จากกรณีที่นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2565 ถึงสถานการณ์ของโรคโควิด 19 ว่า จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด 19 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามยอดการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า การเสียชีวิต 125 ราย (16 เมษายน) มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเสียชีวิตที่สำคัญคือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 608 จำนวน 117 ราย คิดเป็นร้อยละ 93.6 หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์จำนวน 118 ราย คิดเป็นร้อยละ 94.4 จึงขอแนะนำว่าหากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว และหญิงตั้งครรภ์ หรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ เมื่อมีอาการให้รีบติดต่อสถานพยาบาลทันที เพื่อให้เข้าถึงการรักษาได้เร็วและเหมาะสม เพื่อลดอัตราการเสียชีวิต พร้อมย้ำว่าจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ากลุ่มเสี่ยงควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อลดการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการรณงค์ให้ผู้สูงอายุฉีดวัคซีนก่อนพบลูกหลานในช่วงเทศกาลวันหยึดยาวสงกรานต์ที่ผ่านมา โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดบริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านรองรับ โดยส่งวัคซีนไปถึงระดับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่ออำนวยความสะดวกในการมารับวัคซีนใกล้บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเข็มแรกอีกกว่า 2.1 ล้านคน และการรับวัคซีนเข็ม 3 ในประชาชนทั่วไป เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกันลดการติดเชื้อมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ที่มีการคาดการณ์ว่า อาจมีการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นระดับ 5 หมื่น – 1 แสนรายต่อวัน กระนั้น จากข้อมูลรายงานการฉีดวัคซีนโควิด-19 รายวันของ ศบค. ตั้งแต่วันที่ 11-15 เม.ย. พบว่าประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนลดน้อยลงเรื่อยๆ ดังนี้ วันที่ 11 เม.ย. ฉีดวัคซีน 44,671 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 8,373 โดส เข็มสอง 11,171 โดส และเข็มสามขึ้นไป 25,127 โดส, วันที่ 12 เม.ย. ฉีดวัคซีนเพิ่มเป็น 122,962 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 25,036 โดส เข็มสอง 24,875 โดส และเข็มสามขึ้นไป 73,051 โดส โดยมีการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ฝาสีเทาไปในพื้นที่กว่า 3 ล้านโดส สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุไม่ได้รับวัคซีน คือ 1.เดินทางลำบาก 2.กลัวผลข้างเคียงจากวัคซีน และ 3.ลังเลการฉีดกระตุ้น ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทยโพสต์เฟซบุ๊ก คาดการณ์ว่า หลังสงกรานต์เคสเพิ่มขึ้นแน่ๆ น่าจะยุ่งจนถึงปลาย พ.ค. แม้จะมีนักวิชาการ ออกมาระบุว่าโควิดไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง แต่สถานการณ์ก็ยังไม่น่าไว้วางใจ