ตีโฉบฉวย / เสือตัวที่ 6
มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียโดยการนำของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่มุ่งหวังลงโทษต่อรัสเซียที่รุกรานด้วยกำลังทหารเข้าใส่ยูเครนตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งยังทวีความเข้มข้นในมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจมากขึ้นเพื่อหวังจะลดทอนศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียลงจนนำไปสู่การยุติสงครามที่เกิดขึ้น หากแต่ผลจากการคว่ำบาตรทั้งหลายที่ถาโถมเข้าใส่รัสเซียในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ ช่างแตกต่างจากผลที่เกิดขึ้นในยุคก่อนอย่างสิ้นเชิง ด้วยศักยภาพของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างรัสเซียได้ถูกพัฒนาความเข้มแข็งขึ้นมาอย่างรอบด้านเป็นทวีคูณ ทั้งการยึดโยงเครือข่ายทางเศรษฐกิจทั้งหลายในโลกยุคใหม่นี้ได้สานสัมพันธ์กันและกันอย่างแนบแน่นในลักษณะของการพึ่งพาและพึ่งพิงกันและกันแทบจะเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งเดียวกันโดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรป รวมทั้งขยายความเป็นห่วงโซ่อุปทานไปในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกอย่างแน่นแฟ้นอีกด้วย ทำให้การเดินสายของคนระดับนำของสหรัฐฯ เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากประเทศในเอเซีย อาทิ อินเดีย จีน และตะวันออกกลาง อาทิ ซาอุดีอาระเบีย กลับไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่คาดหวัง มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียโดยการนำของสหรัฐฯ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อรัสเซียเท่าไรนัก ทั้งยังส่งผลสะท้อนกลับไปยังประเทศอื่นๆ ทั่วโลกโดยเฉพาะในยุโรปเองที่กำลังสร้างความกังวลให้กับหลายฝ่ายอย่างมาก เกิดการคาดการณ์กันว่า ผลลัพธ์ที่ตามมาจะไม่ได้ตกอยู่กับรัสเซียเองเท่านั้น แต่จะย้อนกลับมาถึงอเมริการวมถึงทั้งโลกด้วย
มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดอย่างหนึ่ง คือการห้ามนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย ด้วยปิโตรเลียมเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของรัสเซีย ที่มีสัดส่วนต่อมูลค่าการส่งออกทั้งหมดโดยมีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 50% แต่บทบาทของปิโตรเลียมรัสเซียในเวทีโลก ที่คิดเป็นประมาณ 10% และเป็นแหล่งพลังงานหลักของทวีปยุโรป ถ้าปริมาณนี้หายไป ก็ย่อมส่งผลกดดันให้ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วยซึ่งก็จะส่งผลกระทบมาถึงสหรัฐฯ ในที่สุด ทำให้มีแนวโน้มว่า ผู้ใช้รถยนต์ในสหรัฐฯ รวมถึงคนทั่วโลก จะต้องจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้นไปอีก ซึ่งประชาชนในสหรัฐฯ เอง ก็อาจจะผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมันแพงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้สหรัฐฯ จะพยายามเจรจาให้ประเทศผู้ส่งออกน้ำมันจากตะวันออกกลางอย่างซาอุดีอาระเบีย เพิ่มกำลังการส่งออกน้ำมันดิบให้มากขึ้น หากแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองจากประเทศเหล่านั้นเท่าที่มุ่งหวัง นอกจากนั้นมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อรัสเซียจากที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันยังเกิดผลสะท้อนกลับไปสู่สหรัฐฯ และประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในยุโรป ที่กำลังได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และคนในทุกประเทศในโลกใบนี้กำลังเผชิญกับค่าครองชีพที่สูงขึ้นจนได้รับความยากเข็ญไปทั่วหน้าเช่นกัน
อาทิ ประเทศลัตเวีย ประเทศชุดแรกในยุโรป ที่เคยร่วมคว่ำบาตรก๊าซจากรัสเซีย ยอมยกเลิกการร่วมคว่ำบาตรก๊าซจากรัสเซียแล้ว โดยลัตเวียเป็นประเทศในอดีตสหภาพโซเวียต ที่อยู่ในกลุ่มภูมิรัฐศาสตร์เดียวกัน จึงเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบระบบส่งพลังงานทางท่อก๊าซที่มีโครงสร้างสลับซับซ้อน โดยเฉพาะประเทศแถบทะเลบอลติกในปัจจุบัน ทำให้ประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียและประเทศเบลารุสเท่านั้น โดยผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของท่อส่งน้ำมัน ก๊าซและระบบไฟฟ้าที่สืบทอดมาจากในอดีต ซึ่งเป็นไปได้ว่าเพื่อป้องการบรรดารัฐย่อยในขณะนั้นกระด้างกระเดื่องต่อรัฐใหญ่สุดในสหภาพฯ ระบบไฟฟ้าของประเทศย่านทะเลบอลติก จึงไม่ได้เชื่อมโยงสัมพันธ์กับระบบไฟฟ้าของยุโรปตะวันตก (UTCE) หรือระบบไฟฟ้าสแกนดิเนเวีย (Nordel) นอกจากนี้บริษัท Gazprom ผู้จัดจำหน่ายก๊าซของรัสเซียยังมีส่วนได้เสียผลประโยชน์มหาศาลกับบริษัทก๊าซในย่านทะเลบอลติกทั้งหมด ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาประเทศที่แตกมาจากสหภาพโซเวียตแม้จะมีแผนการกระจายความเสี่ยงหลากหลาย แต่พวกเขาไม่อาจหลุดพ้นกับดักโครงสร้างระบบท่อส่งก๊าซ และน้ำมันเหล่านี้จากรัสเซียไปได้ ซึ่งหากจะปรับเปลี่ยนระบบการส่งก๊าซและนำมันจากรัสเซียเหล่านี้ จะต้องใช้เวลาในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้เป็นเวลาไม่น้อย
โครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ถูกออกแบบมาให้ต้องพึ่งพากันนี้ ทำให้ยังคงพึ่งพาก๊าซที่จัดหาโดยรัสเซียเกือบทั้งหมด ตลาดก๊าซในประเทศแถบบอลติกถูกตัดขาดจากยุโรปอย่างมาก วันที่ 1 เม.ย.65 ที่ผ่านมาประเทศลิทัวเนีย ที่อยู่ในย่านบอลติก เป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรป (EU) ที่ประกาศหยุดการนำเข้าก๊าซของรัสเซีย ตามมาด้วยลัตเวีย และเอสโตเนีย หวังจะยุติการพึ่งพาพลังงานของรัสเซีย ทั้ง 3 ชาตินี้ได้เรียกร้องให้ EU ส่วนที่เหลือปฏิบัติตามตัวอย่างความกล้าของพวกเขา ไม่นานมานี้ประธานาธิบดีกิตานัส นาวเซดา แห่งลิทัวเนียประกาศกร้าวว่า จากนี้ไป จะไม่มีก๊าซรัสเซียในลิทัวเนียอีกต่อไป เมื่อหลายปีก่อน สิ้นคำประกาศของผู้นำลิทัวเนียเพียง 1 วัน รัฐบาลลัตเวีย ประเทศเล็กๆ แถบบอลติก และมีชายแดนติดกับรัสเซีย ซึ่งเคยพึ่งพาก๊าซจากรัสเซียถึง 93% ก็ประกาศตัวร่วมคว่ำบาตรก๊าซกับรัสเซีย หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรมชั้นนำของลัตเวียในภาคพลังงาน ได้กดดันอย่างหนักกับการตัดสินใจที่เร่งรีบนี้เกิดการเผชิญหน้าทางการเมือง สร้างความสั่นคลอนต่อรัฐบาลลัตเวียและเกิดความสับสนอลหม่านในสังคมลัตเวียอย่างมาก จนล่าสุดรัฐบาลลัตเวีย พ่ายแพ้ยอมศิโรราบต่อรัสเซีย โดยตัดสินใจกลับคำประกาศทำสัญญาข้อตกลงระยะยาวกับ Gazprom รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตก๊าซรัสเซีย เพื่อกลับมานำเข้าก๊าซจากรัสเซียดังเดิมเป็นระยะเวลา 8 ปี จนถึงปี 2030 โดยยอมเปิดบัญชีแรกสกุลเงินยูโร และบัญชีสองสกุลรูเบิลกับ Gazprombank รัสเซีย โอนจ่ายค่าก๊าซเป็นยูโร แปลงเป็นรูเบิล โอนต่อเข้า Gazprom ตามข้อกำหนดใหม่ในการซื้อก๊าซและน้ำมันจากรัสเซีย
กรณีตัวอย่างของรัฐบาลลัตเวียนี้ สะท้อนให้เห็นว่าการเป็นปรปักษ์ต่อรัสเซีย จะกระทบต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจและเศรษฐกิจของชาตินั้นๆ จนถึงขั้นล่มสลายได้ สิ่งนี้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจของประเทศยุโรปตะวันออกย่านบอลติก ต้องพึ่งพารัสเซียอย่างมาก ทั้งยังแสดงให้ชาติยุโรปอื่นๆ เห็นว่าไม่มีทางจะหนีออกจากกับดักก๊าซและน้ำมันของรัสเซียในเวลาอันสั้นไปได้ ประเทศใดกระทำต่อรัสเซีย เศรษฐกิจจะพินาศ และประชาชนจะทุกข์ยากแสนสาหัส นี่คือผลสะท้อนกลับเข้าใส่ประเทศนั้นๆ เองอย่างสาสมในที่สุดเช่นกัน