ทีมข่าวคิดลึก
ลำพังเพียงแค่ "คดีรับจำนำข้าว" ก็ทำเอา "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี ตกอยู่ในสถานการณ์ที่สาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว แต่ล่าสุดยังกลายเป็นว่า ปัญหาเก่าเมื่อในอดีตกำลังย้อนกลับมา "เขย่าซ้ำ" กระแทกเป็นระลอกใหม่ เมื่อปัญหาว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำในปี 2554 ถูกหยิบยกขึ้นมา กลายเป็นเงื่อนไขในการตรวจสอบเธออีกครั้ง !
การดิ้นรนต่อสู้ไปพร้อมกับการตอบโต้ สวนหมัดกลับจากฝ่ายยิ่งลักษณ์ และ"บุญทรง เตริยาภิรมย์" แกนนำพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งต่างตกเป็นจำเลยในคดีทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และการขายข้าวแบบจีทูจี ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น น่าสนใจว่าทั้งคู่เลือกที่จะใช้ช่องทางที่มีอยู่เดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเอง ทั้งผ่านการ "ส่งสาร" ไปยัง "สื่อมวลชน" ได้พุ่งไปยังการคัดค้านการใช้มาตรา 44 ของ "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจกรมบังคดีดำเนินการยึดทรัพย์ค่าเสียหายคดีโครงการรับจำนำข้าว
ล่าสุด ยิ่งลักษณ์ ได้ส่งทนายความ"นพดล หลาวทอง" ไปยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ ที่ทำเนียบฯ เพื่อคัดค้านการใช้อำนาจมาตรา 44 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการใช้อำนาจก่อนที่คดีความจะสิ้นสุด เป็นการชี้นำคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำข้าว ให้ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิด เพราะคำสั่งต่างๆ ได้ให้การคุ้มครองคณะกรรมการไม่ต้องรับผิดทางแพ่งและอาญา และใช้คุ้มครองเฉพาะกรณียิ่งลักษณ์เท่านั้นและที่สำคัญ ยังเป็นการให้อำนาจกรมบังคับคดีเข้ามามีอำนาจยึดทรัพย์ ถือเป็นการก้าวล่วงอำนาจศาล
อย่างไรก็ดี ขณะที่กระบวนการยุติธรรมในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและจีทูจี กำลังเดินหน้าไปอย่างเข้มข้นก็พลันปรากฏว่ามีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และกดดันไปยังยิ่งลักษณ์ระลอกใหม่ จากฝ่ายตรงข้าม ด้วยการหยิบยกปัญหาการบริหารจัดการน้ำในสมัยที่ยิ่งลักษณ์เข้ามารับตำแหน่งนายกฯ หมาดๆ ในปี 2554 ทั้งเรื่องของการบริหารงานไปจนถึงการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
แน่นอนว่าทั้งปัญหาเรื่องน้ำและข้าวที่พุ่งตรงเข้ามาหายิ่งลักษณ์ เสมือนว่าเธอเป็น "เป้าโจมตี" เช่นนี้ ย่อมสร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ทั้งต่อชะตากรรมของเธอเอง ไปจนถึงสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทย ก่อนถึงวันเลือกตั้งในราวปลายปี 2560 อย่างชัดเจน
ว่ากันว่าภายในพรรคเพื่อไทยเวลานี้ "คนทำงาน" ที่ยังต่อสายตรงถึง "ทักษิณ ชินวัตร" เพื่อรับคำสั่ง ส่วนหนึ่งยังมีความมั่นใจว่าการเลือกตั้งรอบหน้า อาจเป็น "ทางออก" ที่ดีที่สุดสำหรับพรรคเพราะอย่างน้อยยังมีโอกาสชนะในสนามเลือกตั้งสูง แต่ขณะเดียวกันมีเสียงวิจารณ์กันถึงชะตากรรมของยิ่งลักษณ์ออกไปในท่วงทำนองที่เต็มไปด้วยความหวั่นไหวอย่างยิ่ง
ยิ่งเมื่อได้มองเห็นจังหวะการเคลื่อนไปข้างหน้าของกระบวนการยุติธรรมในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่รุดหน้าในจังหวะนี้ด้วยแล้วถึงกับมีเสียงรำพึงว่า"ไม่น่าจะรอด" เพราะผลพวงจากคดีเดียวได้แยกความผิดออกไปถึงสองทาง ทางหนึ่งคือคดีอาญา มีบทสรุปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ทางที่สองอยู่ที่คดีทางแพ่ง คือการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากยิ่งลักษณ์ ในฐานะฝ่ายบริหารที่ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตจนเกิดความเสียหายมูลค่ามหาศาล ซึ่งล่าสุดได้มีการเคาะตัวเลขว่ายิ่งลักษณ์ ต้องชดใช้เป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท
การต่อสู้ของยิ่งลักษณ์และทีมทนายความเวลานี้ดูเหมือนว่ากำลังเร่งดำเนินไปเพื่อสองทางเช่นกัน หนึ่งเพื่อรักษา "น้องสาวนายใหญ่" เอาไว้ให้ได้มากที่สุด และสองเพื่อรักษาพรรคเพื่อไทยไม่ให้บอบช้ำจนอ่อนเปลี้ยลงสนามเลือกตั้งไปด้วยอาการหมดสภาพ !