ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กังวลกรณีการฉีดวัคซีนในเด็กในเข็ม 2 ที่มีอัตราเพียง 1.9% ยังถือว่าต่ำ และพบว่ามีเด็กป่วยและเสียชีวิตถึงแม้ไม่มากก็ตาม ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ยืนยันจะไม่เลื่อนเปิดภาคเรียนออกไป โดยจะเปิดตามปฏิทินเดิม คือวันที่ 17 พฤษภาคม โดยขอให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนรูปแบบออนไซต์เป็นหลัก พร้อมคงมาตรการ 6-6-7 ตามที่กระทรวงสาธารณสุข กำหนด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ในขณะเดียวกันก็ให้โรงเรียนเตรียมการเรียนการสอนรูปแบบอื่นๆ เพื่อรองรับสถานการณ์วิกฤติ หรือสถานการณ์จำเป็นต่างๆ ด้วย ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค อนุกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และรักษาการรองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ได้วิเคราะห์เทรนด์การศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 รวมถึงทิศทางการศึกษาในปีนี้ที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคต โดยเปิดเผยว่า ประเด็นที่น่าสนใจของแวดวงการศึกษาหลังจากสถานการณ์คลี่คลายคือ การเยียวยาสุขภาพจิตใจของเด็กและการฟื้นฟูความรู้ถดถอยที่เกิดในช่วงโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ที่วงการศึกษาทั่วโลกต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับโจทย์ในครั้งนี้ สำหรับประเทศไทยในช่วงปี 2563-2564 ที่ผ่านมาผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทยโดยกรมสุขภาพจิตพบว่า ร้อยละ 28 มีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้าร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย สะท้อนให้เห็นว่าเด็กไทยจำนวนมากกำลังเผชิญกับความเครียดความกังวลและภาวะซึมเศร้าอย่างต่อเนื่องเพราะฉะนั้นการสำรวจสภาพจิตใจของเด็กอยู่เสมอและการเยียวยาสุขภาพจิตใจของเด็กจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการจัดหานักจิตวิทยาโรงเรียนเพื่อคอยช่วยเหลือเด็กๆ ซึ่งประเทศไทยถือว่ายังมีจำนวนไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับสัดส่วนของนักเรียน กระนั้น จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ปี 2565 เห็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในการฟื้นฟูและเยียวยาเด็ก ให้มีความพร้อมกับสู่โรงเรียน ทั้งทางด้านจิตใจ และความรู้ ด้วยสถานการณ์วิกฤติที่ผ่านมา ทำให้ต้องสูญเสียไปอย่างประเมิณมูลค่าไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องเร่งทุ่มทั้งงบประมาณและสรรพกำลัง เพื่อก็วิกฤติดังกล่าว เพราะพื้นฐานของการพัฒนาคน คือเป้าหมายในการพัฒนาชาติ