รศ. ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ค่ำคืนของวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ !!! ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่พักอาศัยในกรุงเทพฯ หรือชาวกทม.จะได้รู้ผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งแน่นอนว่าจะมีผู้สมหวัง ผู้ผิดหวัง และผู้ที่ไม่ทั้งสมหวังหรือผิดหวัง ... ครับ “กรุงเทพมหานคร” คือ ราชธานี หรือ เมืองหลวงของประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นบนฝั่งซ้ายหรือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเมื่อทรงสถาปนาพระบรมราชจักรีวงศ์ เมื่อปี 2325 พร้อมกับให้มีพิธียกเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2325 เวลาย่ำรุ่ง 45 นาที (06.45 น.) ปีที่ 241 เป็นต้นไป กรุงเทพมหานครในมือของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่...ยังคงมีงานหิน ๆ มากมายที่ยาก ๆ รอคอยท่านผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่...ด้วยความ มุ่งมั่น ทุ่มเท และทำตามสัญญาช่วงรณรงค์หาเสียงก่อนการเลือกตั้ง...ก็หวังว่า ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในรอบ 9 ปี จะ “ปั้น ปรับ ปลุก” สิ่งต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ให้กลายเป็นเมืองที่น่าอยู่ สะอาด ปลอดภัย และเป็นมิตรกับทุกคน การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 นับว่าเป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญของคนกรุงเทพฯ และประเทศไทย หลายฝ่ายต่างจับตามองว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ผลจะออกมาเป็นอย่างไร? “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ เฉพาะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวนทั้งสิ้น 2,522 คน (สำรวจด้วยการเก็บข้อมูลภาคสนามและออนไลน์) ระหว่างวันที่ 12-28 เมษายน 2565 พบว่า ความคิดเห็นและพฤติกรรมของคนกรุงเทพฯ ที่มีต่อการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1) คนกรุงเทพฯ คิดว่าจะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง “ผู้ว่าฯ กทม.” วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ค่อนข้างสูงถึง ร้อยละ 82.20 (หลาย ๆ คนกลัวว่า ถ้าตอบไม่ไปใช้สิทธิจะกลายเป็นคนที่ไม่รักประชาธิปไตย???) เหตุผลที่คนกรุงเทพฯ อยากออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คราวนี้สูงมาก น่าจะเป็นเพราะเป็นการเลือกตั้งในรอบเกือบ 10 ปี คน Gen ใหม่ อยากออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก แสดงความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองตามระบอบประชาธิปไตย ต้องการสะท้อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในอนาคตผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่น ฯลฯ 2) คนกรุงเทพฯ มีพฤติกรรมติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. จาก สื่อโทรทัศน์ เป็นอันดับ 1 ร้อยละ 63.56 รองลงมาคือ ป้ายโปสเตอร์ ป้ายประกาศ ป้ายหาเสียง และเพจเฟซบุ๊ก ร้อยละ 56.82 และ 30.97 ตามลำดับ เหตุผลที่คนกรุงเทพฯ ติดตามข้อมูลฯจากสื่อโทรทัศน์และป้ายหาเสียงมากกว่าเพจก น่าจะเป็นเพราะเป็นสื่อที่ คนกรุงเทพฯ ทุกช่วงวัยเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกกว่า และสื่อโทรทัศน์ทุกช่องนำเสนอข่าวและรายการเกี่ยวกับการเลือกตั้งเยอะมาก 3) คนกรุงเทพฯ มีความสนใจตัวผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.ที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองหรือผู้สมัครอิสระ เป็น อันดับ 1 ร้อยละ 56.11 และยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 14.31 เหตุผลที่คนกรุงเทพฯ สนใจผู้สมัครฯอิสระ น่าจะเป็นเพราะรัก เชื่อมั่น และชื่นชอบคุณสมบัติและความสามารถของผู้สมัครคนนั้น ๆ มากเป็นพิเศษจนมองข้ามเรื่องพรรคการเมืองที่สังกัด หรืออาจเกรงว่าพรรคการเมืองที่สังกัดจะเข้ามาครอบงำความคิดและการทำงานของผู้ว่าฯ กทม. 4) คนกรุงเทพฯ ตัดสินใจเลือกผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. โดยพิจารณาจาก นโยบายที่ดี ไม่ขายฝัน ทำได้จริง เป็นอันดับ 1 ร้อยละ 58.37 รองลงมาคือ เป็นคนขยันและตั้งใจทำงาน และมีภาพลักษณ์ นิสัย และประวัติที่ดี ร้อยละ 50.32 และ 47.18 ตามลำดับ เหตุผลที่คนกรุงเทพฯ ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. จากนโยบาย น่าจะเป็นเพราะคนกรุงเทพฯ เป็นชนชั้นกลางที่ค่อนข้างมีฐานะและความรู้ และมองเห็นผลงานการทำงานของผู้ว่าฯ กทม.ที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง จึงต้องการนโยบายที่ดีนำไปทำได้จริง และเป็นนโยบายที่ส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนกรุงเทพฯ ให้ดีขึ้น 5) คนกรุงเทพฯ คิดว่าการหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. มาก ร้อยละ 43.54 ค่อนข้างมีผล ร้อยละ 38.30 ไม่ค่อยมีผล ร้อยละ 14.16 และไม่มีผล ร้อยละ 4.00 เหตุผลที่การหาเสียงของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มีผลมากต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. น่าจะเป็นเพราะ การหาเสียงเป็น การสื่อสารให้ผู้รับสาร (คนกรุงเทพฯ) เข้าใจตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ในทุกมิติ เช่น ความคิด มุมมอง บุคลิกภาพ ฯลฯ และยิ่งการได้พบปะกันระหว่างผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.กับพี่น้องชาวกทม.เป็นการสื่อสารสองทางที่เผชิญหน้ากัน ก็ยิ่งทำให้เกิดความประทับใจ และ “อิน” ในตัวผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ง่ายมากขึ้น 6) คนกรุงเทพฯ ชื่นชอบผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ตามลำดับ ดังนี้คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 39.94 อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 14.16 สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 13.37 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ร้อยละ 10.00 ศิธา ทิวารี ร้อยละ 4.01 สกลธี ภัททิยกุล ร้อยละ 3.09 รสนา โตสิตระกูล ร้อยละ 1.94 ผู้สมัครอื่น ๆ ร้อยละ 1.47 และยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 12.02 เหตุผลที่คนกรุงเทพฯ ชื่นชอบผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทั้ง 5 ท่าน โดยที่อันดับ 1 คือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ทุกครั้งที่สำรวจโพล น่าจะเป็นเพราะผลงานที่ผ่านมาของผู้สมัครยังประทับใจพี่น้องชาวกรุงเทพฯ แต่ความสำเร็จที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นหลักประกันผลการเลือกตั้งในอนาคต การทำงานที่ต่อเนื่อง และจริงจัง และจังหวะที่ใช่คือตัวชี้อนาคตว่าใครคือตัวจริงของสนามเลือกตั้งกทม. 7) คนกรุงเทพฯ คิดว่าคะแนนนิยมจากการทำโพลสำนักต่าง ๆ ไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. ร้อยละ 64.79 และมีผล ร้อยละ 35.21 เหตุผลที่คนกรุงเทพฯ ไม่คิดว่าคะแนนนิยมผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากผลสำรวจของสำนักโพลต่าง ๆ มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม. น่าจะเป็นเพราะคนกรุงเทพฯ ตัดสินใจเลือกผู้ว่าฯ กทม.จากนโยบายที่ดี ไม่ขายฝัน ทำได้จริง และพฤติกรรมการตัดสินใจของ คนกรุงเทพฯ ชอบมาในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนวันเลือกตั้งจริง หากมีชุดข้อมูลที่อ่อนไหวส่งผลกระทบสูงต่อตัวผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ผลเลือกตั้งก็อาจพลิกผัน...เหนือเหตุผลและความจริง แต่ไม่ว่าใครจะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ของกรุงเทพฯ ก็ขอให้ท่านอุทิศตน ทุ่มเทพลังกาย และพลังใจ ทำงานเพื่อพี่น้องชาวกทม. กันอย่างจริงจังด้วยครับ...