกโชนของสงครามยุคใหม่ทั้งสงครามด้วยอาวุธและสงครามเศรษฐกิจระหว่างชาติมหาอำนาจทั้งสองฝ่ายที่ทุกฝ่ายกำลังกังวลยิ่งต่อความเปราะบางที่อาจจะนำชาติของตนก้าวย่างเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น