จากการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากรที่เป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่ลดลงและอัตราการมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Ageing Society) มาตั้งแต่ปี 2548 ส่งผลให้สวัสดิการในการดูแลประชาชนกลุ่มผู้สูงวัยมีความสำคัญมากขึ้น จนเป็นที่มาของแนวคิดบำนาญประชาชนในขณะนี้ ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังระบุว่าในปี 2564 ประเทศไทยมีประชากรรวม 66.7 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุประมาณ 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็น19% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าจะมีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปคิดเป็น 28% ของประชากรทั้งประเทศในปี 2576 ซึ่งคาดว่ารายจ่ายสวัสดิการผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยงบประมาณอาจเพิ่มสูงขึ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท เมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในระดับสุดยอดในปี 2576 แม้ว่าจะมีความพยายามเตรียมการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยมาตลอดและรัฐบาลทั้งปัจจุบันและอดีตต่างก็ออกมาตรการต่างๆ ทั้งด้านภาษีและการออม โดยรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณอย่างมหาศาลเพื่อจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและงบประมาณส่วนนี้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนเป็นปัจจัยเสี่ยงทางการคลัง แต่ทว่ามาตรการเหล่านั้นดูจะยังไม่เพียงพอต่อการรองรับสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ จนเป็นที่มาของการเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ โดยมีการเสนอร่าง พ.ร.บ ผู้สูงอายุ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... โดยคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร เพื่อเพิ่มอัตราเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “บำนาญพื้นฐาน” อย่างก้าวกระโดดจากอัตราในปัจจุบัน โดยการดึงเม็ดเงินเพิ่มเติมมาสนับสนุนกองทุนผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้การรับรองของนายกรัฐมนตรีเนื่องจากเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเงิน โดยมีกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นเจ้าภาพหลัก แม้ว่าในหลักการแล้วสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่รัฐไม่อาจละเลยได้ แต่ด้วยภาระทางการคลังของประเทศ การจัดเก็บรายได้ภาษีที่ลดลง รายจ่ายและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากโรคระบาดไวรัสโคโรนา ดังนั้นการพิจารณานโยบายบำนาญพื้นฐานและสวัสดิการประชาชนต้องทำด้วยความระมัดระวังและรอบคอบโดยต้องคำนึงถึงความเสี่ยงทางการคลังที่จะเกิดขึ้นในระยะยาวด้วย นอกจากนี้วิธีการหารายได้และจัดสรรงบประมาณมาสนับสนุนสวัสดิการดังกล่าว ควรเป็นไปตามระบบรายจ่ายงบประมาณแผ่นดินโดยมองภาพรวมของการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินที่มีกระบวนการตรวจสอบโดยรัฐสภาและวางแผนระยะยาว ไม่ควรสร้างภาระเพิ่มเติมให้ภาคส่วนอื่นเพียงเพื่อสนับสนุนสวัสดิการผู้สูงอายุแต่เพียงอย่างเดียวเป็นการเฉพาะ อย่างที่มีการเสนอให้เก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หรือรถยนต์ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กองทุนผู้สูงอายุ ซึ่งอาจกระทบต่อการบริโภคและรายได้ของประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงหลักวินัยทางการคลังประกอบด้วย ขณะเดียวกัน รัฐควรเดินหน้ากระตุ้นการออมภาคประชาชนมากขึ้น แม้ว่าการส่งเสริมการออมสำหรับวัยเกษียณในอนาคตจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่เป็นนโยบายที่จะสร้างวินัยให้กับประชาชนในระยะยาวโดยไม่พึ่งพาภาครัฐและงบประมาณแผ่นดินจนมากเกินไปเพื่อที่รัฐบาลและรัฐสภาจะได้สามารถจัดสรรงบประมาณไปสนับสนุน พัฒนาในส่วนอื่นๆ ที่สำคัญได้เช่นกัน รัฐบาลจึงต้องเร่งสร้างความเข้าใจและให้ความรู้เรื่องการออมการเงินตั้งแต่ในระบบการศึกษา เมื่อประชากรเหล่านี้เข้าสู่ภาคแรงงานแล้วจะได้มีหลักประกันและความมั่นคงทางการเงินเมื่อเข้าสู่ภาวะสูงวัยได้โดยไม่เป็นภาระต่อใคร