จากการเฝ้ามองปรากฏการณ์การล้อเลียน หรือทำให้กลายเป็นตัวตลก เพื่อทำลายความน่าเชื่อ ตามกลยุทธ์ “ดึงฟ้าต่ำ” ในสังคมไทยแล้วน่าเป็นห่วง นับตั้งแต่บุคคลในกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมือง แต่งกายล้อเลียน มาถึงกรณีสายการบินแห่งหนึ่งเล่นมุก April fools day จัดโปรโมชันสายการบินล้อเลียนสถาบัน มาถึงกรณีของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์รายใหญ่ ที่โฆษณามีเนื้อหาและภาพล้อเลียนบุคคลสำคัญของสถาบันที่มีอาการป่วยในห้วงเวลาหนึ่ง เพียงเพื่อให้เป็นกระแส หวังผลการตลาดอย่างอำมหิต เรื่องราวมักจะลงเอยด้วยผู้เกี่ยวข้องออกมาขอโทษ และเยียวยาด้วยกลวิธีต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่น่าตกใจ ก็คือ ผู้ที่อย่ในกระบวนการผลิต ออกมาเปิดเผยความรู้สึกโดยยอมรับว่า รู้อยู่แก่ใจและอยากจะทำแรงกว่านี้ ทั้งที่ตอนนี้มีกฎหมายคุ้มครองอยู่... แต่หากมองเลยม่านกฎหมายไป ก็จะพบเห็นถึง มารยาท กาลเทศะ รสนิยม ของผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ผู้ร่วมผลิตเนื้อหา เอเชนซี่และเจ้าของกิจการ พวกเขามองความป่วยไข้ของผู้คนอย่างไร ขณะเดียวกันก็จะมีลัทธิ “เอาอย่าง” ตามมาอีกเรื่อยๆ เพราะคิดว่า ขอโทษและเอาเงินไปสร้างภาพทำบุญกับผู้พิการแล้วจะจบ หรือ เมื่อมีการดำเนินคดีหรือดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้เกี่ยวข้อง ก็มักจะอ้างสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกนึกคิด และหัวใจของผู้ที่เคารพรักศรัทธา ไม่เพียงเฉพาะสถาบันเบื้องสูง หากแต่พฤตกรรมของความก้าวร้าว หยาบคาย ไร้กาลเทศะ และไร้หัวใจนี้เป็นเชื้อไวรัสร้าย ที่แพร่กระจายสร้างความป่วยไข้ให้กับคนในสังคม ได้กัดกร่อนสถาบันทางสังคมต่างๆ ทั้งสถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา เป็นต้น ถึงเวลาที่ผู้มีอำนาจและทุกฝ่ายจะต้องหันมาช่วยกัน หาแนวทางในการแก้ไขวิกฤติเชื้อไวรัสอันตรายที่แพร่กระจายอยู่นี้ ด้วยมาตรการที่เข้มข้น แยบยลและเปี่ยมไปด้วยศิลปะ เพื่อไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ ขึ้นอีก และนำไปสู่การแพร่ระบาดวงกว้างจนทำลายระบบต่างๆ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งผลิตวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสอันตรายดังกล่าว ควบคู่กันไป ก่อนที่สังคมไทยจะล่มสลาย