ย่างเข้าสู่เดือนพฤษภาคมนั้น ประชาชนจะต้องเผชิญกับราคาสินค้าที่พาเหรดกันขึ้นราคา แม้ก่อนหน้านี้ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้วิงวอนและขอความร่วมมือไปยังผู้ประกอบการโดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง อย่าเพิ่งขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแก่พี่น้องประชาชนและพี่น้องผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งยังช่วยลดต้นทุนแก่นายจ้างจากวิกฤตซ้อนวิกฤตเช่นนี้ เพื่อให้เราทุกคนก้าวข้ามสถานการณ์ครั้งนี้ไปด้วยกัน เนื่องจากได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือเยียวยาและลดผลกระทบ ในส่วนของกระทรวงแรงงานได้ดำเนินการลดรายจ่ายของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นและลดต้นทุนการผลิตแก่นายจ้าง
ขณะที่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมารัฐบาลได้ออก 10 มาตรการ ประกอบด้วย 1.การเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 3.6 ล้านคน เพิ่มจาก 45 บาท เป็น 100 บาทต่อเดือน 2.ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ประมาณ 5,500 คน 3.ช่วยเหลือค่าน้ำมันผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก 157,000 คน ช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 250 บาทต่อเดือน และขอให้กรมการขนส่งทางบกกำกับราคาการให้บริการเพื่อให้มอเตอร์ไซค์รับจ้างไม่ปรับราคา
4.คงราคาขายปลีกผู้ที่ใช้ก๊าซ NGV ไว้ที่ 15.59 บาทต่อกิโลกรัม 5.ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน ซื้อก๊าซได้ในราคา 13.62 บาท/กิโลกรัม 6.ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ลดค่า FT ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย เดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 20 ล้านหลังคาเรือน 7.ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2565 หลังจากนั้น รัฐบาลจะช่วยเหลือส่วนที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นครึ่งหนึ่ง
8.กำกับดูแลการปรับราคาก๊าซหุงต้มเดือนเมษายน-มิถุนายน ใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยลดผลกระทบจากการปรับราคาไม่ให้ขึ้นสูงเกินไป 9.ลดอัตราเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างในระบบประกันสังคมมาตรา 33 จาก 5% เหลือ 1% และ 10.ลดอัตราเงินสมทบผู้ประกันตนมาตรา 39 จาก 9% เหลือ 1.9% และลดอัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนมาตรา 40 ลงเหลือ 42-180 บาทต่อเดือน
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการเพิ่มเติม แต่ก็มีเสียงเรียกร้องจากภาคเอกชน โดยเฉพาะสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ออกมาแนะให้รัฐบาลควรเดินหน้าโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไป แม้ปัจจุบันประชาชนจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น แต่ก็ยังต่ำกว่าสถานการณ์ปกติ จึงควรเร่งกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโมเมนตัมทางเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น
กระนั้น คงต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการรักษาวินัยการคลัง กับรักษาลมหายใจและเงินในกระเป๋าของพี่น้องประชาชน