ทวี สุรฤทธิกุล
22 พฤษภาคมนี้ คนกรุงจะเลือกผู้ว่าฯ ด้วยอารมณ์รัก เกลียดชัง หรือหมั่นไส้ ก็ต้องดูว่า “ใครคือผู้เลือก” และ “เขาจะออกไปเลือกกันมากไหม”
ก่อนที่จะไปวิเคราะห์อารมณ์ของคนกรุงเทพฯ ขอย้อนไปพูดถึงชัยชนะของนายสมัคร สุนทรเวช ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 ที่ชนะด้วยคะแนนถึง 1,016,096 คะแนน ซึ่งเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีคะแนนเกิน 1 ล้านคะแนนเป็นคนแรก และได้คะแนนเกือบครึ่งหนึ่งของคนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ที่มาลงคะแนนในวันนั้น 2 ล้านคนเศษ
นายสมัครนั้นเป็นนักการเมืองแบบที่เรียกว่า “ชื่อดัง” ก่อนที่จะมาลงรับสมัครรับเลือกตั้งเขาก็มีตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีมาถึง 3 รัฐบาล ตั้งแต่ในรัฐบาลของพลเอกสุจินดา คราประยูร ใน พ.ศ. 2535 รัฐบาลของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ใน พ.ศ. 2538 และรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา ใน พ.ศ. 2539 ทั้งนี้ก็เพราะพรรคประชากรไทยที่มีนายสมัครเป็นหัวหน้าพรรค ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นพรรคระดับกลางในทุกครั้ง (คือมี ส.ส. อยู่ระหว่าง 20 - 30 คน ในทุกครั้ง) โดยนายสมัครได้ชื่อว่าเป็นพวกขวาจัดและอนุรักษ์นิยม จึงเป็นที่ถูกใจของคนกรุงเทพฯในกลุ่มตั้งแต่วัยกลางคนขึ้นไป ซึ่งมีลักษณะเป็นอนุรักษ์นิยมและเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มหัวก้าวหน้า โดยคนกลุ่มนี้จะมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งตามสถิติผู้ไปใช้สิทธิจะมีจำนวนที่ไปใช้สิทธิลงคะแนนมากที่สุดในการเลือกตั้งทุกครั้ง ทำให้นายสมัครชนะเลือกตั้งในที่สุดดังกล่าว
อย่างไรก็ตามในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งต่อมา พ.ศ. 2547 นายสมัครก็ไม่ได้ลงสมัครอีก เพราะหันไปสมัครในเวทีระดับชาติดังแต่ก่อน ทำให้ครั้งนี้ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์คือนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้รับเลือกตั้ง แล้วก็ได้รับเลือกตั้งอีกครั้งใน พ.ศ. 2551 ด้วยคะแนน 9 แสนกว่าคะแนนทั้งสองครั้ง อย่างไรก็ตามนายอภิรักษ์ก็เป็นผู้ว่าในครั้งที่ 2 นี้ได้เพียงไม่ถึงปี ก็ต้องออกจากตำแหน่งเพราะโดนคดีทุจริต และต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในปี 2552 ซึ่งได้ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์อีกเช่นกันมาเป็นผู้ว่าฯ โดยได้คะแนนในระดับ 9 แสนกว่าอีกเช่นเคย จึงมีข้อสังเกตว่า กลุ่มคนที่เป็นผู้เลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครน่าจะเป็น “คนหน้าเดิม ๆ” ในทุกครั้ง นั่นก็คือกลุ่มคนวัยกลางคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นพวกอนุรักษ์นิยม และมีลักษณะเลือกกันแบบเกาะกลุ่มไปตามกระแสการเมืองในแต่ละช่วงเวลานั้น
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครอีกครั้งใน พ.ศ. 2556 ซึ่งได้คะแนนมากกว่าผู้ชนะคนใด ๆ ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาในทุกครั้ง คือได้คะแนนถึง 1,256,349 คะแนน ทั้งนี้ก็เพราะมี “กระแสส่ง” ที่แรงมาก ๆ นั่นก็คือการต่อสู้กับระบอบทักษิณ ที่พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้พยายามต่อสู้ทั้งในและนอกสภา จนเกิดพลังมวลชนที่มาร่วมต่อต้านระบอบทักษิณจำนวนมาก (ซึ่งภายหลังการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งนั้น พอถึงเดือนตุลาคม 2556 ก็มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์จำนวนหนึ่ง นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตั้งเวทีนำขบวนประชาชนออกมาต่อต้านรัฐบาลของนางยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นอมีนีของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร โดยอ้างเหตุที่พรรคพลังประชาชนของนางยิ่งลักษณ์ ได้เสนอนิรโทษกรรมให้แก่นายทักษิณและพรรคพวก ในกรณีที่เรียกว่า “นิรโทษกรรมสุดซอย”) ซึ่งได้ส่งผลให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า 2 แสนคะแนน โดยเชื่อกันว่าเป็นคะแนนที่เกิดจากกระแสต่อต้านระบอบทักษิณในการเมืองระดับชาตินั้นนั่นเอง
ถ้าจะจัดลำดับความสำคัญของ “ปัจจัย” ที่ส่งผลต่อการชนะเลือกตั้ง จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ได้ศึกษามาตลอด 37 ปีนี้ (ตั้งแต่ พ.ศ. 2528) ขอจัดลำดับเรียงกันไปจาก “สำคัญมาก” “จนถึง “สำคัญบ้าง” ดังต่อไปนี้
ปัจจัยที่สำคัญอันดับ 1 คือ “ตัวผู้สมัคร” ที่จะต้องมีคุณสมบัติที่ “โดดเด่น” เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ก็คือ หนึ่ง ต้องเป็นคนสำคัญและมีผลงานหรือตำแหน่งในระดับชาติมาก่อน สอง ต้องมีบุคลิกภาพที่โดดเด่น เช่น เป็นคนมีศีลรรม (มหาจำลอง ศรีเมือง) เป็นคนมีความมุ่งมั่นจริงใจ (นายพิจิตต รัตตกุล) เป็นคนที่อาจจะไม่ดีในสายตาคนบางกลุ่ม แต่เป็นที่ถูกใจของกลุ่มคนที่ชอบไปเลือกตั้ง (นายสมัคร สุนทรเวช) เป็นต้น และสาม เป็นคนที่ “ดูดี” ในกระแสการเมืองยุคใหม่ เช่น นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน และม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นต้น
อันดับที่ 2 “กระแสการเมืองระดับชาติ” เป็นแรงส่ง เช่น มหาจำลองกับพลังของความเป็นลูกป๋า (พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) ที่คนเบื่อนักการเมืองน้ำเน่า หรือกรณีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ที่คนกรุงเทพฯต่อต้านระบอบทักษิณ เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีบรรยากาศของความเป็นเผด็จการและประชาธิปไตยเป็นแรงขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย ซึ่งในเวลาที่คนเบื่อทหารก็จะหันไปเลือกผู้สมัครในกลุ่มหรือพรรคที่ต่อต้านเผด็จการทหาร และในทางตรงกันข้ามถ้านักการเมืองในระดับชาติมีการทุจริตโกงกิน คนกรุงเทพฯก็มักจะมองไปที่ผู้สมัครที่มีความเป็นกลาง ไม่สังกัดพรรค หรือเป็นผู้สมัครอิสระ
อันดับสุดท้าย ก็คือ “อารมณ์ของผู้คน” ซึ่งก็คือความรู้สึกนึกคิดของคนที่จะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ที่ว่าจะรักหรือเกลียดใคร รวมทั้งที่ไม่ได้รักไม่ได้เกลียด หรือที่เลือกด้วยความหมั่นไส้ แบบปิ้งปลาประชดแมว (เช่น กรณีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นต้น) ทั้งก็ด้วยกระแสการเมืองในระดับชาตินั้นเป็นสำคัญ รวมถึง “กลุ่มอายุ” ของคนที่จะไปเลือกตั้ง ซึ่งมีผลต่อคะแนนที่อออกมาในตอนท้าย ๆ ว่าอาจจะพลิกผันได้เสมอ (อย่างกรณีของมหาจำลองที่ถูกด้อยค่าว่าเป็น “สินค้าแบกะดิน”)
สัปดาห์หน้าจะมาอธิบายชัด ๆ ว่า “ใครคือผู้ที่จะไปเลือกผู้ว่าฯในครั้งนี้” ซึ่งน่าจะแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ รวมถึงจำนวนของคนที่จะออกไปเลือก ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนในจำนวน(โดยประมาณ)มากน้อยเพียงไร