รศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
ผู้นำวันนี้ต้องเผชิญกับความท้าทาย ความซับซ้อน ความคลุมเครือ และหาความชัวร์ไม่ได้เอาเลย...
หากไม่ถอดใจไปเสียก่อน!!! ... ก็จะมีพื้นที่ให้โลดเล่นต่อไป ...
แล้วผู้นำจะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับตนเองอย่างไร? เพื่อไม่ให้ถอดใจจากวงล้อใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงทุกนาที...
เพื่อที่จะเป็นผู้นำตนเองและผู้อื่นด้วยในช่วงเวลาแห่งความสับสนและซับซ้อนให้มีประสิทธิภาพ ผู้นำ
ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำตนเองก่อน แม้ว่าผู้นำแต่ละคนจะตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่ยุ่งยากเหมือนกัน แต่จะมีเพียงผู้นำบางคนที่รอดมาได้เท่านั้น ซึ่ง Rebecca Zucker และ Darin Rowell นำเสนอกลยุทธ์ 6 ประการไว้ในนิตยสาร Harvard Business Review ว่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยเร่งยกระดับความสามารถของผู้นำให้ผ่านนาทีแห่งความยุ่งยาก ที่ต้องฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนา และนำทางตนเองอย่างต่อเนื่อง
กลยุทธ์ที่ 1 ยอมรับในสิ่งที่ตนเองไม่รู้มาก่อน แม้จะรู้สึกไม่สบายใจ (Embrace the Discomfort of Not Knowing) การยอมรับเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำตนเองให้กล้าและพร้อมก้าวเดินออกจากปมยุ่งยากหรือสิ่งท้าทาย
กลยุทธ์ที่ 2 แยกแยะระหว่างความซับซ้อนที่หาทางออกได้จากผู้รู้ ‘Complicated’ กับความซับซ้อนที่คาดเดาหาคำตอบยาก ‘Complex’ (Distinguish Between Complicated and Complex) เช่น ความซับซ้อนเกี่ยวกับกฎหมายภาษี หาคำตอบได้จากนักกฎหมาย แต่ความซับซ้อนเกี่ยวกับสงคราม หรือภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดหรือจบอย่างไร
กลยุทธ์ที่ 3 ละทิ้งความสมบูรณ์แบบ (Let Go of Perfectionism) เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไว
ผันผวน คลุมเครือ และคาดเดายาก เมื่อนั้นผู้นำต้องไม่คาดหวังว่าทุกอย่างที่ปฏิบัติจะต้องสมบูรณ์แบบ
กลยุทธ์ที่ 4 ไม่ยึดเอาสิ่งที่ง่ายหรือด่วนรับข้อสรุปที่เร็วเกินไป (Resist Oversimplifications and Quick Conclusions) การคิดเร็วและรับข้อคิดนั้นอย่างรวดเร็วเกินไปอาจทำให้มองข้ามหรือพลาดในจุดบกพร่องที่สำคัญไปได้ การคิดทบทวนและไม่ด่วนสรุปจนเกินไปจะช่วยให้ผลลัพธ์สุดท้ายสำเร็จโดย “รั่วน้อยที่สุด”
กลยุทธ์ที่ 5 อย่าทำงานตามลำพังคนเดียว (Don’t Go It Alone) การทำงานร่วมกับผู้อื่นจะช่วย
จุดประเด็นหรือประกายความคิดใหม่ และยังทำให้ความคิดเฉียบคมขึ้น ซึ่งดีกว่าการคลำหาทางออกโดยลำพัง
กลยุทธ์ที่ 6 ออกจากจุดที่ท้าทายหรือเป็นปัญหาบ้าง (Zoom Out) เมื่อประสบกับปัญหาที่หนักหน่วง ผู้นำต้องดึงตัวเองหรือพาตัวเองออกจากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์บ้าง เพื่อพักสมองและเมื่อกลับมาใหม่จะทำให้พบทางแก้ไขที่สดใสกว่า
ผู้นำที่สามารถบริหารจัดการให้เกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงหรือความเสียหายจากเหตุการณ์ลดลงได้ในระดับที่ผู้อื่นยอมรับได้เป็นความท้าทายสิ่งหนึ่งของผู้นำ แต่ใช่ว่าผู้นำทุกคนจะเกิดมาพร้อมกับความสามารถในการเป็นผู้นำที่ติดตัวมาแต่กำเนิด “พรสวรรค์” ผู้นำบางคนเป็นผู้นำที่พัฒนาตนเองขึ้นมา “พรแสวง” ผู้นำบางคนก็มาจากสถานการณ์ชักพาไป เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะเป็นผู้นำขึ้นมาได้อย่างไร ผู้นำที่ดีจะต้องเลือกใช้สไตล์การนำให้เหมาะกับแต่ละสถานการณ์
การศึกษาเรียนรู้ทฤษฎีภาวะผู้นำเป็นช่องทางหนึ่งในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำที่ทรงประสิทธิภาพและอิทธิพลและสามารถนำอย่างมีสไตล์ตามแต่สถานการณ์ สำหรับแนวทางการนำทฤษฎีภาวะผู้นำลงสู่การปฏิบัติของผู้นำ ประกอบด้วย
1. ศึกษาค้นคว้าทฤษฎีภาวะผู้นำ เพื่อค้นหาความรู้และพฤติกรรมเกี่ยวกับรูปแบบการเป็นผู้นำ
2. วิเคราะห์สภาพแวดล้อม เพื่อให้ทราบถึงกิจกรรมที่คนทำ รวมถึงบริบทขององค์กร
3. พิจารณาประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของ “คน” เพื่อแยกคนที่ต้องการให้นำทางมากกับน้อย
4. พิจารณาขอบเขตและความเร็วที่ต้องปรับตัว เพื่อสร้างความสำเร็จและความอยู่รอดที่คงทน
5. เลือกทฤษฎีที่ “ใช่” ไปสู่การปฏิบัติ โดยคำนึงถึงคน องค์กร และตัวผู้นำเอง
สำหรับผู้นำทุกคนในวันนี้...ท่านอยากเป็นผู้นำแบบไหน “ผู้นำที่สำเร็จ” หรือ “ผู้นำที่ล้มเหลว” ขึ้นอยู่กับท่านเลือกและลงมือปฏิบัติครับ...