ปัญหาการคุกคตามทางเพศ เป็นปัญหาใหญ่ของโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ดังกรณีที่กลายเป็นกระแสไปทั่วโลกราวปี 2561 จากข่าวที่โปรดิวเซอร์คนดังของฮอลลีวู้ด ล่วงละเมิดดาราสาวหลาย ที่มีดาวดังระดับซูเปอร์สตาร์ตกเป็นเหยื่อด้วย จนเกิดเป็นการแสดงพลังต่อต้านการละเมิดทางเพศบนเวทีลูกโลกทองคำปี
และก่อนหน้านั้นที่ฉาวกระหึ่มโลก ก็คือ กรณีของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่คู่กรณีเป็นนักศึกษาฝึกงานทำเนียบขาว
ในประเทศไทยเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นในทุกวงการ แม้แต่ในแวดวงสื่อสารมวลชนเอง และเกิดกับทุกเพศทุกวัย กรณีล่าสุดที่เป็นข่าวฮือฮาคือ อดีตรองหัวหน้าพรรคการเมืองใหญ่ ที่ถูกดำเนินคดีล่วงละเมิดทางเพศ โดยมีเหยื่อออกมาแจ้งความหลายราย
รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายแพ่ง/ศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้คำนิยามของคำว่าคุกคามทางเพศเอาไว้ ในงานเสวนาวิชาการเรื่อง “ปัญหาโลก (ออนไลน์) แตก การคุกคามทางเพศบนโซเชียลมีเดีย” (www.tu.ac.th) ระบุตอนหนึ่งว่า”การคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment)” สามารถแยกคำได้เป็น 2 คำ คือ (1) คุกคาม กับ (2) ทางเพศ การคุกคามเป็นคำที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพในตัวบุคคล เมื่อใดก็ตามที่มีคนทำให้เรารู้สึกสูญเสียสิทธิและเสรีภาพ ก็ถือว่าเป็นการคุกคาม เมื่อนำมาประกอบกับคำว่าทางเพศ จึงแปลความได้ว่า การกระทำที่ทำให้รู้สึกถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในทางเพศ ซึ่งเดิมการคุกคามทางเพศคือการกระทำต่อสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นในพฤติกรรมทางเพศที่เขาแสดงออกหรือทำอย่างไม่เหมาะสมเท่านั้น แต่ปัจจุบันการคุกคามทางเพศหมายความรวมถึงการคุกคามในเรื่องเพศสภาพด้วย ทั้งนี้ ในทางกฎหมายไม่มีนิยามของการคุกคามทางเพศที่แน่ชัด แต่สามารถบอกได้ว่าเป็นเรื่องที่ตั้งอยู่บนหลักของการกระทำละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพทางเพศที่วิญญูชนทั่วไปพึงรู้สึกได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม”
ทั้งนี้ การคุกคามทางเพศอาจนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศได้ ดังนั้น เมื่อถูกคุกคามทางเพศต้องแสดงออกทันทีว่าไม่พอใจและถอยห่างจากบุคคลดังกล่าว ตั้งสติและบันทึกหลักฐานด้วยช่องทางต่างๆ เพื่อแจ้งปัญหากับผู้เกี่ยวข้อง
การออกมาเปิดโปงการถูกคุกคามทางเพศออกมาสู่สังคมให้รับทราบ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข ตักเตือนกระทั่งนำไปสู่บทลงโทษ เป็นการช่วยยกระดับสังคม